สรุปว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว แต่รับคำร้องของพนักงานทีไอทีวีไว้พิจารณาต่อไป
โดยพนักงานทีไอทีวีให้ร้องว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีอำนาจปิดสื่อ ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
ทำให้ “ทีวีสาธารณะ” ยังเปิดต่อไปได้ จนกว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจ ไม่สมควรจะมาก่อปัญหาเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง
ทีไอทีวีหรือไอทีวีเดิม เป็นสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟที่เกิดขึ้นจากการประมูลสัมปทานไปจากรัฐ
จุดประสงค์ขณะนั้นก็เพื่อให้เกิดสถานีโทรทัศน์ที่เป็น “ทีวีเสรี” จริงๆ โดยเน้นเนื้อหาสาระมากกว่าความบันเทิง
แต่กลุ่มผู้ประมูลครั้งแรกกลับยื่นเงื่อนไขการประมูลชนิดเว่อร์เกินจริง ด้วยตัวเลขเฉลี่ยค่าสัมปทานถึงปีละหนึ่งพันล้านบาทเป็นเวลา 25 ปี
สุดท้ายก็ไปไม่รอด จนตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนชินคอร์ป มีการแก้ไขสัญญาทีโออาร์ไปสู่การลดหย่อนค่าสัมปทานรายปี และการปรับผังใหม่ไปสู่ภาคบันเทิงมากขึ้น
ปัญหาคือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. เจ้าของสัมปทาน กลับไม่ทำข้อขัดแย้งดังกล่าวให้ถูกต้องเป็นธรรม
มีการนำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งไอทีวียึดถือภาระสิ้นสุดของอนุญาโตตุลาการ แต่ สปน.กลับนำข้อพิพาท ขึ้นสู่ศาลเรียกค่าปรับฐานผิดสัญญาถึงวันละ 100 ล้านบาท เป็นเงินร่วมหนึ่งแสนล้านบาท
และแทนที่จะนำเข้าสู่ระบบ คือเปิดให้แข่งขันประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
รัฐบาลขัดตาทัพกลับเลือกทางเดินแตกหัก ปฏิบัติการ “ยึดไอทีวี” ด้วยการออก พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะแปลงสภาพทีไอทีวี โดยห้ามมีโฆษณาอย่างเด็ดขาด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ที่เข้ามาฉกฉวยยึดทีวีเสรีก็คือกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีบางคนนั่นเอง
ทุกอย่างถูกวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนจนถึงนาทีนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่พนักงานทีไอทีวีและผู้จัดรายการรู้ลึกถึงความเคลื่อนไหวตลอด
เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องสู้ไม่ถอย เพราะรัฐบาลที่พยายาม เน้นเรื่องจริยธรรมแต่กลับขาดธรรมาภิบาลเสียเอง!!
"แจ๋วริมจอ"
คอลัมน์ ทีวีบันเทิง