บรรยากาศช่วงนี้จึงอึดอัดหาวเรอชะเออเหียนยังไงชอบกล??
ความจริงบรรยากาศอย่างนี้เกิดขึ้นเสมอในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
แต่บังเอิญการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ออกมาผิดฝาผิดตัว
เพราะขั้วอำนาจเก่าที่ถูกปฏิวัติโค่นล้มอำนาจไป ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนส่วนใหญ่ให้กลับมา เป็นรัฐบาล
แรงเสียดทานต้องสูงมากเป็นธรรมดา
ฉะนั้น เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น เพื่อขับเคลื่อนประเทศได้โดยเร็ว การใช้แนวทาง สมานฉันท์จะลดแรงเสียดทานต่างๆได้ดี
อะไรที่จะโอนอ่อนเข้าหากันได้ก็ควรทำ
เช่น...รัฐมนตรีกลาโหมที่เป็น “หนังหน้าไฟ” ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ถ้าเลือกคนที่ทุกฝ่าย ยอมรับได้ย่อมเกิดความสบายใจ
แต่ข้อเรียกร้องบางประเด็น เช่น... ให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก “สมัคร สุนทรเวช” เป็น “คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี”
คำตอบก็คือ “โนเวย์”!
ในเมื่อ “สมัคร” เป็นแม่ทัพใหญ่ที่นำทัพชนะเลือกตั้ง จนพรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำ รัฐบาล
“สมัคร” ต้องได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามหลักการ ใครจะถูกใจ? หรือไม่ถูกใจ? ก็เป็นเรื่องนานาจิตตัง
รวมทั้งปัญหาทางเทคนิคว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกในวันอังคารหน้า (22 ม.ค.) ได้หรือไม่? ก็หมดข้อกังขาซะที
เพราะ กกต.ได้ปิดบัญชีแจกใบเหลืองใบแดงลอตสุดท้ายไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน
รอให้ผ่านการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.รอบสุดท้ายวันอาทิตย์นี้ (20 ม.ค.) ก็จะได้ ส.ส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเปิดประชุมสภาฯนัดแรก 1 วัน
แต่สำหรับวันนี้ (18 ม.ค.) การเมืองจะเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ที่จะชี้โฉมหน้า การเมืองไทย
1, การแถลงเปิดตัวจับขั้วตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการของ 6 พรรคการเมือง
2, ศาลฎีกานัดฟังคำตัดสินคดีฟ้องเลือกตั้งเป็นโมฆะ ที่ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้อง กกต.และพรรคพลังประชาชน
วันนี้...จึงเป็นวันที่คอการเมืองต้องลุ้นเสียว 2 เด้งซ้อนกัน!!
ถ้าทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี รัฐบาลใหม่ก็จะเดินหน้าเต็มสตีม
เริ่มจากพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกวันที่ 22 มกราคม และในวันเดียวกัน ก็จะมีการเปิดประชุมเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกประธานสภาฯ 1 คน รองประธานสภาฯ 2 คน
กติกาบังคับให้ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาฯ ต้องลาออก จากกรรมการบริหาร หรือตำแหน่งอื่นๆในพรรคการเมือง
ถ้า “แม่ลูกจันทร์” คาดไม่ผิด...วันที่ 25 ม.ค. ประธานสภาฯคนใหม่ จะเรียก ประชุมสภาฯ เพื่อโหวตเลือกตัว นายกรัฐมนตรี
กติกากำหนดให้ต้องเลือกจาก ส.ส. และต้องเลือกให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันเปิดประชุม รัฐสภา
การโหวตเลือกนายกฯ ส.ส.ทุกคนมีอิสระในการตัดสินใจ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค การเมือง
ผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ของสภา ผู้แทนราษฎร
อดใจอีก 7 วัน นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 จะเปิดตัว
ชิมไปบ่นไปไม่เป็นไร อย่าชิมไปด่าไปก็แล้วกัน.
“แม่ลูกจันทร์”
คอลัมน์ สำนักข่าวหัวเขียว