WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, November 7, 2011

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: ยิ่งลักษณ์รีแพร์

ที่มา ประชาไท

ตั้งหัวให้หวือหวาไปงั้น แฟนคลับนายกฯ คงไม่ว่ากัน ประเด็นคือ มหาอุทกภัยทำให้รัฐบาลบอบช้ำอย่างหนัก แถมไม่มีเวลาอยู่ไฟ น้ำยังไม่ลด สงครามการเมืองล้มรัฐบาลก็ก่อตัวขึ้นแล้ว ต้องรีบ “ยกเครื่อง” ปรับปรุงระบบการทำงานกันครั้งใหญ่ เพราะการทำงานในรูป ศปภ.เดือนเศษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานอย่างเป็นระบบ เรื่องความมีประสิทธิภาพ ต่ำกว่าที่ผู้คนคาดหวังว่าจะได้เห็น ห่างไกลคนละโยชน์กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

มวลชนเสื้อแดงแฟนคลับยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ควรยอมรับว่ารัฐบาลมีปัญหาวิธีคิดวิธีการทำงาน มากกว่าจะไปตั้งแง่ว่าใครจงใจปล่อยน้ำเพื่อคว่ำรัฐบาล หรือไปตั้งแง่ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางยา ถ้าคุณเชื่อ “ทฤษฎีสมคบคิด” แบบนี้ คุณก็ไม่ต่างจากพวกสลิ่มที่เชื่อว่า ทักษิณสั่งกั้นน้ำไม่ให้ปล่อยไปสุพรรณ เพราะลงทุนทำนาอยู่กับโมฮัมหมัด อัลฟาเยด
มันไม่มีใครหรอกครับที่ชั่วร้ายถึงขนาดวางแผนให้เกิดมหาภัยพิบัติให้ ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ เพียงเพื่อล้มรัฐบาล เช่นเดียวกับที่ทักษิณก็ไม่ได้ชั่วร้ายขนาดเห็นแก่ข้าว 3 พันไร่จนปล่อยน้ำท่วมกรุงล้มรัฐบาลน้องสาวตัวเอง มันเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครป้องกันได้ เพียงแต่เมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว ก็มีพวกฉวยโอกาสใช้เป็นเครื่องมือล้มรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องยอมรับว่าทำงานไม่เป็น ถ้าเป็นก็คงไม่เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานซะบอบช้ำขนาดนี้
สิ่งที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจประชาชนคือ น้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีใครป้องกันได้ เทวดาที่ไหนมาบัญชาการก็ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขจำกัดที่เป็นอยู่ แต่ ศปภ.”สอบตก” ในแง่ของการประเมินสถานการณ์ผิด และการชี้แจงทำความเข้าใจประชาชน ดันไปบอกประชาชนว่า “เอาอยู่” ดันให้ความหวังแทนที่จะเตือนภัยให้อพยพเพื่อลดความเสียหาย
มีหลายคนตั้งแง่เรื่องการปล่อยน้ำของเขื่อน ของ กฟผ.กรมชลประทาน นั่นเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันหลังน้ำลด แต่เพื่อเป็นบทเรียนมากกว่าจ้องจับใครเป็นแพะ ส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่า มันเป็นปัญหาของระบบราชการ ที่ทำงานแบบตัวใครตัวมัน ทำตามนายสั่ง รับผิดชอบแค่งานรูทีนตรงหน้ากรู
ถ้าจำกันได้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ปลายเดือนมิถุนายน น้ำก็ท่วมเมืองน่าน มิถุนายนคือเพิ่งต้นหน้าฝนนะครับ ถัดจากนั้นฝนก็ตกหนักน้ำท่วมประปรายไปทั่วภาคเหนือตอนบนตอนล่าง ต้นเดือนสิงหาคม พายุนกเต็นพัดเข้ามาทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่รอบแรก ตอนนั้นชาวนาภาคกลางก็กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยว ถามว่ามีช่วงเวลาไหนให้เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ปล่อยน้ำโดยไม่กระทบ หรือซ้ำเติมชาวบ้านที่โดนฝนหนักอยู่แล้ว
