WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, November 7, 2011

ร้ายสไตล์กับรุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์: เพียงเพราะความเป็น“ผู้หญิง” อย่างนั้นหรือ ?

ที่มา ประชาไท

การทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและหลากหลาย ไม่เพียงแค่สื่อมวลชน นักข่าว หรือบรรดาคอลัมนิสต์ แต่ประชาชน บุคคลธรรมดาทั่วไป ก็ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะในพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ตอนนี้นับเป็นพื้นที่และช่องทางหลักในการสื่อสารเรื่องน้ำท่วม ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ แจ้งเตือน การสะท้อนปัญหา รวมถึงการด่าทอ สาดโคลน สารพัดรูปแบบ
หลังจากบรรดาสารพัดภาพข่าว ภาพตัดต่อ แบนเนอร์ คำคม คำขวัญ ทั้งหลายออกมาอาละวาดได้พักใหญ่ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีคำวิพากษ์วิจารณ์สองชิ้นที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่ หลาย คือข้อเขียนของอดีตนักร้องนักแสดงสาว เอิน กัลยากร และเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ ทั้งสองใช้วิธีการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก

โดยเอิน กัลยากร เขียนเป็นบทความขนาดยาว โดยใช้ชื่อบทความว่า “จากผู้หญิง (ธรรมดา) ถึงผู้หญิง (ที่เป็นนายก)” ส่วนเอกยุทธ อัญชันบุตรนั้น โพสต์เป็นข้อความเพียงสามบรรทัด (เฟซบุ๊ก) ก่อนจะกลายเป็นเรื่องเป็นราวมีการโพสต์ตอบโต้กันยืดยาว ด้วยเพราะความล่อแหลม หยาบคายในเชิงดูหมิ่นในประเด็นที่โพสต์ แต่ประเด็นที่ทั้งสองคนมีร่วมกันก็คือมุ่งไปที่ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อันที่จริงแล้วทั้งสอง ‘โพสต์’ ของทั้งสองคนั้น ไม่มีสิ่งที่จะพอเรียกได้ว่า ‘วิพากษ์วิจารณ์’ เพราะไม่มีการพูดถึงประเด็นข้อบกพร่องการทำงานอย่างจะแจ้ง (ทั้งข้อท้วงติง หรือข้อเสนอ) หรือเนื้อหาสาระที่พอจะบอกได้ว่าเป็นตรรกะ เหตุผล แต่ประการใด ทั้งสองคนและสองเนื้อหา ไม่ได้มุ่งตรงไปยัง ‘การทำงาน’ ของนายกรัฐมนตรี แต่กลับมุ่งตรงไปที่ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ที่ถูกนำมาตั้งเป็น ‘โจทย์’ ในการวิพากษ์วิจาณ์ครั้งนี้ ทำให้ดูเหมือนกับว่าความผิดพลาดในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้ผิดพลาดที่ ‘การทำงาน’ แต่ดันผิดพลาดที่ นายกรัฐมนตรีเป็น ‘ผู้หญิง’

โดยในส่วนของเอกยุทธนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็น Hate Speech ด้วยถ้อยคำดูหมิ่นอย่างจะแจ้ง และร้ายแรง กับการเปรียบเทียบผู้หญิงเหนือที่เขาเหมารวมว่าไม่มีสมองและทำงานได้แค่ อาชีพหญิงบริการเท่านั้น ด้วยความที่มันเป็น Hate Speech ที่หยาบคาย มีนัยในการดูหมิ่นใน ‘ภาพรวม’ ไร้ตรรกะ เหตุผล ด้วยตัวของมันเอง จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านด้วยธรรมชาติของ Hate Speech ในลักษณะนี้ และเราก็คงไม่จำเป็นต้องไปพินิจพิเคราะห์ ให้ความสนใจอะไรมากมาย กับตัวข้อความที่แม้จะมุ่งทำลาย ‘ภาพรวม’ ของผู้หญิงเหนือ แต่ด้วยความไร้ตรรกะ เหตุผล ดูหมิ่นหยาบคายและรุนแรงของข้อความนั้นเอง ก็เป็นดาบสองคมที่ดึงกลับไปทิ่มแทงยังผู้เขียนเอง ว่าไร้ซึ่งปัญญาในการคิด พินิจพิจารณา และตัวข้อความนั้นก็ไร้น้ำหนัก ความน่าเชื่อถือด้วยตัวของมันเอง

