ที่มา มติชน
สัมภาษณ์
ภายหลังจากที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) ระบุว่า จะนำโมเดลการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่ง "นายเสนาะ อูนากูล" คิดไว้ มาใช้เป็นต้นแบบการดำเนินงานของ กยอ. ส่งผลให้ชื่อของ "เสนาะ อูนากูล" เป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้ง
"มติชน" จึงได้สัมภาษณ์มุมมองและแนวคิดของ "เสนาะ อูนากูล" เกี่ยวกับการทำงานของ กยอ. ที่จะนำรูปแบบคณะกรรมการอีสเทิร์น ซีบอร์ดมาใช้ พร้อมจุดอ่อนและจุดแข็งต่างๆ ที่จะช่วยทำให้ กยอ.ชุดนี้ประสบความสำเร็จ ในการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย จากวิกฤตน้ำท่วมในขณะนี้
-รูปแบบและวิธีการทำงานของคณะกรรม การอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นอย่างไร
การ ดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์น ซีบอร์ดเกิดขึ้นในสมัย พล.อ.เปรม ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสำคัญ 6 ชุดที่ตั้งขึ้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ เพราะในช่วงนั้นประเทศเรามีปัญหาวิกฤตมาก เศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่มี ระบบส่งออกก็ไม่ดี งบประมาณขาดดุล เงินสำรองต่างประเทศมีน้อย ต้องรีบแก้ไขเศรษฐกิจ การคลัง ให้อยู่รอดไปได้ จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานกันใหม่เกือบทุกอย่าง ต้องใช้สมองเข้ามาช่วย ไม่ใช่กำลังคน และโชคดีที่รัฐบาลเปรมอยู่ได้ถึง 8 ปี ทำให้เกิดความต่อเนื่อง
ขั้นตอนการจัดตั้งคณะกรรมการในขณะนั้น มีการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาดูแลพิเศษ ไม่ใช่มติ ครม.ธรรมดา ซึ่งในสมัยก่อนไม่ค่อยมีเรื่องที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่แทน ครม. มีนายกฯเปรมเป็นประธาน ผมเป็นเลขานุการ ในฐานะเลขาฯ สศช. ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานราชการทุกแห่ง ภารกิจสำคัญที่ทำมี 3 ส่วนหลัก คือ 1.จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 2.วางแผนปฏิบัติการ 3.ประสานให้ทุกหน่วยทำตามแผนที่วางไว้
"แผนยุทธศาสตร์ต้องออกมาก่อน ว่าจะทำอย่างไร วางแผนอย่างไร จากนั้นก็นำยุทธศาสตร์ที่มีไปจัดทำให้ออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยรับไปปฏิบัติ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ทิศทางแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ให้ได้ ต้องปรับให้เข้ากัน เชื่อมทุกงานให้เป็นเนื้อเดียวกัน อุดรอยรั่ว ตะเข็บตรงจุดต่างๆ ให้หมด"
โดยหัวใจสำคัญของรูปแบบการดำเนินงานใน ลักษณะนี้ คือ ประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งการประสานงานถือเป็นเรื่องที่มีปัญหามากที่สุดของงานบริหารราชการของไทย ที่มักจะเป็นแบบแนวตั้ง แนวนอนไม่มี เราจึงต้องสร้างระบบแนวนอนขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะทำให้การประสานงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานต้องประสานกันได้
ส่วนเรื่องเงินที่จะนำมาใช้ ก็ต้องมานั่งพิจารณากันว่า จะจัดหามาจากแหล่งไหน อาจจะใช้เงินกู้ เงินงบประมาณ หรือเงินจากฝ่ายเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการลงทุน เรื่องในอนาคต หรืออะไรก็แล้วแตˆเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้
-คิดอย่างไรกับการที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ระบุว่าจะนำโมเดลอีสเทิร์น ซีบอร์ดมาใช้
ถ้า จะเอามาใช้ ก็ต้องทำให้ครบถ้วน ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นเรื่องพิเศษสำหรับเมืองไทย ต้องใช้วิธีพิเศษเข้ามาช่วย การทำงานต้องทำแบบต่อเนื่อง ความจริงเรื่องพิเศษที่เคยทำมีหลายเรื่อง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้การพัฒนาประเทศไทยดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ทำไปทำมาเรื่องพิเศษ กลายเป็นเรื่องปกติ แล้วสุดท้ายก็เลิกกันไปหมด เพราะไม่มีการสานต่อ เนื่องจากแต่ละกระทรวงก็ต้องการทำงานของตัวเอง เพราะไม่ชอบอยู่ภายใต้แผนรวมของใคร ทุกกระทรวงอยากจะทำเรื่องของตัวเอง
"การ ที่คุณวีรพงษ์บอกว่าจะนำโมเดลอีสเทิร์นซีบอร์ดมาใช้กับการทำงานของ กยอ. ผมว่ามันเป็นเรื่องดี เพราะสถานการณ์และปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้ต้องใช้รูปแบบการทำงานที่มีความ พิเศษมาใช้ แต่นายกฯและรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเรื่องนี้ด้วย เพราะต้องทำความเข้าใจว่าคนที่เป็นประธาน กยอ.ไม่ใช่นายกฯ ปล่อยให้คุณวีรพงษ์ทำงานแค่คนเดียวก็ไม่มีอำนาจที่จะไปกำหนดอะไรได้มาก นายกฯจะปล่อยให้คุณวีรพงษ์ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเป็นแบ๊กให้ ต้องเข้าใจว่ากระบวนการทำงานเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเข้ามาคอยแบ๊กให้ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร งานของประเทศ เพราะคุณวีรพงษ์อาจมีความคิดเรื่องการวางแผนงาน แต่ขั้นตอนการทำงานก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากนายกฯ อย่างเต็มที่"