ประเด็นที่น่าตั้งคำถามมากกว่าคือ กรมชลประทานรู้ไหม และรู้เมื่อไหร่ ว่าจะเกิดมหาอุทกภัย แล้วทำไมไม่แจ้งเตือนรัฐบาล (มีคนอ้างว่าเตือนแล้วแต่รัฐมนตรีบางคนเบรกไว้กลัวกระทบนโยบายจำนำข้าว ซึ่งถ้าจริงก็เซอะสิ้นดี ถ้ากรมชลบอกว่ามวลน้ำหลายหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจะถล่มภาคกลาง คงไม่มีไอ้โง่ที่ไหนบอกให้ปิดปากไว้ รอจำนำข้าวก่อน)
เพราะถ้าเตือนรัฐบาลก็ยังอาจจะตั้งตัวรับมือทัน ลดความเสียหายในบางด้าน แต่นี่ดูเหมือนกระทั่งปลายเดือน ก.ย.รัฐบาล (และคนทั้งสังคม) ก็ยังไม่ตระหนักว่า มวลน้ำมากมายมหาศาลกำลังจะไหลท่วมหัว
ยิ่งไปกว่านั้น หลังตั้ง ศปภ.กรมชลประทานก็ยังให้ข้อมูลถูกมั่งผิดมั่ว อาทิ “มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว”
ที่พูดนี่ไม่ใช่จะบอกว่ากรมชลประทานวางยา ผมไม่คิดขนาดนั้น แต่ผมจะบอกว่า มันคือความห่วยของระบบราชการ ซึ่งทำงานแบบไม่มีหัวคิด คนที่ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตไม่ใช่คนมีความรู้และมีฝีมือ ถ้ากรมชลประทานประสานงานกับกรมอุตุ และนักวิชาการด้านน้ำของสถาบันต่างๆ ซักนิด ก็ต้องรู้ว่าน้ำจะมาก แต่นี่ ตามมติ ครม.5 กันยา (ที่อีกฝ่ายเอามาอ้างเพื่อโทษรัฐบาล) รายงานของกระทรวงเกษตรฯ ไม่บอกตรงไหนเลยนะครับว่าน้ำจะท่วมใหญ่ แถมบอกด้วยว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังรับน้ำได้อีกเกือบ 17,000 ลูกบาศก์เมตร
รัฐบาลถึงไม่ได้เตรียมรับมืออะไรเลยจนน้ำมาถึงนครสวรรค์ อยุธยา
ถามว่าถ้าบอกก่อนทำอะไรได้ไหม ก็คงเลี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ดี แต่ยังสามารถเตรียมแผนการระบายน้ำ ขุดลอกคลอง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ พอบรรเทาไปบ้าง
สุดวิสัยแต่ก็ไร้ฝีมือ
ใครไม่ทราบเอาคลิปพระราชดำรัสในหลวงเมื่อปี 38 มาเผยแพร่ แล้วก็อ้างกันต่อๆ ไป เป็นที่เห็นชัดว่า เจตนาดิสเครดิตรัฐบาล ทั้งที่ในหลวงท่านไม่เกี่ยวข้องด้วย ก็ในหลวงเรียกนายกฯ เข้าเฝ้าฯ และทรงชี้แนะแล้ว นายกฯ ก็ทำตามที่พระองค์ท่านชี้แนะทุกประการ อย่างเช่นการผันน้ำไปฝั่งตะวันออกก็ทำแล้ว แต่น้ำมันไม่ไป เพราะอะไร เพราะน้ำต้องผ่านพื้นที่ที่เป็นดอน floodway ที่ในหลวงมีพระราชดำรัสไว้เมื่อปี 38 ผ่านมา 16 ปีก็ปล่อยปละละเลยกันจนกลายเป็นโรงงานเป็นบ้านจัดสรร คูคลองก็ตื้นเขินไม่ได้ขุดลอก เครื่องสูบน้ำที่คลองด่านรอแล้วรอเล่าน้ำก็ไม่ไป
นั่นคือเหตุทางภววิสัยซึ่งมันสุดวิสัย เพียงแต่ในการทำงานของรัฐบาล ของ ศปภ.ก็เละตุ้มเป๊ะเช่นกัน จึงทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
อันดับแรกที่ทำให้เละ คือความไม่เป็นเอกภาพทางวิชาการ แล้วรัฐบาลก็ไม่รู้จะเชื่อใครดี ระหว่างกรมชลประทานกับหน่วยงานทางวิชาการต่างๆ ที่เข้าไปร่วมอยู่ใน ศปภ.ซึ่งต่างคนต่างก็ประเมินสถานการณ์ไปคนละอย่าง ขณะที่รัฐบาลและ ศปภ.ไม่มีความรู้เรื่องน้ำเลย จึงงงเป็นไก่ตาแตก ประเมินสถานการณ์ผิด โอเค รัฐบาลมือใหม่ อาจให้อภัยได้ใน 2-3 วันแรก แต่รัฐบาลก็ช้ามาก กว่ายิ่งลักษณ์จะตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ ในวันที่ 22 ต.ค. โดยมีวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทานที่เกษียณแล้ว มาเป็นประธาน มี ดร.รอยล จิตรดอน ดร.สมบัติ อยู่เมือง เป็นคณะทำงาน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นเลขานุการ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญให้เป็นเอกภาพ หลังจากมั่วมา 14 วัน (ตั้ง ศปภ.เมื่อวันที่ 8 ต.ค.)