ในทางกลับกัน ความน่าสนใจ (ของดิฉัน) กลับอยู่ที่ ‘บทความ’ ของเอิน กัลยากร ที่มานิ่มๆ ติ๋มๆ ใสๆ อีกทั้งยังแสดงออกในชื่อบทความว่า นี่เป็นทัศนะจากมุมองของผู้หญิง (ธรรมดา) คนหนึ่ง ถึงผู้หญิงที่มีตำแหน่งใหญ่โตในการบริหารประเทศอย่างนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองของ ‘ผู้หญิง’ ถึง ‘ผู้หญิง’ และประเด็น ‘ความเป็นผู้หญิง’ และที่สำคัญในความซอฟต์ใส นิ่มๆ ติ๋มๆ ของคำว่า ‘ผู้หญิง’ นั้น อาจทำให้หลายคนหลงลืมไปว่าประเด็นที่เอิน กัลยากร หยิบยกขึ้นมาเป็น ‘โจทย์’ ในการวิพากษ์ วิจารณ์ นายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ก็คือ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ที่ไม่ ‘ต่าง’ อะไรกับเอกยุทธ อัญชันบุตร เลยแม้แต่น้อย หากจะแตกต่างก็แตกต่างเพียงแค่ความรุนแรงในการเปรียบเทียบที่ใช้ แต่หากมองดีๆ แล้ว ระดับความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์นั้นกลับไม่ต่างกัน

แต่ปฏิกิริยาตอบโต้จากสังคมนั้น กลับต่างกันโดยสิ้นเชิงซึ่งดูเหมือนว่า บทความของเอิน กัลยากร จะได้รับทั้งความนิยม (จากการแชร์ต่อด้วยทัศนะที่เห็นชอบ) และความชื่นชอบ เห็นด้วยเป็นปี่เป็นขลุ่ยของสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีเพียงบทความเพียงบทความเดียว (เท่าที่ดิฉันเห็น) เท่านั้นที่ออกมาเขียนตอบโต้บทความของเอิน กัลยากร ซึ่งจากจุดนี้เอง ที่ดิฉันเห็นว่ามันเป็น ‘อันตราย’ หากเราจะมองเพียงแค่ความรุนแรง หรือไม่รุนแรงผ่าน ‘ประโยคหรือถ้อยคำ’ เพียงเท่านั้น แต่กลับเพิกเฉย (รวมถึงเห็นดีเห็นงาน เห็นด้วย ยินดี) ความรุนแรง (ในระดับเดียวกัน) ที่มาในรูปแบบซอฟต์ใส สวยงามในนามของ ซอฟต์ใสสปีช (Soft Sai Speech) ซึ่งที่จริงแล้ว มันคือความรุนแรงอันแยบคายที่ผู้หญิงกระทำต่อผู้หญิง (ด้วยกัน)

เริ่มต้นบทความ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้กล่าวว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ไม่ถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ดังที่เธอกล่าวว่า

“ส่วนตัวไม่ถือ ว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกหญิงคนแรก เหตุเพราะคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับการเลือกตั้งเพราะความสามารถของเธอเอง แต่เป็นเพราะคนต้องการผู้ชายที่อยู่เบื้องหลังเธอต่างหาก ประชาชนที่เลือกเธอ ไม่ใช่เพราะชื่อ "ยิ่งลักษณ์" แต่เป็นเพราะนามสกุล "ชินวัตร" ที่เป็นสิ่งการันตีว่าเธอคนนี้คือ "สายตรง" ดังนั้นเราจะนับว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกไม่ได้

เราจะมีนายก รัฐมนตรีหญิงคนแรกจริงๆ ก็ต่อเมื่อ เธอคนนั้นต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยตัวเอง และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า "ผู้หญิงคนนี้มีความสามารถที่จะเป็นผู้นำประเทศได้เท่านั้น”

คำอธิบายเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายที่พบได้ดาษดื่น ในกลุ่มคนที่ไม่ชื่นชอบพรรคไทยรักไทย ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ไม่เข้าใจระบบการเมืองการปกครอง ‘ในระบอบประชาธิปไตย’ เลย ซึ่งขัดแย้งจากที่เธอทิ้งท้ายอ้างไว้ว่า

“พูดในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถวิจารณ์ฝ่ายการเมืองได้”

ซึ่งจะว่าไปแล้ว นี่เป็นทัศนะที่เป็น ‘ส่วนตัว’ โดยแท้ และขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย (กรุณาดูรัฐธรรมนูญ อันว่าด้วยการเลือกตั้งและการเป็นนายกรัฐมนตรีประกอบ) ประกอบกับข้อเท็จจริงโดยสภาพที่ว่าเธอเป็น ‘ผู้หญิง’ โดยกำเนิด เพราะฉะนั้นหาก ‘ผู้หญิงธรรมดา’ อย่างคุณเอิน กัลยากร จะวิจารณ์ภายใต้ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ ก็ควรจะกำหนดกรอบคุณสมบัติของการเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบ ประชาธิปไตย จึงถือว่าเป็นการวิจารณ์ที่มีตรรกะและเหตุผลภายใต้ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ และถือเป็นผู้ที่มีการศึกษาภายใต้สังคมประชาธิปไตย

ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นตัดสินกันด้วย ‘การเลือก’ ของประชาชน และไม่ว่าเขาจะเลือกด้วย ‘เหตุผลกลใด’ มันก็ไม่ต่างกันกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เลือกนายกฯ คนนี้ หรือพรรคๆ นี้ แต่เลือกคนอื่น พรรคอื่น (ไม่ว่าคนไหนหรือพรรคไหน) เพราะประชาชนอีกกลุ่มนั้นก็เลือกด้วยเหตุผลอีกชุด ซึ่งชุดของเหตุผลของการเลือกนั้น จะไม่ถูกนำมาวัดหรือให้คุณค่า ว่าชุดของเหตุผลของใครดีกว่ากัน ฉลาดกว่ากัน โง่กว่ากัน เพราะที่จริงแล้ว ชุดของเหตุผลของแต่ละคนที่ใช้เลือกนั้นก็อิงอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตนทั้ง นั้น ไม่ว่าจะเป็นในเชิงความชื่นชอบส่วนตัว เศรษฐกิจหรืออุดมการณ์ทางการเมือง นี่ยังไม่นับกว่าการกล่าวที่ว่า การกล่าวหานั้นเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะในการเลือกตั้ง ไม่มีช่องให้เหตุผลว่าเราเลือกคนนั้น หรือพรรคนั้น เพราะเหตุผลใด ซึ่งคนที่เลือกยิ่งลักษณ์ หรือพรรคเพื่อไทย อาจจะเลือกด้วยคนละชุดเหตุผลกัน (เช่น เลือกเพราะทักษิณ เลือกเพราะเกลียดการรัฐประหาร เลือกเพราะนโยบาย เลือกเพราะไม่ชอบพรรคฝ่ายตรงข้าม เลือกเพราะต้องการความเป็นอยู่ทางศรษฐกิจที่ดีขึ้น ฯลฯ) แต่อยู่ภายใต้การกากบาทให้พรรคนี้

รวมถึงการกล่าวว่า “เรา จะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกจริงๆ ก็ต่อเมื่อ เธอคนนั้นต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยตัวเอง และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า "ผู้หญิงคนนี้มีความสามารถที่จะเป็นผู้นำประเทศได้เท่านั้น” ซึ่งทำ ให้เห็นว่าผู้หญิงธรรมดาคนนี้ ไม่ได้มีความรู้ในทางการเมือง ทั้งของประเทศไทย และของโลกอย่างแท้จริง (กรุณาอ่านบทความตอบโต้ของคุณปฐม พยัคฆ์ร้ายเเห่งคลองบางหลวง ในมติชนออนไลน์) อีกทั้งยัง ‘นาอีฟ’ หรือหลอกตัวเองอยู่ว่า ผู้เทนราษฎรจำนวนไม่น้อย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่ทั่วโลก ล้วนขึ้นมาเล่นการเมืองในหนทางที่แตกต่างกัน (อย่างประเทศไทยก็มีนักร้องนักแสดง ดารา ไฮโซ หลายคนลงมาเล่นการเมือง โดยไม่ได้ ต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยตัวเอง เช่นเดียวกัน) ดิฉันเข้าใจว่าเอิน กัลยากร คงจะหมายถึง ‘ความสามารถ’ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ล้มเหลว แต่ดิฉันขอเรียนไว้ตรงนี้ว่า นั่นเป็นการนำข้อเท็จจริงอีกชุดที่เกิดขึ้นไปล้มล้างข้อเท็จจริงอีกชุด (ที่ไม่สัมพันธ์กัน) ในอดีต เพื่อที่จะยกนำมาอ้างให้ความชอบธรรมในความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเอง

