WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, November 12, 2011

สัมภาษณ์ 'มหรรณพ โฉมเฉลา' กับนวนิยายเล่มใหม่ 'ในอ้อมกอดกาลี' มีสิ่งใดซ่อนอยู่?!

ที่มา ประชาไท

‘มหรรณพ โฉมเฉลา’ นักเขียนผู้เงียบหายไปจากแวดวงวรรณกรรมเกือบสิบปี พาชีวิตออกจากเมืองใหญ่ไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านสวนที่ตูบตีนดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งในปีนี้ เขาได้ผลิตงานนวนิยายเรื่องใหม่ 'ในอ้อมกอดกาลี'


มหรรณพ โฉมเฉลา และปกหนังสือ 'ในอ้อมกอดกาลี'
เมื่อเอ่ยชื่อ'มหรรณพ โฉมเฉลา' แวดวงวรรณกรรมส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้นชื่อนี้กันดี เขาเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงปี 2535 เป็นต้นมา เมื่อเรื่องสั้น 'เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก' ได้รับการประดับช่อการะเกด จากบรรณาธิการ 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' ส่งผลให้เขามั่นอกมั่นใจในการก้าวย่างบนเส้นทางสายนี้มากขึ้น
ในปี 2539 หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขาก็กำเนิดออกมา ในชื่อชุด 'เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก' โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า
ในปี 2542 หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่สอง ชุด 'บ่ายหอยทาก' โดยสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์
ในปี 2545 เขามีหนังสือรวมเรื่องสั้น 'ศรีนวลกับผัวเทวดาผู้ถูกสวรรค์ทิ้ง' โดยสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์ และในปีเดียวกัน เขายังมีหนังสือนวนิยายเล่มแรกออกมา ในชื่อ 'สาวงามตาบอดทั้งสิบสอง' โดยสำนักพิมพ์เรือนปัญญา
หลังจากนั้น เขาได้เงียบหายไปจากแวดวงวรรณกรรมเกือบสิบปี เมื่อพาชีวิตออกจากเมืองใหญ่ไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านสวนที่ตูบตีนดอยหลวงเชียง ดาว จังหวัดเชียงใหม่
กระทั่งในปีนี้ เขาได้ผลิตงานนวนิยายเรื่องใหม่ 'ในอ้อมกอดกาลี' โดยสำนักพิมพ์มติชน ขึ้นมา ด้วยชื่อเรื่องแปลกและชวนฉงน เช่นเดิม
แน่ละ ย่อมทำให้หลายคนชวนคิดกันต่อว่า มีสิ่งใดซ่อนอยู่ ในอ้อมกอดกาลี?!
ห่างหายจากแวดวงวรรณกรรมไปเสียนาน ชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงไปมากไหม หลังจากหลุดจากวงโคจรของเมืองใหญ่ ไปอยู่อาศัยที่เมืองดาว?
หลังจากเขียนนวนิยายเรื่อง 'สาวงามตาบอดทั้งสิบสอง' ก็ขาดช่วงไปนานเหมือนกันนะ มีบทความสองสามชิ้น มีงานสารคดีรับจ้างสี่ห้าชิ้น งานที่จัดเป็นวรรณกรรมก็มีเรื่องสั้นชื่อ เก้าอี้หวาย ในช่อการะเกด 51 เป็นนักเขียนเทียบเชิญ ที่เงียบไปมันเป็นช่วงกำลังย้ายตัวเองมาอยู่เมืองเหนือ... คงเหมือนต้นไม้นะ เวลาย้ายที่ปลูกต้องมีเวลาหยั่งรากพอสมควร ตอนนี้ก็เริ่มออกผลแล้ว กำลังทยอยๆ สุกที่เชียงดาวนี่ ผมเลือกมาอยู่เพราะมันเป็นอำเภอเล็กๆภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี คนส่วนใหญ่ยังน่ารักจิตใจดี