ข้อแรกเป็นเรื่องการประเมินสถานการณ์ ข้อสองแย่กว่าอีก คือเป็นเรื่องการบริการจัดการ
จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าทำไมยิ่งลักษณ์จึงตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็น ผอ.ศปภ.ทั้งที่ยามเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขนาดนี้ นายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะ ขนาบข้างด้วย รมว.มหาดไทยและ รมว.กลาโหม (โดยอาจต้องมี รมว.เกษตรฯ อีกคนเพราะเป็นเรื่องน้ำ)
หรือยิ่งลักษณ์จะเลียนแบบที่ไม่ควรเลียนแบบจากอภิสิทธิ์ ซึ่งตั้งสาทิตย์ วงศ์หนองเตย มาดูแลอุทกภัยเมื่อปี 53
ตั้ง พล.ต.อ.ประชามานั่งโดยสั่งการใครไม่ได้ รมว.มหาดไทย รมว.กลาโหม ก็เหมือนอยู่วงนอก ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ทหารช่วยน้ำท่วมก็จริง แต่ช่วยสะเปะสะปะ แล้วแต่ใครขอมา ปอเต็กตึ๊งขอรถ ช่อง 3 ขอรถ ใครขอรถ ทหารไปหมด (บางทีมีญาติอยู่ซอยนั้นซอยนี้ ก็ไปหมด) แต่ดูเหมือนไม่มีการบัญชาการที่เป็นเอกภาพจาก ศปภ.
ตำรวจก็ไม่เกี่ยวไม่ข้อง แล้วแต่ตำรวจท้องที่ทำงานกันไป เพิ่งเมื่อวันเสาร์นี่เองที่เพรียวพันธ์เรียกตำรวจภูธรมาเสริมกำลังช่วยผู้ ประสบภัย (ที่ผ่านมามัวหลับฉลองตำแหน่งอยู่ที่ไหนไม่ทราบ)
การตั้งบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่ง นักบริหารอย่างยิ่งลักษณ์หรือทักษิณ ควรจะรู้ดีว่าคุณต้องแบ่งงานตามลักษณะของภารกิจ เช่น ขายมือถือต้องมีฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริการหลังการขาย ฝ่ายบัญชีธุรการ การรับมือน้ำท่วมควรจะแบ่งแยกได้ง่ายๆ ว่าหนึ่งละ คุณต้องมีฝ่ายเตรียมการและเตือนภัย สำหรับพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วม แต่กำลังจะท่วม รวมไปถึงเตรียมการอพยพคน สอง เมื่อน้ำท่วม คุณต้องมีฝ่ายดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะจัดส่งเสบียงอาหารถุงยังชีพอย่างไร จะดูแลคนในศูนย์อพยพอย่างไร ดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วย สาม เมื่อน้ำลด คุณต้องมีฝ่ายวางแผนฟื้นฟู ออกมาตรการชดเชย ช่วยลดภาระความเสียหาย
แต่จำได้ไหมว่า ศปภ.ตั้งขึ้นมาลอยๆ มีประชาเป็น ผอ. มีปลอดประสพเป็นฝ่ายปฏิบัติการ มี พล.อ.อ.สุกำพลเป็นฝ่ายสนับสนุน เหมือนกับตั้งขึ้นมารับมือน้ำท่วมอยุธยาที่เดียวจบ ไม่ได้คิดถึงการรับมือมวลน้ำมหาศาลที่จะท่วมกรุงเทพฯเป็นเดือน