ซึ่งการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วม นั้น ไม่สามารถนำมาเป็น ‘เหตุผล’ ในการกล่าวว่าเธอไม่ ‘ถือว่า’ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศได้ เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงคนละชุด และที่สำคัญ มันไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่สัมพันธ์กันพอที่จะนำมากล่าวอ้างได้ หากความสามารถที่ล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีผลต่อการทำงาน หรือการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องไปตัดสินกันในการเลือกตั้งข้างหน้า ไม่ใช่ย้อนหลังอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่นำมา ‘เคลม’ ว่าเธอไม่ถือว่าเป็น ‘นายรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ’ และ ‘เคลม’ ว่า เป็นการพูดในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตย (แน่นอน...การ ‘พูด’ หรือการวิจารณ์ เป็นสิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่ตรรกะ เหตุผลที่ใช้ในการพูด และการวิจารณ์นั้น อยู่ ‘นอก’ ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง สัมพันธ์กันโดยสิ้นเชิง)

นี่ยังไม่นับรวมความสับสนของตัวผู้หญิงธรรมดาคนนี้เอง ที่ขึ้นต้นบทความว่าไม่ถือว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่ต่อจากนั้น กลับนำข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก’ มาเป็นตัวตั้งใจการวิพากษ์วิจารณ์

ประเด็นนี้จึงเป็น ‘ความคิดเห็นส่วนตัว’ ของผู้หญิงธรรมดาคนนี้ และจะว่าไปแล้วมันก็ไม่สลักสำคัญอะไร เพราะด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็ทำให้เห็นชัดแล้วว่าเธอคิดสมอ้างเอาเองอย่าง ข้างๆ คูๆ แต่ประเด็นที่น่าสนใจและเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ดิฉันจั่วหัวไว้ตั้งแต่แรกก็ คือ การนำ ‘ความเป็นผู้หญิง’ มาเป็นตัวตั้งใจการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ (แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานโดยตรง) โดยผู้หญิงธรรมดาคนนี้อ้างว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ‘หญิง’ ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเสียหาย กลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี จนอาจทำให้ผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาทำงานการเมือง หรืออื่นๆ ในอนาคต ไมได้รับการไว้วางใจ ด้วยคนเข็ดขยาดจากภาพลักษณ์ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้สร้างเอาไว้ ดังที่ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้กล่าวไว้ในบทความ

ซึ่งตรงนี้ดิฉันล่ะละเหี่ยใจยิ่งกว่าเรื่องไหนๆ ที่เธอกล่าวมาทั้งหมด โดยเฉพาะในฐานะผู้หญิงด้วยกัน ทั้งยิ่งลักษณ์ คุณเอิน และดิฉัน

การเป็นผู้หญิงด้วยกันนั้น ไม่ได้หมายความว่า ดิฉันเรียกร้องให้เห็นใจ เข้าใจ ผู้หญิงด้วยกันอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สิ่งที่ดิฉันอยากให้ผู้หญิงหรือผู้ชายทุกคนในสังคมนี้คือ การมอง ‘คน’ ให้เป็น ‘คน’ งานเป็นงาน ไม่ได้ตีกรอบด้วยเรื่อง ‘เพศ’ สิ่งที่คุณเอินกล่าวมาว่า “เรื่องความไม่เท่าเทียม...มีค่ะยังมีอยู่ เป็นผู้หญิงค่ะ ทำงานค่ะ และยังเจอทุกสิ่งอย่างที่พูดมากับตัวเองค่ะ และไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวที่เจอ จึงได้เข้าใจและพูดได้” นั้น แน่นอน ในบางแง่มุมของสังคม เรื่องการกีดกันทางเพศยังมีอยู่จริง แต่สิ่งที่เราควรจะเรียกร้อง หรือกล่าวประณามก็คือ ‘สังคม’ ที่มีการกีดกันทางเพศต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นสังคมในระดับใหญ่อย่างประเทศชาติ หรือสังคมระดับเล็กอย่างบริษัท หรือที่ทำงาน ไม่ใช่มานั่ง ‘เด็ดหัว’ ผู้หญิงคนหนึ่งว่าทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเสียหาย

หากคุณเอินสนใจเรื่องการต่อสู้ของสิทธิสตรีในเรื่องการ กีดกันทางเพศจริง สิ่งที่คุณเอินควรจะเข้าใจ เรียนรู้ และหาความรู้มาใส่ตัวก็คือ การผลักดันเรื่องนี้ การต่อสู้เรื่องนี้ (ที่ในประเทศไทยก็มี และทั่วโลกก็มี) คือการผลักดันในเรื่องข้อกฎหมายและทัศนคติของคนในสังคม สิ่งที่เราต้องผลักดันในเรื่องนี้ก็คือ ทำให้ ‘คนในสังคม’ มองคุณค่าของความเป็นคนที่ผลงานของคนๆ นั้นแบบรายตัว ไม่ได้นำมาเหมารวมว่าหากเราเป็นเพศๆ นั้น ต้องมีพฤติกรรมอย่าง (คน) นั้น (ที่เป็นตัวอย่างของสังคม) เช่น เกย์ถูกตีตราว่าเป็นเพศที่สำส่อน ซึ่งก็เป็นมายาคติที่ไม่จริง เพราะเรื่องเซ็กซ์ ไม่ว่าเพศไหนก็มีกัน คำว่าสำส่อนวัดกันด้วยจำนวนครั้งที่มีเพศสัมพันธ์หรืออย่างไร ก็ไม่มีใครตอบได้ ว่าสำส่อนคือเท่าไหร่กันแน่ คุณเอินคงพอจะมีเพื่อนที่เป็นเกย์บ้าง ก็คงจะพอเข้าใจว่าคำกล่าวอ้างแบบเหมารวมเช่นนี้ ‘ไม่เป็นความจริงอันปฏิเสธไม่ได้’ (Universal Truth) (คุณเอินจะกล่าวประณามเพื่อนเกย์ด้วยหรือไม่ว่า เพราะเธอเป็นเกย์ เธอนอนกับผู้ชายหลายคน เธอจึงทำให้เกย์ทุกคนเสื่อมเสียว่าสำส่อน ?) เช่นเดียวกันกับทัศนคติที่ว่าผู้หญิงอ่อนแอ ผู้หญิงดีแต่สวย ก็เช่นกัน สิ่งที่คุณเอินควรจะผลักดัน หรือกล่าวประณาม หากมีการกีดกันทางเพศเกิดขึ้น ทั้งในประเทศนี้สังคมนี้ หรือบริษัทที่คุณเอินทำงานอยู่ ก็คือ ‘ผู้ที่มีทัศคติที่ไม่ดีคนนั้น’

ไม่ใช่การมาแอบอ้างด่าว่า เพราะยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ และเป็นผู้หญิง เธอจึงทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเสียหาย และจะทำให้เกิดการกีดกันทางเพศในสังคม!!!

ทัศนคติคติของ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ต่อประเด็นเรื่อง ‘ผู้หญิง’ จึงเป็นทัศนคติที่บิดเบี้ยว และเป็นทัศนคติที่ทำร้ายผู้หญิง (ในภามรวม) ด้วยกันเอง ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมของสังคม เพราะแทนที่เธอจะไปแก้ปัญหาเรื่องทัศนคติว่าด้วยการกีดกันทางเพศที่เกิดขึ้น ในสังคม แก้ที่ ‘คนที่มีทัศนคติที่ไม่ดี’ เช่นนั้น เธอกลับมาตีขลุมว่า เป็นเพราะสังคมมีนายกฯ ที่เป็น ‘ผู้หญิง’ และแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ (นี่ยังไม่ได้ย้อนถามว่าเธอจะวิจารณ์นายกฯ ในเรื่องอะไร เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือเรื่องที่นายกฯ เป็น ‘ผู้หญิง’ ?)

