ที่มา มติชน
โดย ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์
หมายเหตุ ข้อมูลงบประมาณทหารเป็นข้อมูลปี 2010 ในราคาปี 2009 ส่วน GDP เป็นข้อมูลปี 2009
อื่นๆ : ข้อมูลจาก Stockholm International Peace Research Institute อ้างใน Wikipedia
สืบเนื่องจากคอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดยอาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ ในมติชนรายวัน วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ที่ได้นำเสนอข้อมูลของงบประมาณทหารในมิติต่างๆ เพื่อให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมของงบประมาณทหารนั้น บทความนี้จึงใคร่ขอนำบางประเด็นและข้อมูลที่อาจารย์นวลน้อยได้เสนอไว้มาถก เพิ่มเติม จะได้ต่อยอดความตื่นตัวในด้านนี้ให้มากขึ้น ดังนี้
"3. สัดส่วนงบประมาณทหาร/GDP ในปี 2010 ... พบว่าสัดส่วนงบประมาณทางทหาร/GDP ของประเทศไทยอยู่ในช่วงเดียวกันกับ อิตาลี อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย อัฟกานิสถาน โปแลนด์ อิหร่าน และมาเลเซีย ... และเมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณทหารไม่ ได้ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือรายได้ต่อหัวประชากรแต่อย่างใด เพราะประเทศในยุโรปจำนวนมาก เช่นเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เบลเยียม เดนมาร์ก และฟินแลนด์ มีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณทหารน้อยกว่าร้อยละ 1.5 แต่อังกฤษ และฝรั่งเศส มีสัดส่วนการจัดสรรที่สูงกว่ามาก"
ตัวแปรสำคัญประการหนึ่งที่อังกฤษและฝรั่งเศสมีสัดส่วนของงบประมาณ ทหารต่อ GDP สูงกว่าประเทศอื่นๆ นั้น คือ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ (defence industry) หรืออุตสาหกรรมอาวุธ (arms industry) อันเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นต้น อุตสาหกรรมนี้มีลักษณะพิเศษ เพราะอาวุธไม่สามารถขายให้เอกชนได้ (โดยถูกกฎหมาย) ต้องเป็นการขายให้กับกองทัพของประเทศต่างๆ อันเป็นหน่วยงานรัฐ และเป็นสินค้าที่มีราคาสูง อีกทั้งต้องการการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามหาศาลเพื่อให้สามารถค้นคิดอาวุธ ยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ดังนั้นลูกค้าสำคัญของผู้ผลิตเหล่านี้ ก็คือรัฐบาลของประเทศตนนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้จะได้มีรายได้และผลตอบแทนเพียงพอ และรายจ่ายจากงบประมาณก็จะกลายมาเป็นรายได้ของระบบเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ เอง มีการจ้างงาน มีการกระจายรายได้ อีกทั้งมีผลกระทบภายนอกต่อการขยายพรมแดนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วย การที่ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนของงบประมาณทหารต่อ GDP สูงกว่าประเทศอื่นๆ จึงมีคำอธิบายค่อนข้างชัดเจน จากข้อมูลเดียวกัน ในปี 2009 SIPRI จัดลำดับ 100 ผู้ผลิตอาวุธที่สำคัญที่สุดของโลก ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา BAe Systems ของอังกฤษ เป็นบริษัทผลิตอาวุธลำดับที่ 2 ของโลก โดยร้อยละ 95 ของยอดขายรวมเป็นการขายอาวุธ และ Thales ของฝรั่งเศส เป็นบริษัทผลิตอาวุธลำดับที่ 11 ของโลก โดยมีการขายอาวุธร้อยละ 57 ของยอดขายรวม
อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีสัดส่วนของงบประมาณทหาร/GDP ในระดับเดียวกับประเทศไทยนั้น อินเดียและอิตาลีมีงบประมาณทหารมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 9 และ 10 (ข้อมูลปี 2010) หลายประเทศมีอุตสาหกรรมอาวุธติดอันดับโลกด้วย เช่น Finmeccanica ของอิตาลี ติดลำดับที่ 8 ของโลก และมีการขายอาวุธร้อยละ 53 ของยอดขายรวม SAAB ของสวีเดน อยู่ในลำดับ 31 มีสัดส่วนรายได้จากอาวุธร้อยละ 82 RhienMetall ของเยอรมนี ในลำดับ 32 มีสัดส่วนรายได้จากอาวุธร้อยละ 55 Hindustan Aeronautics ของอินเดีย ที่ลำดับ 45 รายได้ร้อยละ 90 มาจากอาวุธ BAe Systems Australia ที่เป็นบริษัทลูกของ BAe Systems UK อยู่ในลำดับที่ 62 ที่รายได้ทั้งหมดมาจากอาวุธ และ Kongsberg Gruppen ของนอร์เวย์ ในลำดับเดียวกัน รายได้ครึ่งหนึ่งมาจากอาวุธ งบประมาณทหารของประเทศเหล่านี้จะก่อให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมนี้อยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น มีบทบาทน้อยมากในระบบเศรษฐกิจไทย เพราะยังจัดอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมเท่านั้น การจัดสรรงบประมาณทหารในระดับเดียวกันนั้น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่มีอุตสาหกรรมอาวุธย่อม ต่ำกว่าประเทศที่มีอุตสาหกรรมนี้
