ที่มา มติชน
อย่าคิดว่า สงคราม "น้ำลาย" ระหว่างขุนพลนักพูดพรรคประชาธิปัตย์กับขุนพลนักพูดพรรคเพื่อไทยจะเป็นเรื่องสูญเปล่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง การเปิด ปิด "เขื่อน"
แม้ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ทำท่าจะโกโซบิกถึงระดับ "ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปรามสื่อในเครือข่ายที่เจตนาใช้ชื่อ 2 เขื่อนใหญ่ของประเทศกระทบถึงสถาบันเบื้องสูงให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว"
แต่เมื่อประมวล "มวล" แห่งน้ำลายที่ทั้ง 2 ฝ่ายสาดซัดเข้าใส่กัน ก็พอจะมองเห็นประโยชน์
อย่างน้อยก็ทำให้ค้นพบ "มูลเชื้อ" 1 อันเป็นรากที่มาของ "มหาอุทกภัย"
นั่นก็คือ ปริมาณหรือ "มวลน้ำ" อันดำรงอยู่ภายในเขื่อนยักษ์ระหว่างรอยต่อของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นั่นก็คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคม กับ เดือนสิงหาคม 2554
ถึงแม้ข้อมูลอันมาจากขุนพลนักพูดพรรค ประชาธิปัตย์ กับข้อมูลอันมาจากขุนพลนักพูดพรรคเพื่อไทย จะแตกต่างกันในด้านการตีความ แต่ "ฐาน" ข้อมูลนั้นตรงกัน
นั่นก็คือ ฐานอันเกี่ยวกับ "มวลน้ำ" ใน "เขื่อน"
คล้ายกับประเด็นของการถกเถียงจะเริ่มจาก นพ.เหวง โตจิราการ ตั้งข้อสังเกตถึงการกักเก็บน้ำในเขื่อนห้วงระหว่างเดือนกรกฎาคม
แต่จุดอันเป็นชนวนระเบิดอย่างแท้จริงน่าจะมาจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรารภ
"หลังจากที่เราจบเรื่องน้ำท่วมก็จะต้องมาถกในข้อเท็จจริงเรื่องการปล่อยน้ำหรือการเก็บน้ำเอาไว้และเตรียมหนทางแก้ไขและป้องกันต่อไป"
นั่นแหละที่ผลักรุนให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ต้องออกมาโต้
โต้ว่า ในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ในระดับ 55 เปอร์เซ็นต์ และระบายน้ำตามปกติ คือ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่หลังจากวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มีการเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 9 พันล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 66 เปอร์เซ็นต์ของความจุเขื่อน
ต่อ มามีพายุเข้าและฝนตกมากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงขึ้น ตามหลักบริหารน้ำรัฐบาลต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อนโดยเร็ว แต่เป็นเพราะรัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกรงว่าหากปล่อยน้ำแล้วจะกระทบ การทำนาจนไม่มีผลผลิตไปจำนำ จึงไม่มีการระบายน้ำตามหลักการบริหารน้ำเหนือเขื่อน
คำถามที่ขุนพลนักพูดพรรคเพื่อไทยสวนกลับก็คือ วันที่ 10 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้วหรือ
ในเมื่อตามรัฐธรรมนูญสามารถบริหารได้เมื่อแถลงนโยบายผ่านรัฐสภาเท่านั้น
กระนั้น ความเป็นจริงอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายค้านก็คือ จังหวะแห่งการระบายน้ำออกจากเขื่อนคือสาเหตุสำคัญอันทำให้อุทกภัยครั้งนี้ บานปลาย
บานปลายจนยากแก่การควบคุม
ที่สาดสีใส่ไข่เข้าหากันและมองเห็นว่าเป็นเรื่องการกล่าวหา ซึ่งคล้ายกับจะไร้ประโยชน์แต่หากพิจารณาอย่างแท้จริงกลับเป็นมีประโยชน์
ประโยชน์ 1 คือ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องร่วมมือกันในการหาข้อเท็จจริง
ข้อ เท็จจริงในที่นี้ก็คือ คณะกรรมการซึ่งรับผิดชอบในการเปิดและปิดเขื่อนในห้วง ระหว่างเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม สิงหาคม ตุลาคม อันประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นั้นมีมติอย่างไร
เป็นมติตามคำสั่งของใคร เป็นมติโดยเอกเทศของคณะกรรมการ หรือว่ามีคำสั่งมาจากรัฐบาล
เรื่องนี้ไม่น่าจะลำบากยากเย็นจนเกินไป
ที่ว่าไม่น่าจะลำบากยากเย็นเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเป็นคนเดิม
นั่นก็คือ นายธีระ วงศ์สมุทร
ในฐานะรัฐบาล ในฐานะนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะเป็นฝ่ายริเริ่มเรื่องนี้
เป็น การริเริ่มโดยจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและความเป็นจริง โดยมีบุคคลที่น่าเชื่อถือทางสังคมมาเป็นประธาน และมีกรรมการจากทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชาการ
ตรงนี้แหละจะเป็นจุดเริ่มต้นและบาทก้าวสำคัญในหลักไมล์แห่ง นิว ไทยแลนด์ ที่แท้จริง