หากสังคมไทย เป็นสังคมที่มองเพียงแค่ตัวอย่างของคนๆ เดียว แล้วเหมารวมไปว่า เพราะคนนี้เป็นเพศนี้ ประพฤติตัวเยี่ยงนี้ เพศนี้ทั้งหมดจึง ‘ไม่ดี’ ไม่ควรสนับสนุนในโอกาสต่อไป สิ่งที่เราทุกคน ทั้งหญิงชาย คุณเอิน และดิฉัน ควรจะแก้ไข คือการผลักดันให้เกิดทัศนคติที่ดี ในการมองคนเป็นคน คนหนึ่งๆ เป็นกรณีไป ตามความสามารถของใครมัน ไม่ได้มองจากภาพเหมารวมหรือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ใช่หรือ

หรือสิ่งที่คุณเอินคิดเละเขียน ไม่ได้มาจากความรู้สึกที่อยากจะให้สังคมไร้ซึ่งการกีดกันทางเพศ ให้มีความเท่าเทียมกันทั้งหญิงชาย ให้ดูกันที่ความสามารถรายบุคคล แต่เป็นเพราะแค่อยากกล่าวประณามนายกฯ หญิงคนนี้ โดยนำ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ของเธอมาเป็น ‘โจทย์’ ตัวตั้ง เพราะหากคุณเอินใส่ใจกับเรื่อง ‘การกีดกันทางเพศ’ จริง สิ่งที่คุณเอินต้องทำคือ การยกเหตุผลขึ้นมาบอกว่า กรุณาอย่ามองเหมารวมว่าผู้หญิงทุกคนจะทำงานในตำแหน่งใหญ่โตไม่ได้ จากความล้มเหลวในการบริหารงานของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จงพิจารณาเป็นความสามารถรายบุคคลไป แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่คุณเอิน พูด คิด เขียนไป โดยกล่าวประณามว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ และเป็น ‘ผู้หญิง’ คือตัวการความเสื่อมและทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี อันทำให้เกิดการกีดกันทางเพศในสังคม ซึ่งมันไม่ได้หมายความถึงการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกัน หรือการไร้ซึ่งการกีดกันทางเพศในสังคมเลยสักนิด

การเด็ดหัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ ‘ผู้หญิง’ ที่ทำงานบริหารผิดพลาด แล้วการกีดกันทางเพศจะหมดไปไหม สิ่งที่ต้องทำคือการแก้ทัศนคติการเหมารวมต่างหาก!

อย่าทำตัวเป็นคนดี มีการศึกษา เพื่อหลอกด่าคนอื่น เพราะเราไม่ชอบ เราเกลียดเขาเลยค่ะ ด่ากันตรงๆ ว่าเกลียด ไม่ชอบโดยส่วนตัว (หรือด่าตรงๆ อย่างโง่ๆ อย่างเอกยุทธ อัญชันบุตร) โดยไม่ต้องยกทัศนคติที่บิดเบี้ยว ผิดๆ มารองรับให้ดูน่าเชื่อถือยังจะดี และดู ‘สง่างาม’ เสียกว่า

โดยเฉพาะสิ่งที่น่าเสียใจที่สุดคือการที่คุณเอินกล่าวว่า “ถาม จริงๆเถอะ ความสามารถในการสื่อสารและการทำงานระดับนี้ ถ้าไม่มี "พี่ชาย" คอยผลักคอยดันอยู่ข้างหลัง ป่านนี้คุณยิ่งลักษณ์จะทำอะไรอยู่ที่ไหน? ให้เดานะคะ ...แต่งตัวสวยๆ กลางวันไปช็อปปิ้ง ไปสปา กลับมานั่งสวยรอให้สามีชื่นชม”

ขอพูดตรงๆ เถอะค่ะ ไม่ต้องพูดว่าในฐานะผู้หญิงด้วยกันก็ได้ ในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ดีกว่า การกล่าวเช่นนี้ ทัศนคติเช่นนี้ มันเป็นอะไรที่ ‘ทุเรศ’ มาก บ่งบอกถึงทัศนคติที่ต่ำช้าเสียยิ่งกระไร หากผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง จะแต่งสวยๆ กลางวันไปช้อปปิ้ง ไปสปา กลับมานั่งสวยรอให้สามีชื่นชม มันผิดบาปมากนักหรือคะ (นี่ยังไม่นับว่านั่นเป็นความจริงที่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องร้อย เปอร์เซ็นต์) หากคุณเอิน หรือใครก็ตามเห็นถึงการทำงานที่บกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ่งที่ควรจะกระทำก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานในด้านต่างๆ ดังที่ผู้ที่มีการศึกษา สติปัญญา และอารยชนเขาทำกัน เช่น การบริหารจัดการหน่วยงานที่มาทำงานเรื่องน้ำท่วมที่ผิดพลาด การตัดสินใจที่ผิดพลาดล่าช้า การจัดหา ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ไร้ประสิทธิภาพ แบบไหน อย่างไร ก็ว่ากันไป

