ที่มา ประชาไท
เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2554 ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ จัดเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 2 ฉายหนังเรื่องผู้ก่อการร้าย (The Terrorists) กำกับโดย ธัญสก พันสิทธิวรกุล และเสวนาหลังฉายหนังหัวข้อ “ใครคือผู้ก่อการร้าย?” โดยมีธัญสก และคำ ผกา เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ชาญกิจ คันฉ่อง ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธัญสก พันสิทธิวรกุล และ คำ ผกา
ผู้ร่วมการเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 2
ในการเสวนาดังกล่าวธัญสกได้เล่าถึงแรงบันดาลใจการทำหนังเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นหนังสารคดีที่ตัดสลับระหว่างภาพโป๊กับภาพเหตุการณ์เมษา-พฤษภาเลือด 53 และคำ ผกา ได้อภิปรายต่อในประเด็นการสร้างวาทกรรมผู้ก่อการร้ายในบริบทสังคมไทย หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้ตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรอย่างน่าสนใจ Book Re:public สรุปประเด็นเสวนามานำเสนอแก่ผู้อ่าน หากท่านใดต้องการฟังเสวนาเต็มๆ สามารถเข้าไปรับชมที่ลิงก์ช่วงที่ 1
ช่วงที่ 2
ช่วงที่ 3
ช่วงที่ 4
ช่วงที่ 5
อะไรรุนแรงกว่ากันระหว่างการโดนยิงกับการชักว่าว?
ธัญสก พันสิทธิวรกุล เล่าว่าเขาเริ่มทำหนังเรื่องนี้โดยได้รับการทาบทามจาก Jürgen Brüning โป รดิวเซอร์ชาวเยอรมัน ซึ่งต้องการนำหนังของเขาไปฉายในเทศกาล Porn Film Festival แรกเริ่มเดิมทีเขาตั้งใจทำหนังให้ฝรั่งดูจึงออกแบบให้มีกลิ่นอาย exotic ที่ฝรั่งชอบ โดยทำเป็น documentary สัมภาษณ์นักมวยไทย ชาวประมง หมอนวด อย่างไรก็ตามเมื่อเขาเริ่มถ่ายฉากแรกคือฉากเรือประมง เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์10 เมษา 53 พอดี เขารีบกลับกรุงเทพฯ และได้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 10 เมษา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยร่วมกับสมาพันธ์ ศรีเทพและน้องเฌอ ต่อมาเมื่อทราบข่าวว่าน้องเฌอถูกยิงเสียชีวิตในช่วงสลายการชุมนุม เขาตัดสินใจเปลี่ยนเค้าโครงของหนังที่ทำอยู่ทันที
ธัญสกสารภาพว่าก่อนหน้านี้เขาไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองและตัวเขาก็เป็น เพียง “สลิ่ม” คนหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มสนใจ เขาหาข้อมูลด้วยการเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม ชื่อหนังผู้ก่อการร้ายนั้นมีที่มาจากบทสัมภาษณ์อภิสิทธิ์ที่พูดว่ากลุ่ม เสื้อแดงไม่ต่างจากอัล เคดา แล้วคุณจะปล่อยให้รัฐบาลอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร เขารู้สึกคับข้องใจกับข้อกล่าวหานี้จนลุกขึ้นมาเปลี่ยนโครงหนังของตัวเอง เพื่อตั้งคำถามกับมุมมองดังกล่าว
“ตั้งแต่งานแรกๆ ของผม ผมทำเรื่องโป๊มาตลอดเพราะผมต้องการต่อสู้กับรัฐเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าทำไมรัฐทนไม่ได้กับความโป๊ แต่กลับทนได้กับความรุนแรงแบบนี้ ผมต้องการตั้งคำถามว่าอะไรรุนแรงกว่ากัน ระหว่างการโดนยิงกับการชักว่าว”
คำ ผกา ให้ความเห็นว่า ส่งที่ธัญสกพูดเป็นเรื่อง pornography กับ การเมือง เป็นการท้าทายการเมืองด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมรัฐถึงทนความโป๊ไม่ได้ pornography ตามความหมายดั้งเดิมไม่ใช่แค่ความลามก วิตถาร อนาจาร แต่หนังสือปกขาวและหนังสือการเมืองซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามทั้งหมดก็เรียก ว่าเป็น pornography ด้วยเหมือนกัน
“ถามว่าทำไมเรื่องเพศจึงไปสั่น สะเทือนสถาบันทางการเมือง ก็เพราะว่ามันได้ทำลายฐานที่มั่นของ establishment ทั้งหมด ความจริงหนังโป๊โดยตัวมันเองโดยที่ไม่ต้องมีประเด็นทางการเมืองเลยก็ทำลาย establishment อยู่แล้ว นี่คือพลังของหนังโป๊ และเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรัฐที่มีความมั่นคงทางจิตใจน้อยเท่าไหร่ก็จะยิ่งหวาดกลัวความโป๊ ฉากเลิฟซีนที่ไม่ใช่ระหว่างชายหญิง ยิ่งเป็นเลิฟซีนระหว่างคนเพศเดียวกัน เลิฟซีนทางทวารหนักก็จะยิ่งสั่นสะเทือนความมั่นคงของรัฐมากขึ้นเท่านั้น”
คำ ผกาชี้ให้เห็นว่าความหวาดหวั่นต่อ pornography ของรัฐไทยที่ทวี ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นสะท้อนถึงความอ่อนแอของรัฐไทย รัฐที่มีความมั่นคงแล้วเช่นหลายๆ ประเทศในยุโรปที่ไม่มี insecurity ในเรื่องการเมืองก็จะไม่ค่อยซีเรียสเรื่อง pornography เพราะฉะนั้นจึงมี Porn Film Festival ได้ ซึ่งแง่หนึ่งเป็นตัวชี้วัดของความมั่นคงของ establishment ทางการเมืองในแต่ละสังคม
ตรรกะวิปริตกับจินตนาการที่ไปไม่พ้นโลกแบบฟิวดัล
เมื่อกลับมาพิจารณาคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” คำ ผกาเห็นต่างว่า คำว่าผู้ก่อการร้ายนั้นหรูหราเกินไป ทันสมัยเกินไป สำหรับใช้สร้างความเป็นอื่นให้กับคนเสื้อแดง เพราะว่าในสังคมไทย คนที่เสียงดังที่สุดในสังคมคือกลุ่มคนที่ถูกเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “สลิ่ม” ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ยอมลอกคราบออกมาจากโลกก่อนสมัยใหม่ไพร่ ทาส ศักดินา หรือระบบฟิวดัล และในระบอบฟิวดัลย่อมไม่มีผู้ก่อการร้าย
เรื่องเล่าที่กักขังสลิ่มเอาไว้ในโลกแบบฟิวดัลคือประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ที่นิพนธ์ขึ้นมาเพื่อสถาปนาอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ความเป็นไทย (Thainess) ที่สร้างโดยชนชั้นนำที่พยายามรวมอาณาจักรสยามผ่านระบบ อาณานิคม ตั้งระบบราชาของราชาในภูมิภาคขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้ สลิ่มไทยจึงคิดได้แค่เรื่อง “เสียดินแดน”, “เสียกรุงครั้งที่ 1”, “เสียกรุงครั้งที่ 2” เมื่อคิดได้แค่นี้ วาทกรรมเรื่องผู้ก่อการร้ายจึงไม่มีพลังเท่ากับวาทกรรมว่าด้วย “พวกเผาบ้านเผาเมือง” อันส่อนัยของการเป็นพม่า หรือวาทกรรมว่าด้วยพระยาละแวก กษัตริย์เขมรที่ทรยศต่ออาณาจักรไทย กรณีความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและฮุนเซ็นจึงมีค่าเท่ากับพระยาละแวก
เมื่อเป็นเช่นนี้ การสร้างความเป็นอื่นหรือการสร้างศัตรูจึงอิงอยู่กับประวัติศาสตร์ว่าด้วย การเสียกรุงฯ เสมอมา แม้กระทั่งน้ำท่วมครั้งนี้ก็มีการเปรียบเปรยว่าเหมือนเสียกรุงบ้าง กรุงแตกบ้าง เหมือนสงครามอินโดจีนที่ต้องอพยพบ้าง ล่าสุดมีการเปรียบเปรยชะตากรรมของชาวกรุงเทพฯ ว่าน่าเห็นใจ ปีที่แล้วต้องอพยพหนีไฟ ปีนี้ต้องอพยพหนีน้ำ ราวกับทั้งน้ำและไฟคือ “ข้าศึก” ไฟปีที่แล้วคือข้าศึกเสื้อแดง (ซึ่งถูกเชื่อมโยงให้เห็นภาพพม่า) และน้ำปีนี้ก็คือข้าศึกพม่า (ซึ่งถูกเปรียบว่าเท่ากับพรรคเพื่อไทย)
คำ ผกา ตั้งคำถามว่าตรรกะวิปริตนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และอธิบายว่าเป็นเพราะสลิ่มไทยถูกสต๊าฟทางปัญญาให้อยู่ในสยามศตวรรษที่ 19 ตลอด เวลา ดังนั้นจึงชอบใช้ภาษาลิเกซาบซึ้ง มี mentality อยากเป็น subject (ไพร่) ของรัฐอาณานิคม แม้ในความเป็นจริงเป็นไม่ได้ก็ขอเป็นในจินตนาการ โดยผ่านการใช้ “ภาษา” เป็นสะพาน ด้วยการเข้าไปนับญาติหรือสมมติตนเองเป็น “ข้ารับใช้” จำลองบทสนทนาของข้ารับใช้ในหนังจักรๆ วงศ์ๆ หรือละครที่จำลองภาพชีวิตขุนนางที่มีข้าเก่าเต่าเลี้ยงเยอะๆ สลิ่มจะสวมเอาบทสนทนาของ “ข้า” เหล่านั้นมาผูกเรื่องแทนตนเองเข้าไป โดยมี “นาย” อยู่ในจินตนาการ จากนั้นจะใช้ social media สร้าง collective drama เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายกับข้าขึ้นมาเป็น identity ร่วมกัน เกลียดร่วมกัน รักร่วมกัน มีศัตรูร่วมกัน มีสิ่งที่จะพลีศีรษะให้ร่วมกัน หรือแม้กระทั่งเอาตัวเองไปเป็นกระสอบทรายมนุษย์ร่วมกัน
โดยข้อพิสูจน์ว่าสลิ่มยังไม่สามารถไปไกลถึงขั้นมองเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการ ร้ายได้คือ สลิ่มยังมีความเชื่อว่าน้ำท่วมเพราะมีผู้นำหญิง น้ำท่วมเหนือกับอีสานเพราะธรรมชาติลงโทษคนเสื้อแดง แต่พอน้ำท่วมกรุงเทพฯ กลับให้เหตุผลว่าเป็นเพราะพระสยามเทวาธิราชย์ไม่รับรองรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ชุดนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลของคนเสื้อแดง และคนเสื้อแดงเอาเลือดมาเทในกรุงเทพฯ ทำให้พระแม่ธรณีโกรธ มโนทัศน์เช่นนี้เป็นมโนทัศน์ของโลกก่อนสมัยใหม่ที่ยังเชื่อว่าโลกแบน แม่มด เวทมนต์คาถามีจริง ซึ่งเป็นโลกยุคก่อน “ผู้ก่อการร้าย”
กล่าวโดยสรุป คำ ผกา เสนอว่าคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ในบริบทสังคมไทย ไม่ได้มีความหมายเดียวกับคำว่า “Terrorist” ใน ระดับสากล แต่หมายถึงผู้ที่ “ก่อการร้าย” ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในจินตนาการของคนส่วนใหญ่ที่จินตนาการถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แบบฟิวชั่น คือการผสมประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บวกหลวงวิจิตรวาทการ บวกคึกฤทธิ์ ปราโมช บวกหนังพระนเรศวร บวกละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ฉายตอนเช้าของช่องเจ็ด บวกหนังจีนกำลังภายในที่มีฮ่องเต้ มีขันที มีซูสีไทเฮา