ตอนย้ายมาอยู่เชียงใหม่แรกเลยนะ ผมอยู่ในเมืองประมาณเกือบสามปี มันก็เป็นเมืองใหญ่ วุ่นวายน้อยกว่าในกรุงเทพฯ เยอะ แต่ก็ยังวุ่นอยู่ดี มีวันหนึ่งขี่รถมอเตอร์ไซค์มาเที่ยวหาเพื่อนนักเขียน (ก็คนสัมภาษณ์นี่แหละ) เห็นดอยหลวงเชียงดาวแล้วอื่ม...ทึ่งในความงาม ถึงจะเป็นภูเขาที่สูงเป็นอันดับสามของประเทศ แต่เด่นกว่าใคร
เพราะดอยอื่นที่สูงกว่า อย่างดอยอินทนนท์นั่นมันอยู่ในเทือกเพื่อนพ้องพี่น้องของมันเกื้อหนุนกันแต่ ดอยหลวงเชียงดาวนี่ดูเหมือนจะผุดขึ้นมาสูงคนเดียว โดดเดี่ยว แต่สง่างาม ผมชอบ คุยกับฝน (รวิวารโฉมเฉลา ภรรยา-นักเขียน) ว่าที่นี่น่าจะลงตัวที่สุดสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ไกลจากเชียงใหม่นัก และไม่ใกล้จากบ้านแม่ฝนที่อำเภอแม่อาย เรียกว่าเป็นจุดครึ่งทางระหว่างแม่อายกับตัวจังหวัดเชียงใหม่ เราเริ่มหาที่ดิน แล้วก็สร้างบ้านกัน บ้านก็ค่อยต่อค่อยเติมไปเรื่อยๆ ตามสภาพความคล่องของการเงิน โชคดีที่ได้แม่ฝนและเพื่อนๆใจดีหลายคน ให้หยิบยืมเงินโดยไม่คิดดอก และไม่เคยเอ่ยปากทวงเลย พวกเราจึงได้อยู่ที่นี่
มองโลก มองสังคม มองดูผู้คนในยุคสมัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง เปลี่ยนแปลงไปมากไหมในสายตาของคุณ?
หลายปี ในช่วงที่ผมย้ายมาที่เชียงดาว ผมไม่ได้ปลีกวิเวกเหมือนพระ เหมือนนักบวช เราสะเทือนกับการเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์บ้านเมือง สังคมไทย...อยู่ที่นี่ผมเห็น ผมคุยกับชาวบ้าน สัมผัสความรู้สึกของผู้คน ผมเห็นพัฒนาการหลายๆ อย่างในทางที่ดีที่เลว แต่ที่น่าสังเกตคือทางการเมือง
เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านไม่ใช่ตาสีตาสาอย่างแต่ก่อน อย่างน้อยที่สุดเขารู้ว่า อะไรเป็นประโยชน์ และต้องการอะไรที่สำคัญ ชาวบ้านพร้อมจะตะโกนเรียกร้องหาความเป็นธรรม ตัวผมเองเป็นชนชั้นกลาง ติดสันดานแบบชนชั้นกลางในเมืองแก้ไม่หาย ออกมาอยู่บ้านนอกกับการไม่มีเงิน ไม่มีเครดิตนี่แหละครับ ถึงได้ทุเลาไปบ้าง ผมไม่ชอบทักษิณ หมั่นไส้วิธีการฉลาดแกมโกงความโฉ่งฉ่าง ปากเบาและอีกหลายเรื่อง รู้สึกคลื่นไส้ทุกทีที่ได้ยินชาวบ้านพูดถึงทักษิณ วันที่ทหารยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยายน ปี 2549 เพื่อนคนหนึ่งโทร.มาถามว่า ดีใจไหม สะใจไหม ที่ทักษิณถูกถีบออกจากอำนาจ ผมกลับรู้สึกอยากร้องไห้มากกว่า ไม่คิดเลยว่าบ้านเมืองเราจะกลับไปป่าเถื่อนเหมือนเดิม ตั้งแต่ผมเกิดมานี่มีรัฐประหารและความพยายามทำรัฐประหารเกือบสิบครั้ง มากไปหรือเปล่า ยังมีคนคิดว่าวิธีนี้ชอบธรรมอยู่อีกหรือ คิดได้ไง
เอาล่ะหลายปีผ่านไป มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้ง ผมไม่ได้ปลื้มกับรัฐบาลสองรัฐบาลของฝ่ายทักษิณ โดยเฉพาะนายสมัคร แต่การสมคบกันปล้นอำนาจ ตั้งแต่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ถึงวิธีการตุลาการภิวัฒน์ จนได้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เทพประทาน ที่ตั้งกันในค่ายทหาร ผมก็สุดจะรับ
ประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมได้เป็นรัฐบาลสองปีหลักการประชาธิปไตยอยู่ที่ ไหน หลักการเละเทะ มีโกง มีทุกอย่างที่เคยด่าเขาเอาไว้ ที่ตั้งอกตั้งใจทุ่มเททำกันเป็นล่ำเป็นสัน คือกำจัดทักษิณและเสื้อแดง ทำถึงขนาดใช้ทหารมาปราบม็อบแบบนองเลือด ฆ่าไม่เลือกหน้า และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ทำกันถึงขนาดนี้แล้วก็ยังโค่นทักษิณและพวกเสื้อแดงไม่ลง เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าขัดขวางความต้องการของประชนส่วนใหญ่ ไม่ได้ เลิกดูถูกชาวบ้าน เลิกคิดใช้วิธีโกงๆ โหดๆ มากำจัดสิ่งที่ตัวเองคิดเอาเองว่าชั่วร้ายกว่าได้แล้ว เอานโยบายโชว์ สู้กันกับฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามก็ประกาศตัวไป อย่าอ้อมๆ แอ้มๆ ต้องชัดเจน จะเป็นสังคมนิยมก็เอา จะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้ จะเป็นเสรีนิยมเดินหน้าทุนนิยมเต็มตัวก็ว่ามา
กฎหมายล้าหลัง หรือรัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ ให้เปิดกว้างกับทุกความคิดทางการเมือง ให้ทุกฝ่ายมายืนอยู่ในที่แจ้ง อยู่กลางสนาม สู้กันในเกม ในกติกา ในสายตาผู้คน มันสง่างามกว่า และทุกอย่างจะเป็นไปตามความต้องการของประชาชนเท่านั้นประชาชนจะเลือกเอง ที่สำคัญต้องเชื่อมั่นและยอมรับในเสียงส่วนใหญ่ เราจะได้เป็นประเทศประชาธิปไตยจริงๆ เสียที
ไม่เอาแล้วแบบไทยๆ
เพราะการมองโลก มองสังคม มองการเมือง มองชีวิตจิตใจผู้คนแบบนี้หรือเปล่า จึงนำมาสู่การเขียนนวนิยาย 'ในอ้อมกอดกาลี' เล่มนี้?
ในอ้อมกอดกาลีเป็นการเขียนเลียน รหัสคดีนะมันเดินเรื่องแบบนิยายสืบสวนสอบสวน แต่ปมของมันไม่ได้แค่สนองความบันเทิงอย่างรหัสคดีทั่วไปที่มุ่งให้คนอ่าน แปลกใจ สยองกับฆาตกรรมอำพรางและติดตามไปจนถึงจุดคลี่คลายของเรื่อง ปมของเรื่องนี้ ไม่ได้ถูกคลี่คลายให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่เลือนไป ด้วยปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติ และพลังเหนือธรรมชาติ
ประเด็นใหญ่มันเป็นเรื่องของอำนาจ และปฏิสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับอำนาจ ตัวละครแต่ละตัวมีปฏิกิริยาต่ออำนาจไปคนละแบบ อำนาจที่ผมพูดถึงในเรื่องไม่ใช่แค่อำนาจรัฐที่ผ่านมาทางผู้ถือกฎหมายเท่า นั้น ยังหมายถึงอำนาจทางวัฒนธรรมอำนาจทางเศรษฐกิจ
อำนาจเหล่านี้ใช้จัดการกับผู้ด้อยโอกาส ด้อยอำนาจ แต่มักจะอ้างความหวังดี อ้างกฎระเบียบ อ้างความมั่นคง อ้างประเพณี อ้างโบราณ ที่เอาเข้าจริงไอ้คนอ้างนั่นแหละที่ปากว่าตาขยิบ ไอ้อะไรพวกนี้ ถ้ามันครอบงำ กรอกหูเราด้วยคำตอแหล และกระชับ กอดเราแน่นมากเท่าไหร่ มันก็เป็นอ้อมกอดมรณะเราดีๆ นี่เอง ผมกำลังอึดอัดกับไอ้อ้อมกอดแบบนี้และเชื่อว่าหลายคนก็คงอึดอัด
บางฉาก บางเหตุการณ์ บางเรื่องราวในเรื่องได้กลิ่นอาย เหมือนอวลอยู่ในบรรยากาศท้องถิ่นทางเหนือเลย?