ไม่ใช่มากล่าวหา ว่าร้าย เสียดสี ด้วยทัศนคติอันต่ำช้า (จากผู้หญิงด้วยกันเอง) ว่า หากผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เป็นนายกฯ คงได้แต่แต่งตัวสวย กลางวันไปช้อปปิ้ง ไปสปา กลับมานั่งสวยรอให้สามีชื่นชม เพราะหากจะเป็นจริง (คือเธอไม่ได้เป็นนายกฯ) มันก็เป็นเรื่องที่เราไม่อาจไปตัดสินคุณค่าของคนๆ นั้นได้ เราควรตัดสินจาก ‘งานที่เขาทำ’ อย่างที่คุณเอินว่าไม่ใช่หรือคะ ทำไมคุณเอินไม่พูดถึงเรื่องการทำงานว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ ก็ว่ากันไป ไปแขวะเขาเรื่องแต่งตัวสวย ไปช้อปปิ้ง ไปสปา นั่งสวยๆ รอสามี ทำไม? เพราะมันเป็นเรื่อง ‘ของเขา’ และเป็นสิ่งที่ผู้มีสติปัญญา มีการศึกษา และมีทัศนคตที่ดี หรือผู้ที่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทำกัน ไม่แยกแยะเรื่องการทำงานกับเรื่องส่วนตัว (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่อีกด้วย) ออกจากกัน และถ้าหากคุณเอินหวังดีต่อสังคม อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ (อันเนื่องมาด้วยสถานการณ์น้ำท่วม) เพื่อก่อประโยชน์แก่สังคมจริง สิ่งที่คุณเอินควรพูดถึงคือ ‘การทำงานที่ล้มเหลว’ ไม่ใช่การหยิบยกประเด็นเรื่อง ‘ ความเป็นผู้หญิง’ ที่ซึ่งจริงๆ แล้วตรรกะที่คุณเอินหยิบยกมาใช้ มารองรับความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเอง มันก็ ‘ปลอม’ เต็มทน! มันน่าขำที่คุณเอินเองอยากเรียกร้องให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศ ไม่ให้ตัดสินกันที่เพศ แต่ตัดสินกันที่ความสามารถของคนๆ นั้น และอย่าเหมารวมด้วยความเป็นเพศใดเพศหนึ่ง แต่ตัวเองดันไปตัดสินคนอื่น (และเพศเดียวกันเสียด้วย) โดยที่เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วว่า เขาเป็นคนอย่างนั้น เป็นเช่นนั้น ทัศนคติของคุณเอิน จึงเป็นทัศนคติที่มุ่งร้ายโดยไม่มีตรรกะ เหตุผล มารองรับอย่างน่าเชื่อถือ และบ่งบอกได้ถึงความคิดจิตใจอันต่ำช้า โดยไม่อยากจะคิดว่าเธอเป็น ‘คน’ (ไม่ต้องผู้หญิงหรอกค่ะ เพราะข้อเขียนของคุณเอินเองก็ทำให้ภาพลักษณ์การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม กันของผู้หญิง หรือการกีดกันทางเพศตกต่ำ ไร้ซึ่งเกียรติไม่ต่างกัน) เช่นไร

และที่สำคัญมันทำให้เห็นว่าคุณเอินไม่ได้มุ่งที่จะ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องน้ำท่วมโดยตรง แต่มุ่งที่จะ ‘ด่า’ นายกรัฐมนตรี ด้วยการหยิบยกประเด็นเรื่อง ‘ความเป็นผู้หญิง’ มาเป็นโจทย์ในการด่า ซึ่งในความซอฟต์ใส ของข้อเขียนของเอิน กัลยากร เอง ดูเผินๆ เหมือนกับว่าเธอกำลังปกป้อง ‘ความเป็นผู้หญิง’ แต่ที่จริงแล้ว เธอในฐานะผู้หญิงด้วยกันเอง กลับเป็นคนที่ ‘ทำร้าย’ ผู้หญิงด้วยกัน ด้วยทัศนคติที่บิดเบี้ยว มุ่งร้าย อาจโดยเพราะไม่ชอบเป็นการส่วนตัว อคติทางอุดมการณ์ทางการเมือง หรือใดๆ แต่พยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่อรองรับความคิดเห็นอันทุเรศๆ ของตัวเอง