ความไม่เป็นระบบนี่แหละมันถึงทำให้เกิดสภาพ “ร่วมด้วยช่วยกันวุ่น” อย่างที่ผมเคยเขียนไป มีคนเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ “ขาใหญ่” อย่างเก่ง การุณ เข้าไปมีบทบาทมากที่ ศปภ.ดอนเมือง เพราะที่นั่นคือดอนเมือง เก่ง การุณ พาคนในพื้นที่ไปช่วยงานแข็งขันตั้งแต่วันแรก ก็เลยมีบทบาทเยอะ ก็โอเค ถ้ามันเป็นช่วงฉุกละหุก 2-3 วันแรก แต่หลายวันผ่านไปคุณไม่ทำให้เข้าระบบ ก็กลายเป็นจุดอ่อนถูกโจมตี
พองานไม่เป็นระบบ ไม่มีองค์กรจัดตั้ง ประชาสั่งใครไม่ได้ (แถมยังทำงานแบบงุ่มง่ามตามระบบราชการ) ทุกอย่างก็รวมศูนย์ไปที่ยิ่งลักษณ์ รอนายกฯ ตัดสินใจแต่ผู้เดียว บางครั้งนายกฯ สั่งแล้วก็ไม่มีใครไปติดตามจี้งานให้ ก็เหมือนสั่งแล้วหาย ที่ร้ายกว่านั้นคือนายกฯ มือใหม่ พี่ชายพี่สะใภ้ไม่กล้าปล่อยให้ตัดสินใจ วางคนรอบข้างเต็มไปหมด ทั้งที่คนรอบข้างก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหรือผู้มีประสบการณ์ทาง การเมืองมาจากไหน ทำให้ข้อเสนอต่างๆ กว่าจะไปถึงการตัดสินใจก็ล่าช้า
งานใหญ่แบบนี้ นายกฯ ควรจะมีทีมที่ปรึกษามือเชี่ยวๆ ซัก 4-5 คน หารือแล้วก็ตัดสินใจกันตรงนั้น ไม่ต้องฟังใครไม่ว่านอกหรือในประเทศ นี่แหละอันดับแรกที่ต้อง “รีแพร์” ไม่งั้นจะมีปัญหาในการบริหารงานตลอด
ยิ่งลักษณ์เพิ่งจะมาออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการ 9 ชุด ตั้งแต่ฟื้นฟูเยียวยาไปถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การสื่อสารสาธารณะ การบริหารจัดการน้ำ (ซึ่งแปลว่าปล่อยให้ ศปภ.เดิมเป็นเจว็ด) นี่ก็สายไปร่วม 29 วัน
หวังว่าการสื่อสารสาธารณะที่มีธงทอง จันทรางศุ เป็นหัวเรือใหญ่ จะทันเกมการเมืองและฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนได้บ้าง จากที่ผ่านมาที่สื่อสารไม่เอาไหน ไม่บอกความจริงให้ประชาชนรู้ตัวเตรียมรับมือล่วงหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกด่ามากที่สุด
แต่...อย่าล้มรัฐบาลกรู
โชคดีของรัฐบาล คือในขณะที่ ศปภ.สอบตก กทม.ก็สอบไม่ผ่านเช่นกัน และในขณะที่รัฐบาลย่ำแย่ ปชป.ก็เล่นเกมการเมืองซ้ำเติม รวมทั้งพวกสลิ่มในเฟซบุค ทำให้คนสองสีที่เกลียดกันอยู่แล้วยิ่งเกลียดหนักเข้าไปอีก มวลชนเสื้อแดงที่น้ำท่วมมิดหัว หายใจผงาบๆ ก็ยังชูนิ้วกลางให้ ปชป.และชูนิ้วชี้เบอร์ 1 ให้ยิ่งลักษณ์ จะแย่ยังไงกรูก็ยังปกป้องรัฐบาลของกรู
