ที่มา มติชน
ชื่อของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ไม่เคยห่างหายจากแวดวงการเมืองไทย
ล่าสุด“อาจารย์โกร่ง”ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)
และประกาศว่าต่อไปประเทศไทยต้องไม่เผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่แบบครั้งนี้อีก
“และจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ชั่วกัลปาวสาน จะลงทุนเท่าไรก็ต้องทำต้องยอม เพราะความเสียหายครั้งนี้หนักหนาสาหัสมาก”
”อาจารย์โกร่ง”ในวัย 68 ปี ประกาศว่านี่คือ ภารกิจเพื่อชาติครั้งสุดท้ายของเขา
และนี่คือ 7 เรื่องน่ารู้ของ”อาจารย์โกร่ง”
.........................
1.เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเมืองไทยมานานกว่า 30 ปี
เริ่มตั้งแต่เป็น”ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ”สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2523-2531
เป็นที่ปรึกษาคนเดียวที่”ป๋าเปรม”เอ่ยปากชมในวันอำลาตำแหน่ง
และหากเป็นเรื่องสำคัญทางเศรษฐกิจ “ป๋าเปรม”จะมอบให้หมายให้”อาจารย์โกร่ง”เป็นคนอธิบายกับสื่อมวลชน
หลังจากนั้นเคยมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี
เป็นประธานบอร์ดและที่ปรึกษาบริษัทเอกชนหลายแห่ง
แต่ตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดคือ “อาจารย์โกร่ง”
และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนหนึ่งที่สังคมไทยต้องเงี่ยหูฟังความเห็น คือ “อาจารย์โกร่ง”
2. “9,000 บาท” คือ เงินเดือนสุดท้ายของ”อาจารย์โกร่ง”วันที่พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
ปี 2531 เงินเดือนคนจบปริญญาตรีประมาณ 5,000 บาท แต่”ที่ปรึกษานายกฯ”ที่ภาพภายนอกใหญ่เหลือเกินในยุคนั้นมี เงินเดือนมากกว่านักศึกษาจบใหม่ไม่ถึงเท่าตัว
วันนั้นเขามีอายุ 45 ปี
“อาจารย์โกร่ง”เคยบอกว่าช่วงนั้นถือเป็นการเสียสละเพื่อชาติ
และเมื่อเขาก้าวเข้าสู่ภาคเอกชน สำหรับคนที่เคยรับเงินเดือนแค่ 9,000 บาท “อาจารย์โกร่ง”เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่ารายได้จากการทำงานภาค เอกชนจะมากมายเพียงนี้
23 ปีผ่านไป เงินเดือนในตำแหน่งประธานบอร์ดของ”อาจารย์โกร่ง”เพียงบริษัทเดียวอาจมากกว่าเงินเดือน”ที่ปรึกษานายกฯ”ในวันนั้น
....100 เท่า
3.มีเพียงครั้งเดียวที่”อาจารย์โกร่ง”เต็มใจเป็น”รัฐมนตรี”
ดร.วีรพงษ์ เคยรับตำแหน่งบริหารเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 3 รัฐบาล คือ รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุน และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
แต่มีเพียงครั้งเดียวที่เขาเต็มใจ คือ ตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยพล.อ.ชาติชาย
เพราะอยากได้บทเรียนด้านปฏิบัติบ้าง
นอกจากนั้นเป็นเรื่องของ”ความจำยอม”
โดยเฉพาะครั้งที่รับตำแหน่ง”รองนายกรัฐมนตรี”สมัย พล.อ.ชวลิต
“อาจารย์โกร่ง”ได้รับโทรศัพท์จาก”บิ๊กหมง”พล.อ.มงคล อัมพรพิสิษฐ์ ในขณะที่ประชุมสภาฯวิจัย ก่อนจะพาไปพบ”ป๋าเปรม”
และ”ป๋าเปรม”เป็นคนขอให้”อาจารย์โกร่ง”รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ด้วยเหตุผลว่าเมื่อประเทศมีปัญหา ต้องช่วยชาติ
4.”อาจารย์โกร่ง”คุ้นเคยกับ”พันศักดิ์ วิญญรัตน์”มาตั้งแต่”พันศักดิ์”ทำนิตยสารจตุรัส
และเมื่อ”พันศักดิ์”เป็นที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกสมัย”น้าชาติ”
เขาจึงเป็นคนทาบทาม”อาจารย์โกร่ง”เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยพล.อ.ชาติชาย
ก่อนที่จะร่วมงานกันอีกครั้งในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
วันนี้”พันศักดิ์”เป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)ที่มี”อาจารย์โกร่ง”เป็นประธาน
5.ความเห็นครั้งเดียว ลดความเสียหายเป็นพันล้าน
ครั้งหนึ่ง ก่อนการลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540
ในการประชุมบอร์ดบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ”บีอีซีแอล” มีวาระที่ต้องตัดสินใจว่าจะทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับวงเงิน กู้ต่างประเทศของบริษัทหรือไม่
หลังจากถกเถียงไปพักหนึ่ง
“อาจารย์โกร่ง”ในฐานะประธานบอร์ด ตั้งคำถามง่ายๆ 2 คำถาม
คำถามแรก ถ้าไม่ประกันความเสี่ยง
หากมีการลดค่าเงินบาท
“บริษัทเราจะเจ๊งหรือไม่”
คำตอบคือ “เจ๊ง”
คำถามที่สอง ถ้าประกันความเสี่ยง บริษัทเราต้องจ่ายเท่าไร และวงเงินที่จ่ายทำให้บริษัทเราขาดทุนหรือไม่
คำตอบคือ “ไม่”
ในที่สุด “บีเอ็มซีแอล”ตัดสินใจทำประกันความเสี่ยง และรอดพ้นจากวิพฤตปี 2540 อย่างหวุดหวิด
6.เป็นนักวิชาการคนเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์ทำหนังสือตอบโต้อย่างเป็นทางการ
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 “อาจารย์โกร่ง”เขียนบทความเรื่อง”ประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูป”ลงในคอลัมน์”คน เดินตรอก”ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
วิจารณ์”ประชาธิปัตย์”ใน 6 ประเด็น
จากนั้นอีก 3 วัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำ”จดหมายเปิดผนึก”ตอบโต้”อาจารย์โกร่ง”
ยาวกว่าบทความ”อาจารย์โกร่ง”กว่า 1 เท่าตัว
7. เคยได้รับการทาบทามเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจริง
ก่อนวันประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย เพื่อเลือกตั้งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 หรือคนที่จะดำรงตำแหน่ง”นายกรัฐมนตรี”หาก”เพื่อไทย”ชนะการเลือกตั้ง
มี”ผู้ใหญ่”ในพรรคเพื่อไทยทาบทาม”อาจารยืโกร่ง”ให้เป็น”นายกรัฐมนตรี”
แต่เขาปฏิเสธ
“ผู้ใหญ่”ขอร้อง”อาจารย์โกร่ง”เรื่องหนึ่ง คือ แม้จะไม่รับ
แต่ขออย่าให้สัมภาษณ์”ปฏิเสธ”กับสื่อมวลชน
ดังนั้น ถ้าใครเคยฟังหรืออ่านคำสัมภาษณ์ของ”อาจารย์โกร่ง”ช่วงนั้น จะต้องมึนตึ๊บกับ”คำตอบ”ของ”อาจารย์โกร่ง”
เป็นลีลาการตอบที่”นักการเมือง”ต้องคารวะ
ไม่ตอบรับ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผูกมัด
และไล่ไม่จน