นี่คือสิ่งที่ดิฉันเห็นว่า ‘ซอฟต์ใสสปีช’ ของ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ร้ายแรงไม่ต่างกันจาก Hate Speech ของเอกยุทธ อัญชัน บุตร และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นคือเธอ ‘เป็นผู้หญิงด้วยกัน’ และเราไม่ควรมองผ่าน เพิกเฉย เห็นดีเห็นงามอย่างไม่พินิจพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ด้วยเพราะความซอฟต์ใสของมัน!

ดิฉันไม่ได้ปกป้องการทำงานของรัฐบาลนี้ หรือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะจากสิ่งที่เกิดขึ้นก็เห็นแล้วว่า ในด้านการบริหารจัดการ ทั้งการใช้คน การจัดตั้งองค์กรขึ้นมาแก้ปัญหา การแจ้งเตือน หรือการบรรเทาทุกข์ ฯลฯ ในฐานะนายกฯ และฐานะผู้นำรัฐบาล ที่ปกครองประเทศนี้ ยิ่งลักษณ์นั้นทำงานได้ไร้ประสิทธิภาพ (และเราก็จะจดจำไว้เป็นแต้มในการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุเพราะรัฐบาลลาออก ยุบสภา หรือครบวาระ ใดๆ ก็ตาม) และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างดีและทันท่วงที อย่างที่มีหลายๆ บทความที่สร้างสรรค์ได้แจกแจงถึงการทำงานที่ผิดพลาดไปบ้างแล้วอย่างมากมาย

สิ่งที่ดิฉันเรียกร้องก็คือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้าง สรรค์และเป็นประโยชน์ ด้วยข้อเท็จจริง ข้อมูล ด้วยทัศคติที่ไม่ดูถูกเหยียดหยาม เสียดสีว่าร้ายผู้อื่น โดยไม่มีตรรกะเหตุผล ข้อมูลข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือมารองรับ ยิ่งโดยเฉพาะทัศคติที่เต็มไปด้วยเหตุผล (หรืออารมณ์ ?) ส่วนตัว อย่างที่ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้เขียนขึ้น ซึ่งหากมันจะพาดพิงไปถึงนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นเรื่องที่ยิ่งลักษณ์จะโกรธ จะแก้ตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับดิฉัน แต่ส่วนที่เกี่ยวกับดิฉัน อันทำให้ต้องเขียนบทความโต้ตอบนั่นก็คือทัศนคติของ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ที่บิดเบี้ยว ไม่มีตรรกะเหตุผล แต่พยายามจะทำให้มันมี แต่ดันบิดเบี้ยวและทำร้ายผู้อื่น ทั้งในเรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมากไปกว่านั้นคือทัศคติต่อเรื่อง ‘ผู้หญิง’ ที่นอกจากจะบิดเบี้ยวแล้ว ยังเป็นทัศคติที่อ้างว่าปกป้องภาพลักษณ์ของผู้หญิงแต่ความจริงกลับทำร้าย ผู้หญิงด้วยกันเอง (ไม่ใช่แค่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ไม่ก่อให้เกิดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม (โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกีดกันทางเพศที่ข้อเสนอของเธอ นั้นผิดฝาผิดตัว และไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย) มิหนำซ้ำยังพัดพาสังคมไปสู่การมีทัศคติที่เลวร้ายต่อผู้อื่น โดยไม่ได้มุ่งวิพากษ์ วิจารณ์ การทำงานโดยตรงอย่างสร้างสรรค์

อย่าซ้ำเติมสังคมที่กำลังวุ่นวาย ประสบภัยพิบัติด้วยทัศคติส่วนตัวล้วนๆ เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงธรรมดา ไม่ธรรมดา คนธรรมดา หรือคนไม่ธรรมดา ก็ไม่สมควรที่จะทำ