ขอย้ำว่า กทม.ก็สอบไม่ผ่านนะครับ กทม.ทำอยู่อย่างเดียวคือประกาศเตือนประชาชนให้อพยพ ซึ่งก็อ่านสถานการณ์ง่ายแล้ว เพราะน้ำมาถึงลาดพร้าว สุทธิสาร สะพานควาย ของแหงๆ ว่าต้องไปถึงอนุสาวรีย์ชัย ที่เหลือนอกนั้น คุณชายสุขุมพันธ์ก็เอาแต่โวยวาย ศปภ.ไม่ให้ปล่อยน้ำเข้า กทม.แม้แต่หยดเดียว พอน้ำเข้าก็ไม่เห็นระบายได้ เดี๋ยวก็โวยเรื่องกระสอบทราย เดี๋ยวก็โวยเรื่องขอเครื่องสูบน้ำไม่ได้ คุณชายอาศัยแต่คันกั้นน้ำพระราชดำริเป็นหลังพิง แล้วก็ฝากความหวังกับอุโมงค์ยักษ์ (ที่สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ริเริ่ม) คูคลองใน กทม.ก็ใช่ว่าจะใช้การได้ดี บางแห่งไม่ได้ขุดลอกมาหลายปี บางแห่งยังแห้งผากอยู่เลย ขณะที่ตอนเหนือและฝั่งธนท่วมแทบตาย ศูนย์อพยพของ กทม.ก็ดูซิว่ามีใครเข้าพักสักกี่คน สภาพมันน่าพักซะเมื่อไหร่ ซ้ำน้ำท่วมขยะก็ลอยฟ่อง
การประเมินสถานการณ์ก็ใช่ว่า กทม.ถูก ศปภ.ผิด ก่อนหน้านี้ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำออกมาฟันธง “เอาหัวเป็นประกัน” น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ ป่านนี้ยังมีหัวติดตัวอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ
รัฐบาลต้องขอบคุณคนเหล่านี้ คืออภิสิทธิ์ สุขุมพันธ์ เอกยุทธ อัญชันบุตร สลิ่มเฟซบุค ตลอดจนบรรดาขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งมัลลิกา บุญมีตระกูล) ทีทำให้ฐานเสียงของตัวเองยังเหนียวแน่นด้วยความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม
เพื่อนผมรายหนึ่งธุรกิจฉิบหายหลายแสนไปกับน้ำท่วม โวยวายว่ารัฐบาลนี้เอาไว้ไม่ได้แล้ว ผมก็บอกว่ารัฐบาลทำงานห่วยจริง ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ หรือถ้าเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบแบบรีพับลิกันเดโมแครต ผมคงไล่รัฐบาลด้วย แต่ในสถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ การไล่รัฐบาลมันไม่มีคำตอบว่าจะได้สิ่งที่ดีกว่า เพราะหนึ่ง ไม่มีใครเอาประชาธิปัตย์ (เพื่อนผมก็ไม่เอา) และสอง พวกที่จ้องล้มรัฐบาลอยู่ตอนนี้ ไม่ได้ต้องการรัฐบาลที่ดีกว่าในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วไปสู่รูปแบบอื่นเสียมากกว่า
ผมจึงบอกง่ายๆ ว่าถ้าไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วมีวิถีทางดีกว่าที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ที่ไม่ใช่รัฐประหาร ที่ไม่ใช่รัฐบาลพระราชทาน ผมจะเอาด้วย แต่ตราบใดที่ไม่มีใครเสนอทางออกที่ดีกว่า ผมก็ไม่เอาด้วย ผมก็จำเป็นต้องสนับสนุนให้รัฐบาลทำงานต่อไป พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ให้ทำงานดีขึ้น
มันเป็นสภาพบังคับที่น่าเศร้าเหมือนกันนะครับ หายใจผงาบๆ อยู่ใต้น้ำ แต่ยังต้องชูนิ้วเบอร์ 1 กระนั้นเราก็อย่าปกป้องกันจนไม่ลืมหูลืมตา ต้องต่อสู้ความคิดกันด้วย อะไรที่ต้องด่ากันตรงๆ ก็ต้องด่า เราถึงจะแตกต่างจากพันธมิตร แตกต่างจาก ปชป.