-กำลังจะบอกว่าคุณวีรพงษ์คนเดียวไม่มีอำนาจพอ
ใน ช่วงที่มีการตั้งคณะกรรมการอีสเทิร์น ซีบอร์ดครั้งแรก นายกฯ พล.อ.เปรมเป็นประธานด้วยตัวเอง ท่านเข้าประชุมด้วยทุกครั้ง มีฝ่ายเลขานุการคือ สศช. มีการรวมผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมด้วย เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ และวางแผนงานทั้งหมด ว่าหน่วยงานไหนต้องทำอะไรบ้าง และเราก็มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มาคอยให้การสนับสนุนอีกทาง ทุกอย่างมันเอื้อกันหมด "เท่าที่ดูภาพการทำงานของ กยอ. ขณะนี้นายกฯไม่ได้เป็นประธานเอง แต่เป็นคุณวีรพงษ์ นายกฯจึงทิ้งเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องเข้ามาคอยช่วยและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่"
ปัจจัยสำคัญอีก เรื่องหนึ่งก็คือ ฝ่ายเลขานุการ เมื่อ กยอ.จะยังใช้ สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการเหมือนกัน แต่ปัจจุบัน สศช.ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็ต้องทำให้ สศช.กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม เพราะงานฝ่ายเลขานุการมีความ สำคัญมาก เพราะต้องป้อนข้อมูล และประเด็นการจัดทำแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงขั้นตอนการประสานงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปใช้อย่างให้ประสิทธิภาพ และติดตามประเมินผล
"การ จะเอาโมเดลนี้มาใช้ ในสถานการณ์พิเศษแบบนี้ เป็นเรื่องดี แต่ถ้าจะเอาของเก่ามาใช้ก็ต้องดูว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีส่วนอะไรขาดก็เติมเต็มเข้าไป ถ้าคิดอยากจะทำเหมือนกัน แต่ของไม่เหมือนกัน มันก็ทำไม่ได้ และแผนยุทธศาสตร์ ที่จะจัดทำก็ต้องถูกต้อง แผนปฏิบัติการก็จะต้องสอดคล้อง วิธีการดำเนินงานตามแผนก็ต้องดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมเพรียง งานถึงจะเป็นผลสำเร็จ ซึ่งการจะทำงานเรื่องนี้ได้สำเร็จ นายกฯจะต้องเข้ามาช่วยด้วย อย่าคิดว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว และปล่อยให้เขาทำงานกันไปเอง มีอะไรก็มารายงานไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องอำนาจ การควบคุมและสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม นายกฯต้องเข้ามาช่วยในจุดนี้ด้วย"
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการจัดระบบการทำงานขึ้นมาแล้ว ก็ต้องรอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนที่ยังขาดไปก็ปรับปรุงให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน ท่ามกลางระบบอะไรหลายอย่างที่ดูเหมือนจะอ่อนแอลง โดยเฉพาะระบบราชการ ต้องช่วยกันคิดช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา
-มองการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลอย่างไร
เรื่อง ที่แล้วมา อย่าไปพูดถึง มาพูดถึงเรื่องใหม่ที่กำลังจะเกิดดีกว่า เพราะปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นขณะนี้ ใครจะไปดูดินฟ้าอากาศ ปล่อยให้เป็นเรื่องผู้ชำนาญการเขาว่าไปมาดูเรื่องของระบบในการแก้ไขปัญหาดี กว่า ทำอย่างไรที่จะระดมผู้มีความสามารถแต่ละด้าน มาร่วมกันทำงานให้เกิดประโยชน์กับประเทศดีกว่า
-คิดว่าสามารถฝากความหวังกับการทำงานของ กยอ.และรัฐบาลได้หรือไม่
ทุกอย่าง ไม่ใช่จะสำเร็จได้ง่าย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้มั่นคง และเดินหน้าต่อเนื่องได้ ถ้าทำตรงนี้ไม่ได้ เราก็คงทำอะไรไม่สำเร็จ
.............
"เสนาะ อูนากูล"
ประวัติการ ทำงานของ "เสนาะ อูนากูล" นับว่าไม่ธรรมดา เพราะหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2516 เสนาะ อูนากูล ได้รับมอบหมายจากนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) โดยมีภารกิจสำคัญในการกู้วิกฤตศรัทธาขององค์กร สศช.
จาก นั้นปี 2518 เสนาะ อูนากูล ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำอย่างรุนแรง ต่อมาปี 2523 กลับมาเป็นเลขาธิการ สศช.อีกครั้งในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่ง เนื่องจากภาครัฐต้องการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 และ 6 ที่เน้นการกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ซึ่งนายเสนาะได้ปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา 6 คณะเพื่อดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดล้วนแต่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะคณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นการจัดตั้งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย
เป็น "โมเดล" ที่ กยอ.จะนำมาใช้!!