ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
เจ้าสัวซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นเจ้าของ"ทฤษฎีสองสูง" อันลือลั่น ให้ราคาสินค้าขึ้นสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และปรับเงินเดือนให้ขึ้นสูงตาม ให้มีความสมดุลกัน จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นำมาใช้ทั้งเรื่องการรับจำนำข้าวและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ300บาท/วัน รวมทั้งขึ้นเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรี ที่จะเริ่มใช้ในต้นปี 2555
ล่าสุดวานนี้(10 พ.ย.2554) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ลงมือปรุงอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัย ที่เต็นท์โรงครัวพระราชทาน โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดพระราชทานอาหารให้กับผู้ประสบอุทกภัย ตามโครงการ “กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์เคียงข้างคนไทยช่วยภัยน้ำท่วม” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.นนทบุรี
หลังลงมือปรุงอาหารเสร็จ นายธนินท์เปิดเผยว่า ภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย จะเกิดการจ้างงานอย่างมหาศาล แรงงานจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะหลังน้ำลดต้องมีการขนย้ายทรัพย์สิน ซ่อมแซมบ้านและโรงงาน ขณะที่แรงงานต่างด้าวกลับประเทศไปค่อนข้างมาก ดังนั้น อย่าวิตกว่าคนจะตกงาน และในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ เพราะรายได้หรือเงินส่วนใหญ่จะเป็นของคนจน และ GDP ของไทยอาจสูงถึง 7%
สำหรับปัญหาน้ำท่วมนั้น นายธนินท์กล่าวว่า เกิดจากการระบายน้ำไม่ทัน และมรสุมอีกหลายลูก ซึ่งคนไทยไม่ควรโทษกัน แต่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยหากรัฐบาลเร่งสูบน้ำออก คนกรุงเทพจะเดือดร้อนน้อยลง เร่งขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ สูบน้ำเต็มที่เชื่อว่าน้ำจะขังไม่ถึง 1 เดือน
ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลควรปฏิบัติต่อไปก็คือการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน โรงงานที่ไหนน้ำท่วมไม่ต้องย้ายออก ขอให้ทำรั้วป้องกัน เพราะการสร้างโรงงานนั้นต้องลงทุนไปมหาศาล ถ้าเครื่องจักรเสียก็สั่งเครื่องจักรเข้ามาทดแทนง่ายกว่าย้ายทั้งโรงงาน และถ้าไม่มีบริษัทรับประกัน รัฐบาลต้องรับประกันแทน เพื่อให้นักลงทุนมีกำลังใจผลิตสินค้าต่อ จะนำไปสู่การจ้างงานมากขึ้น
นายธนินท์กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรปล่อยราคาสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามกลไก ดังเช่นราคาน้ำมันที่เป็นไปตามตลาดโลก เท่ากับเป็นการช่วยเหลือคนจนและเกษตรกร เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้คนจนและเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ และรัฐบาลก็เก็บเงินภาษีได้มากขึ้น
สำหรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น “กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์เคียงข้างคนไทยช่วยภัยน้ำท่วม” ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุอุทกภัยเป็นต้นมา ดังนี้ สนับสนุนเงินช่วยเหลือผ่านนายกรัฐมนตรี จำนวน 30 ล้านบาท มอบผลิตภัณฑ์และถุงยังชีพจำนวน 50,000 ชุด มูลค่า 20 ล้านบาท ผ่านองค์กรต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย ครัวสายใยรักแห่งครอบครัวฯ กาชาดจังหวัด ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล และสื่อมวลชน ตลอดจนการตั้งเต็นท์โรงครัวพระราชทาน โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดพระราชทานอาหารให้กับผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 14 จุดจังหวัด ครอบคลุมทุกพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อทำการปรุงอาหารสดทุกวัน วันละ 3 มื้อ จำนวน 10,000 กล่องต่อจุดต่อวัน แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกๆพื้นที่
ทั้งนี้ได้ปรุงอาหารแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ประสบภัยไปแล้วกว่า 1,700,000 กล่อง คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาท และจะดำเนินโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ยังมี กลุ่มบริษัททรู อีก 40 ล้านบาท และกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ ข้าวตราฉัตร อีก 5 ล้านบาท รวมมูลค่าที่ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 180 ล้านบาท