ที่มา ประชาไท
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ผู้ดำเนินรายการ และ วันรัก สุวรรณวัฒนา อภิปรายในงานเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” เมื่อ 5 พ.ย. 54 ที่ Book Re:public จ.เชียงใหม่ ที่มาของคลิป: BookRepubliconTV/youtube.com
"คำ ว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" ไม่ได้เพิ่งมีตอนนี้ แต่มาพร้อมกับวาทกรรมพัฒนาประเทศที่ผนวกกับการสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน แล้วเราก็ยอมรับให้มันเป็นความจริงสูงสุด ว่าคุณต้องยอมเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเพื่อคน กทม. เราเคยทบทวนกันหรือไม่ว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" นี้มันคือประโยชน์ของใคร"
วันรัก สุวรรณวัฒนา
000
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ ได้จัดเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในช่วงอภิปรายของวันรัก สุวรรณวัฒนา ได้กล่าวถึงประสบการณ์การหนีน้ำท่วมของเขาเองว่า พบว่า ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเองไม่เข้าใจ เพราะเจอคำศัพท์ใหม่จำนวนมากที่ถาโมเข้ามา เช่น คันกั้นน้ำ ทางน้ำหลาก มวลน้ำ ประตูระบายน้ำ ผนังกั้นน้ำ มวลน้ำ ก้อนน้ำ ทางด่วนน้ำ บิ๊กแบ็ก ฯลฯ วันนี้จึงอยากพูดเรื่อง "วาทกรรมน้ำท่วมกับสภาวะผู้อพยพ"
การหนีน้ำของตนเองเริ่มจากย้ายออกบ้านแถวแจ้งวัฒนะไปอยู่บ้านเพื่อนที่ ฝั่งธนบุรี หมู่บ้านของตัวเองไม่เคยมีจินตนาการว่าตัวเองจะถูกน้ำท่วม คือ ดูข่าวน้ำท่วม และการอพยพ แต่ไม่เคย Identify ให้เข้ากับตัวเองเลย พอน้ำเริ่มท่วมบ้าน เพื่อนบ้านก็เริ่มอพยพหนีน้ำ เป็นสภาวะสถานการณ์น้ำท่วม ที่เราหรือคนกรุงเทพที่อยู่บ้านแบบชนชั้นกลางไม่เคยรู้จัก
แต่พอย้ายไปอยู่บ้านเพื่อนที่ฝั่งธนบุรีแถวคลองบางกอกน้อย ชุมชนนี้กลับมีสภาพที่แตกต่างจากหมู่บ้านของตนเองอย่างมาก แม้จะเป็นชุมชนเมืองแต่ก็มีลักษณะของการเป็นชุมชนมากกว่าหมู่บ้านที่ตนอยู่ บ้านนั้นเป็นบ้านที่เคยถูกน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และปัจจุบันก็ถูกท่วมมาเดือนกว่าแล้ว เขาก็ยังทำอาหาร ขายของอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นจะเห็นถึงบรรยากาศของผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่นี่ ซึ่งต่างจากหมู่บ้านเมืองที่เกิดขึ้นใหม่
สิ่งที่จะตั้งข้อสังเกต คือ ชุดคำต่างๆที่ใช้อธิบายน้ำท่วม ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว จะไม่เคยได้ยิน เมื่อนำมันมาผูกโยงกับสภาวะของผู้อพยพของคนกรุงเทพฯ ที่ว่า คนกรุงเทพฯมีจินตนาการเกี่ยวกับผู้อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่าเป็นคนอื่น มันจะไม่มีทางเป็นเราได้ ฉะนั้นเมื่อคนกรุงเทพฯถูกน้ำท่วมจึงไม่มีใครไปอยู่ศูนย์อพยพ นี่คือสถานะที่มันลักลั่นของคนกรุงเทพที่เป็นผู้ประสบภัย คือ เราไม่สามารถ Identify ตัวเองเข้ากับจินตนาการเรื่องผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพราะมันเป็นเรื่องของคนอื่นเสมอ มันไม่เคยเป็นคนกรุงเทพฯ
เรื่อง "Bangkok civilization"ของอาจารย์เวียงรัฐ (หมายถึง เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ผู้ดำเนินรายการ) ทำให้นึกถึง civilize space ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่พูดถึงการสร้างวาทกรรมของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อง คนป่า คนบ้านนอก วาทกรรมแบบนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นภาวะผู้ประสบภัยสำหรับคนกรุงเทพจึงเป็นภาวะที่ไม่มีความหมาย ลักลั่น ไม่ได้ผูกโยงตัวเองเข้ากับวารีพิบัติทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ชนชั้นกลางทำ คือ การโหมมิวสิควีดีโอดราม่าเรื่องน้ำท่วม เพื่อให้เกิดสิ่งที่คำ ผกาเรียกว่า "ฮิสทีเรียหมู่ทางอารมณ์" รวมเป็นชุดวาทกรรมน้ำท่วมที่น่าวิพากษ์มากๆ ถ้ารัฐไทยบริหารจัดการน้ำเหมือนเดิมอย่างสมัย ร.5 วาทกรรมดราม่าเรื่องน้ำท่วม ผู้ประสบภัย และเรื่องการรวมตัวกันเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่เปลี่ยนแปลง
เราจะเห็นภาพ น้ำท่วม คนร้องไห้ คนยากจน และคนกรุงเทพชนชั้นล่างที่ไปอยู่ศูนย์อพยพ แต่จะไม่เห็นภาพคนกรุงเทพที่แต่งตัวดีฝ่าวิกฤตน้ำท่วม ที่สำคัญมันผูกติดกับคติสอนใจเชิงศีลธรรม และแฝงมากับมิวสิควีดีโอเหล่านี้ รวมกับภาพอัตลักษณ์ความเป็นไทยรูปแบบหนึ่งเดียว คือ เราจะสามัคคี คนไทยไม่เหมือนที่ใดในโลกเพราะยามน้ำท่วมเราช่วยกันแบกถุงทราย ทำถุงยังชีพ ช่วยแจกจ่ายอาหาร กลายเป็นว่า การช่วยกันในยามน้ำท่วมเป็นลักษณะพิเศษมากสำหรับคนไทยหัวใจรักชาติ