สงครามการเมืองหลังน้ำลดจะยิ่งรุนแรงและแตกแยก เพราะต้องยอมรับว่าจะมีคนไม่พอใจรัฐบาลจำนวนมาก ถึงรัฐบาลยังอยู่ได้ ด้วยมือ ส.ส.เพื่อไทย และด้วยพลังเสื้อแดง แต่แรงเสียดทานจะหนักหนาสาหัส เช่นการแก้ พ.ร.บ.ระเบียบกลาโหม คงไม่ง่ายเมื่อเจอบทพระเอกมิวสิควีดิโอของกองทัพบก ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงต้องยืดเยื้อออกไป
รัฐบาลจะต้องเร่งยกเครื่องทำ “รีแพร์” ตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปช่วยผู้ประสบภัย เอาความตั้งใจจริงเข้าทดแทนความผิดพลาด (ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ยิ่งลักษณ์ยังได้คะแนนเห็นใจอยู่) หามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่น้ำท่วมอยู่ เช่น สั่งหยุดราชการและขอร้องให้เอกชนหยุด เพราะการไม่หยุดราชการทำให้คนพะวักพะวง บ้านน้ำท่วมอยู่ฝั่งธนยังต้องต่อรถ 3-4 ต่อมาทำงาน ดูแลการคมนาคม จัดรถเมล์ฟรี ทางด่วนฟรี (ไม่ใช่ฟรีแต่โทลเวย์ซึ่งขึ้นไปแล้วหาที่ลงไม่ได้มีแต่ลงน้ำ) เจ้าแห่งประชานิยมทำไมคิดไม่เป็น ตอนนี้อะไรฟรีได้ต้องฟรีให้เยอะเข้าไว้
แล้วที่สำคัญคือ การคิดเรื่องมาตรการฟื้นฟูชดเชยให้รอบด้าน เป็นธรรม อย่าทุ่มให้แต่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างเดียว (เสือกไปตั้งนิคมอุตสาหกรรมกลางทุ่งลุ่มต่ำก็ต้องรับกรรมบ้าง) ต้องคิดถึงทั้งเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนยากคนจน และคนกรุงคนชั้นกลาง นอกจากที่บอกว่าจะช่วย 30,000 บาท ยังควรมีมาตรการอื่นด้วย สมมติเช่น ลดภาษี ให้เงินกู้ซ่อมบ้านปลอดดอกเบี้ย เจรจาสถาบันการเงินยกเว้นส่งค่าผ่อนบ้านผ่อนรถชั่วคราว ควบคุมราคาวัสดุก่อสร้างหรือกระทั่งบีบลดราคา (ได้อยู่แล้วเพราะบริษัทพวกนี้จะมีกำไรมหาศาลหลังน้ำลด) ตลอดจนเก็บภาษีน้ำไม่ท่วมในรูปแบบของภาษีบ้านและที่ดินอัตราก้าวหน้า โดยระยะแรกยกเว้นให้คนถูกน้ำท่วมก่อน
รัฐบาลต้องตัดสินใจยกเลิกนโยบายประชานิยมเช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก (เปลี่ยนมาเป็นซ่อมรถ ซ่อมบ้าน) แต่ต้องคงไว้ในนโยบายสำคัญคือค่าแรง 300 บาท เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้คนยากคนจนฟื้นตัว ฟื้นกำลังซื้อ อย่ายอมตามแรงกดดันของภาคอุตสาหกรรม ส่วนนโยบายจำนำข้าว 15,000 หมดความหมายแล้ว เพราะน้ำท่วมข้าวเสียหายไปเยอะ ไม่ต้องจำนำข้าวก็แพงอยู่ดี
ข้อสำคัญที่สุดนะครับ คือต้องเก็บรับบทเรียนการบริหารสถานการณ์น้ำท่วมที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไปปรับปรุงการทำงาน เพราะขืนยังทำงานกันแบบนี้ ไปไม่รอดแน่ อย่าหวังแต่การปลุกมวลชนโทษโน่นโทษนี่อยู่อย่างเดียว
ใบตองแห้ง
7 พ.ย.54