"4...เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณทางทหาร ต่อ GDP ในกลุ่มประเทศอาเซียนดั้งเดิม... พบว่าสิงคโปร์มีการจัดสรรสูงที่สุด ตามด้วย บรูไน มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์"
ด้วยเหตุผลและข้อมูลเดียวกัน สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีอุตสาหกรรมอาวุธติดอันดับโลก นั่นคือ ST Engineering ของกลุ่ม Temasek มีรายรับจากอาวุธร้อยละ 38 อยู่ที่ลำดับที่ 54 ของโลก
นอกจากนี้สิงคโปร์เป็นประเทศนำเข้าอาวุธมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มาเลเซียอยู่ที่อันดับ 3 และอินโดนีเซีย ในอันดับ 15 จะเห็นได้ว่า ประเทศเหล่านี้หากไม่มีการผลิตอาวุธก็ต้องทำธุรกิจซื้อขายอาวุธ หรือทั้งสองอย่าง การที่งบประมาณทหารของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ย่อมมิได้เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตหรือซื้อขายอาวุธเช่นในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียแต่อย่างใด
"จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการจะหาตัวแปรที่ชัดเจนมากำหนดการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมเป็น เรื่องยาก เพราะงบประมาณทหารขึ้นอยู่กับประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์หรือนโยบายของรัฐ ความต้องการเตรียมความพร้อม การประเมินภัยคุกคาม และความยอมรับของประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ"
ประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์นั้นมีผลอย่างมากต่อการกำหนดการจัดสรรงบ ประมาณทหาร จากข้อมูลชุดเดียวกัน ได้ทำการคำนวณสัมประสิทธิ์ของสหสัมพันธ์ (correlation coefficient) ของสัดส่วนของงบประมาณทหารต่อ GDP ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีผลดังนี้ กัมพูชา (0.675) ลาว (0.877) เมียนมาร์ (0.879) และมาเลเซีย (0.615) แสดงให้เห็นถึงสหสัมพันธ์ในเชิงบวก กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนของงบประมาณทหารต่อ GDP ของไทยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนเดียวกันของ ประเทศเพื่อนบ้าน ประมาณร้อยละ 45.56 (สำหรับกัมพูชา) ร้อยละ 76.91 (สำหรับลาว) ร้อยละ 77.26 (สำหรับเมียนมาร์) และร้อยละ 37.82 (สำหรับมาเลเซีย) ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์ ทางทหารที่ว่า เมื่อเพื่อนบ้านมีงบประมาณทหารมากขึ้น เราจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณทหารตามไปด้วย เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางทหารให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน หรือไม่ให้ภัยคุกคามเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่อยากฝากไว้คือ การจะหาตัวแปรที่ชัดเจนมากำหนดการจัดสรรงบประมาณทหารที่เหมาะสม แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็พอมีคำอธิบายในด้านต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน ทั้งด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของอุตสาหกรรมอาวุธ และด้านยุทธศาสตร์ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือรายได้ต่อหัวของ ประชากรที่เราคุ้นเคย ข้อถกเถียงเพิ่มเติมที่เกิดขึ้น คือ งบประมาณ ทหารที่อยู่ในระดับเดียวกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมอาวุธนั้น ประเทศไทยนำไปใช้ในด้านใด มีการกระจายทรัพยากรด้านความมั่นคงอย่างไร และมีประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมอย่างไรบ้าง อนึ่ง ประโยชน์ประการหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือการจัดอันดับ Global Firepower ล่าสุดนั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 19 ซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์ที่อันดับ 41 ทั้งที่สิงคโปร์มีสัดส่วนงบประมาณทหารต่อ GDP สูงกว่าไทยเท่าตัว ถือว่าประเทศไทยใช้งบประมาณทหารเพื่อเสริมสร้างกำลังรบได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย ในอันดับ 18 แล้ว สัดส่วนงบประมาณทหารต่อ GDP ของไทยยังสูงกว่าอินโดนีเซียมากกว่าเท่าตัวเช่นกัน แต่อันดับห่างกันเพียงอันดับเดียวเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไป