ที่มา ประชาไท
ที่มาของคลิป: BookRepubliconTV/youtube.com
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ ได้จัดเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยช่วงการอภิปรายโดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้ชี้ว่า ข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่คุณมนตรีและอาจารย์อภิชาตได้กล่าว ถึงปัญหาการบริหารน้ำที่เกิดขึ้น การประเมินน้ำที่มันมีปัญหา และนำมาสู่การกักเก็บน้ำไว้เยอะเกินไป ปล่อยช้าเกินไป รวมถึงปัญหาของเทคโนแครตที่คุมอำนาจในการตัดสินใจเหล่านี้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเราก็ได้ยินเรื่องนี้มามาก มีผู้เชี่ยวชาญน้ำปรากฏกายขึ้นโดยที่เราไม่คิดว่าจะมีมากขนาดนี้ หลายคนอยู่นอกภาคส่วนราชการแต่ว่าไม่มีโอกาสได้เข้าไปให้ความเห็น
"แต่ว่าข้อมูลเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงโครงสร้างการจัดการน้ำ ทั้งระบบ ไม่ได้ส่งผลต่อการมองปัญหาของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางทุกวันนี้มุ่งแต่โจมตีรัฐบาลมากกว่า ต่อให้เกิดโศกนาฏกรรมมากกว่านี้ ก็ไม่สามารถลดความขัดแย้งที่มีอยู่ได้ และอันนี้กำลังเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย"
ภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ ว่าภัยพิบัติเหล่านี้มันไม่เคยถูกใช้เป็นการเมือง มันไม่เคยถูกฉวยใช้ในการทำลายรัฐบาลเพื่อเป้าหมายของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม เหมือนประเทศไทย ดูภัยพิบัติน้ำท่วมที่กัมพูชา คนเสียชีวิตถึง 257 คนและมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 1.2 ล้านคนซึ่งสูงมากสำหรับประเทศเล็กที่มีประชากร 15 ล้านคน ที่ฟิลิปปินส์ เสียชีวิต 43 คน เวียดนามเสียชีวิต 57 คน
ประเทศอื่นก็มีปัญหาภัยพิบัติเหมือนกัน แต่ไม่เห็นกระแสการโจมตีรัฐบาล เหมือนในไทย ยกตัวอย่างกรณีการเกิดเฮอร์ริเคนแคทรีนา (Hurricane Katrina)ที่ อเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2548 มีจำนวนคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นรัฐบาลจอร์จ บุชถูกโจมตีจากชาวบ้าน สภาคองเกรส และสื่อมวลชนอย่างมาก ถึงความล้มเหลวในการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ความผิดพลาดของรัฐบาลที่เป็นเรื่องที่แย่มาก เช่น ผู้การมลรัฐไม่สั่งให้มีการอพยพคนออก ทั้งๆ ที่มีรถขนคนอยู่มากเนื่องจากคนขับรถไม่พอ และรถไม่มีประกันครอบคลุมชาวบ้านเท่านั้นเอง หรือตัวประธานาธิบดีเองที่ระหว่างเกิดเรื่องอยู่ในระหว่างพักร้อนที่เท็กซัส กว่าจะตัดสินใจบินกลับวอชิงตันใช้เวลาเกือบสองวันทำให้ถูกโจมตีว่าทำไมใจ เย็น ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง แต่การโจมตีเหล่านี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลบุช
ที่กล่าวไปไม่ได้หมายความว่าจะ วิจารณ์รัฐบาลไม่ได้ คิดว่าวิจารณ์ได้แต่ต้องแบ่งเป็นเรื่องๆ เช่น ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มีปัญหาคืออะไร และตรงไหนบ้างที่เป็นปัญหาที่ค้างสะสมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ ใช่การโยนความผิดทั้งหมดให้รัฐบาล รัฐบาลไทยหลายรัฐบาล (ไม่ใช่แค่รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ไม่มีการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ ฝรั่งมีการเตรียมรับมือกับหายนะทั้งจากมนุษย์และธรรมชาติเมื่อมีการเตรียม พร้อม จึงมีการประเมินและเตรียมความพร้อม เช่น ประเมินว่าภัยพิบัติแบบนี้คนจะได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ต้องเตรียมอาหาร ที่พักพิง เท่าไหร่ แต่ของเราไม่มี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องเสนอตัวเองเป็นที่พักพิง ผู้อพยพก็ต้องไปนอนเรียงกันในโดม ความเป็นส่วนตัวก็ไม่มี อาหารก็ต้องอาศัยชาวบ้านเข้ามาช่วยกัน ทั้งๆ ที่หลายปีก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็เริ่มเจอภัยพิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไม เราไม่เคยมีระบบที่จะรับมือกับภัยพิบัติ
ด้านประเด็นทางการเมือง อย่างที่อาจารย์อภิชาตได้กล่าวไปว่า เมืองหลวงไม่ควรถูกน้ำท่วม เพราะต้นทุนสูง มันก็จริง แต่นั้นเป็นการมองแบบทุนนิยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มีสองกระแส คือเมืองหลวงท่วมไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง แต่อีกส่วนหนึ่งก็บอกว่าให้ท่วมหน่อยก็ได้
"กระแสของคนที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะมีความคิดต่อต้านรัฐบาลซึ่งวางอยู่บนฐานของความไม่แน่ใจว่าจะท่วมมาก เท่าไหร่ รุนแรงแค่ไหน ยิ่งรัฐบาลรู้สึกถึงกระแสต่อต้านมากเท่าไหร่ เขาก็ต้องพยายามที่จะไม่ยอมให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ และพยายามบอกคนกรุงเทพฯ ตลอดเวลาว่าเอาอยู่ แต่ในความเป็นจริงมันเอาไม่อยู่ มันกั้นไม่ได้"
ปัญหาคือทำไมรัฐบาลจึงอยู่กับความกลัว และให้ข้อมูลแบบไม่ชัดเจนนั่นก็เป็นเพราะรัฐบาลกลัวคน กทม.ต่อต้านรัฐบาล แต่สำหรับตนคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเปลี่ยนไปถ้าการเมืองบ้านเราไม่เป็นแบบ นี้ ถ้าการเมืองไม่แตกเป็นขั้ว ความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของกทม.และรัฐบาลก็จะมีมากขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าหน่วยงานเหล่านี้ประกาศว่าจะท่วมแค่ไหน อย่างไร และให้ยอมรับความเป็นจริงที่เป็นอยู่ คนกรุงเทพฯอาจจะทำใจรับสถานการณ์น้ำท่วมได้มากกว่านี้ แต่ขณะนี้มันมีความรู้สึกว่ารับไม่ได้
กระแสต่อต้านรัฐบาลเริ่มต้นจากคนทั่วไปโดยเฉพาะคนที่เข้าถึง Social media โดย มุ่งโจมตีที่ตัวรัฐบาลและตัวบุคคลที่เป็นนายกฯ และในสองวันนี้เริ่มเห็นการฟื้นวาทกรรมเรื่องนักการเมืองเลวกลับขึ้นมาอีก ครั้งหนึ่ง โดยผ่านฟอร์เวิร์ดเมล์บทความของสำนักข่าวเอพี ที่รายงานถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงที่ทรงเห็นปัญหาล่วงหน้า แต่ก่อนที่จะเข้าถึงบทความอันนี้ คนส่งเมล์ได้เขียนข้อความว่า...
"นี่คือความจริงที่คนไทยทุกคนควรทราบ และเป็นนโยบายที่รัฐบาลทุกรัฐบาลควรดำเนินตาม แม้จะสายไปแล้ว แต่ก็ควรน้อมนำมาเป็นแนวเดินให้ใกล้เคียง มิฉะนั้นก็ต้องย้ายเมืองหลวง น้ำท่วมครั้งนี้วิกฤตนัก และวิกฤตยิ่งกว่าที่อื่นใดในโลกจริงหรือไม่ และพวกเราทุกคนมีส่วนที่ทำผิดในเรื่องนี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเกิดจากการลงมติเลือกและอยู่ทำงานพร้อมคอร์รัปชั่น ไปด้วย ในท่ามกลางความเพิกเฉยไม่ควบคุมพฤติกรรม ปล่อยให้อยู่รอดไป ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ ด้วยคิดว่า 15 วินาทีที่หย่อนบัตรเลือกตั้ง เป็นการทำหน้าที่ที่พอแล้วสำหรับพลเมืองดี พอหรือยังพี่น้อง ตระหนักหรือยังว่าการเมืองคือเรื่องของคนที่เบื่อไม่ได้ ต้องสละเวลาและจิต ใจ กาย มามีส่วนร่วมเพื่อบ้านเมืองของเราอย่างใกล้ชิดตลอดไป อย่าเห็นแก่ตัวจนเกินไป ถ้าไม่อยากลำบากยากเข็ญเช่นนี้อย่างซ้ำๆ ซากๆ"
ข้อความอันนี้สะท้อนให้เห็น ว่า นอกจากจะไม่ยอมรับระบบการเลือกตั้งแล้ว กำลังระดมคนให้ออกมาต่อต้านการเมืองระบบเลือกตั้งอีกครั้งจากกระแสน้ำท่วม ครั้งนี้ นี่เป็นอันตรายของการเมืองไทยครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะวนเวียนอยู่กับการเมืองในสองขั้วนี้