มิวสิควีดีโอเหล่านี้ไม่มี Moral support แม้ผู้ทำอยากจะให้มีก็ ตาม ในทางตรงกันข้ามมันกลับทำให้รู้สึกว่า มันคือการเหยียดหยาม ดูถูก และลดทอนปัญหา ไม่ได้สะท้อนภาพที่เป็นจริง และเป็นการ Dramatize ปัญหาให้กลายเป็นเรื่องของ Emotion (อารมณ์) ทำให้ปัญหาเป็นลักษณะของการซาบซึ้งอย่างเดียว
วาทกรรมนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปีพ.ศ.2549 ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์การเมือง วิกฤตทางศีลธรรม จะถูกนำไปผูกติดกับความเป็นไทยอยู่ตลอด
“เราไม่ได้ต้องการความซาบซึ้งหรือ ความหวังลมๆแล้งๆ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ Solidarity หมายถึง ความร่วมมือ ร่วมใจ ความรู้สึกที่ว่าความทุกข์ของคนอื่นเป็นความทุกข์ของเรา ไม่ใช่แค่ทุกข์ของคนอื่นคือทุกข์ของคนอื่นแล้วไปบริจาคเงินใส่ถุงยังชีพ ห่อกระสอบทราย”
จริงๆ แล้วคนกรุงเทพฯไม่สนใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือในกทม. ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ เพราะ คนกรุงเทพไม่ได้พึ่งพิงน้ำในการมีชีวิตอยู่รอด น้ำเป็นเรื่องของชาวไร่ชาวนา และข้าราชการ ฉะนั้นเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับตัวเอง ผนวกกับพื้นที่เมืองที่พวกเขาถูกอัตลักษณ์ตนเองปิดไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ เขาต้องหาแพะ คือ โทษรัฐบาลที่เขาไม่ชอบ
"ในขณะที่คนต่างจังหวัดน้ำท่วมซ้ำซ้อนทุกปีแต่คนกรุงเทพฯไม่เคยตั้งคำถามว่าอะไรกันแน่คือสาเหตุของน้ำท่วม"
สุดท้ายอยากตั้งคำถามว่า น้ำท่วม กทม. มันคืออะไรกันแน่ การเลือกว่าที่ใดควรจะรับน้ำ ที่ไหนควรจะแห้ง เลือกจากเกณฑ์มาตรฐานใดการเมืองเรื่องน้ำมันสะท้อนว่าเนื้อแท้ของ ประชาธิปไตยไทยที่เราต้องการคืออะไรกันแน่
สื่อไทยกับรัฐบาลจะผลิตซ้ำชุดความคิด ความเข้าใจและจินตนาการเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ว่าพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างกทม.ต้องปลอดจากน้ำท่วม และคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ต้องรับ และยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
"คำว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" ไม่ได้เพิ่งมีตอนนี้ แต่มาพร้อมกับวาทกรรมพัฒนาประเทศที่ผนวกกับการสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน แล้วเราก็ยอมรับให้มันเป็นความจริงสูงสุด ว่าคุณต้องยอมเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเพื่อคน กทม. เราเคยทบทวนกันหรือไม่ว่า "ประโยชน์ส่วนรวม" นี้มันคือประโยชน์ของใคร"
ชุดความคิดนี้มันมาพร้อมกับรุ่งอรุณแห่งการพัฒนามาพร้อมกับการสร้าง เขื่อน การขุดคลองชลประทาน การพัฒนาพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงงานถ่านหิน โรงงานนิวเคลียร์ที่กำลังจะมา
กรอบคิดเรื่อง การที่คนหรือชุมชนตัวเล็กๆ ต้องยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศที่มาพร้อมกับการพัฒนา สะท้อนอยู่ในนโยบายการผันน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ มิวสิควีดีโอของไทยพีบีเอสที่สร้างความซาบซึ้งแล้วบอกว่าคนไทยรักกัน ยิ่งใหญ่ หัวใจโต ต้องยอมเสียสละเพื่อคนอื่นซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ และสะท้อนอยู่ในระบบสร้างคันกั้นน้ำของ กทม.
เพราะฉะนั้นการเมืองว่าด้วยเรื่องน้ำ วาทกรรมทั้งหมดที่ว่าด้วยเรื่องความเข้าใจเรื่องน้ำ บวกกับการบริหารจัดการ มันจึงมาอยู่ที่ "Social dilemma" ว่าสุดท้ายแล้วเนื้อแท้ประชาธิปไตย ต้องยอมเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่จริงหรือ แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกดจะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อที่จะบอกว่าไม่ต้องการ เสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ได้หรือไม่
หนังสือเรื่อง The God of small things ของ Arundhati Roy มีบทความหนึ่งที่ชื่อว่า The end of imagination จะพูดถึงเรื่องประสบการณ์ของเขาที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทางตะวันตกของอินเดีย Arundhati สะท้อนและตั้งคำถามเรื่อง Social dilemma นี้ว่า กระบวนการสร้างเขื่อน และกระบวนการทั้งหลาย มันสะท้อนประชาธิปไตยหรือระบบเศรษฐกิจ หรือเงินของใครกันแน่