แน่ละสิ ผมใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่ผมอยู่หลังจากใช้ชีวิตและซึมซับบรรยากาศภาค เหนือมาแล้วหลายปี ถ้าสังเกต เรื่องของผมส่วนใหญ่จะเกิดในท้องถิ่นที่เป็นชนบท เพราะผมชอบชนบทมากกว่าเมือง ทั้งที่ผมเกิดที่กรุงเทพฯ โตขึ้นมาในกรุงเทพฯ เรียนอยู่ในกรุงเทพฯ ผมเห็นว่าเมืองมันมีหลืบเงาที่อธิบาย หรือบรรยายได้ยาก มันซับซ้อนกว่า ในชนบทพอกวาดตามองเราก็จะเห็นชัดเจน แต่จะว่าไป ตอนนี้บ้านนอกก็ชักจะซับซ้อนมากขึ้นทุกทีเหมือนกัน
เห็นปูพื้นตัวละครไว้ละเอียดมาก...บางครั้งดูเหมือนมากไปหรือเปล่า?
คิดไว้ว่าตัวละครอย่างจ่าแสวง จะได้แสดงบทต่อไปครับ จะมีอ้อมกอดกาลี ภาค 2 ภาค 3 จะได้เห็นว่าอำนาจกาลีนั้น แสดงพลังอำนาจครอบงำร้ายเพียงไหน คงเป็นต้นหรือกลางปีหน้า น่าจะเขียนภาค 2 เสร็จ
คุณคิดว่า นักเขียนที่มีชื่อแล้วผลิตงานออกมาใหม่ในแต่ละครั้ง ในแต่ละเล่มนั้น ทำให้รู้สึกว่ายากหรือกดดันมากกว่าเดิมหรือเปล่า?
นักเขียนมีชื่อ หรือไม่มีชื่อ ผมคิดว่าเราจะเจอความยาก หรือความกดดันพอๆ กันนั่นแหละครับโดยเฉพาะนักเขียนแนวสร้างสรรค์ ตอนเริ่มเขียนเรื่องใหม่ ความชำนาญจากเรื่องก่อนๆ ที่เขียนมาก็ช่วยอะไรเราได้น้อยมาก เราต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่งั้นคงไม่เรียกว่าสร้างสรรค์ แต่ถ้าหมายถึงความกดดันจากชื่อเสียง ตัวผมก็ยังไม่รู้ครับ เพราะไม่ใช่นักเขียนมีชื่อเสียงโด่งดังเท่าไหร่
คุณมองนักเขียนไทยในปัจจุบันนี้ ว่ามีพัฒนาการและแตกต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง?
เสียดายช่วงหลังมานี่ ไม่ค่อยได้ติดตามเพื่อนนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เพราะเศรษฐกิจไม่อำนวยให้ซื้อหนังสืออ่านมากนัก แต่ถ้ามีโอกาสก็จะอ่านครับ แล้วก็น่าเสียดาย ตอนนี้คอลัมน์วิจารณ์หนังสือหายไปไหนหมด ผมอยากจะได้ไกด์นำอ่านบ้าง นักวิจารณ์ไปไหนหมดครับ กรุงเทพฯ ได้เป็นเมืองหนังสือโลกหานักวิจารณ์หนังสือดีๆ มาประดับไว้สักสี่ห้าคนสิครับไม่งั้นจะกลายเป็นเมืองกระดาษเปื้อนหมึกโลกนะ ครับ
เพราะบรรยากาศท้องถิ่นชนบทเป็นใจ ทำให้คุณกำลังซุ่มผลิตงานชิ้นใหม่อยู่ใช่ไหม?
ใช่ ตอนนี้ผมมีนวนิยายหลายเรื่อง เรียงแถวกันจะออกมา ขอเวลาเงียบๆ สงบๆ ผมอยากเขียนตลอดเวลานั่นแหละ
มาถึงตอนนี้ ชีวิตคุณยังมีความคิดฝันอยากทำอะไรอีกบ้าง?
ความคิดความฝันของผมคือ ได้เขียนหนังสือดีๆหลายๆ เล่ม ได้อ่านหนังสือดีๆ อีกหลายๆ เล่ม กินเหล้าดีๆ อีกหลายๆ แก้ว ผมไม่ฝันจะไปหาทางสงบเข้าวัด เข้านิพพานอะไรกับเขาหรอก ผมรักชีวิตแบบมนุษย์ครับ ผมมีกิเลส แล้วก็รักกิเลส อ้อ...อีกอย่างผมอยากบินได้ บินครับ บินเงียบๆ ร่อนไปเหมือนเหยี่ยว บอกกับเมียว่า ถ้ามีเงินจะซื้อ แฮงก์ไกลเดอร์ แล้วร่อนลงมาจากดอยหลวง
แค่นี้แหละครับฝันของผม.
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 4-10 พฤศจิกายน 2554