โดย คุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ที่มา เวบไซต์ ประชาไท
19 มกราคม 2551
คุณรู้จัก ‘หมอหงวน’ ไหมครับ
ไม่แปลกหรอกหากคนทั่วไปจะไม่รู้จักนายแพทย์ผู้นี้ แต่อย่างน้อยคุณต้องรู้ถึงคุณูปการของโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ หรือชื่อเป็นทางการว่า ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ที่แทรกซึมอยู่ในทุกปริมณฑลของชีวิต หากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่ชีวิตนั้นหนีไม่พ้น
และถ้าคุณรู้จัก ผลงานนั้น นั่นแหละคือ ‘นาม’ อันไพเราะและก้องกังวานของ ‘หมอหงวน’ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
คงไม่ผิดไปนัก ถ้าจะบอกว่า ‘หมอหงวน’ ใช้เกือบทั้งชีวิตของท่าน ต่อสู้เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ตั้งแต่ว่ายวนอยู่ในวงการกิจกรรมนักศึกษา เพียงแต่บังเอิญว่าท่านจบมาเป็นหมอ จึงต่อสู้ในสนามของหมอ และการต่อสู้ของท่านก็ส่งผลสะเทือนปฏิรูประบบสุขภาพไทยอย่างที่เราเห็นอยู่นี้
แต่ใครว่า ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ นั้นเป็นแค่เรื่องสุขภาพ ใครว่าเป็นแค่เรื่องการลดรายจ่ายของประชาชน
สำหรับผมแล้ว นี่คือเรื่องการเมือง เป็นการเมืองที่กินได้ การเมืองเพื่อการยกระดับชีวิตให้มีศักดิ์และสิทธิในฐานะเจ้าของประเทศ
อย่าลืมว่า ก่อนปี 2545 คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้นั้นเลือดตาแทบกระเด็น หากไม่ขายที่ขายนา หรือยอมทนเห็นลูกสาวขายตัวเอาเงินมารักษา ก็ต้องต่อสู้เพื่อให้เป็นคนไข้ ‘อนาถา’ ซึ่งแค่นั้นก็ยากเย็นเหลือเกินแล้ว และนั่นคือสิ่งที่รัฐไทยปฏิบัติกับเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย
‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ที่หมอหงวนปิดทองหลังพระผลักดันอยู่ข้างหลังก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะนำมาใช้ในภาษาทางการตลาดว่า ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ทำให้ความหมายของเจ้าของประเทศเป็นผลในทางปฏิบัติ รัฐต้องรักษาอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน เพราะมันเปลี่ยนจาก ‘ความเมตตา’ ของโรงพยาบาลมาเป็น ‘สิทธิ’ ของคนป่วย ที่รัฐต้องรับใช้หรือบริการ
กระนั้นเมื่อการประกันสุขภาพถ้วนหน้าลงหลักปักฐานเป็นที่เรียบร้อยในสังคมไทย หากเราได้มีโอกาสติดตาม เราก็จะเห็นว่า ปัญหาอุปสรรคเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพก็ยังมีอยู่เต็มไปหมด และในทางเดินนั้นก็มีรอยเท้าของหมอหงวนอยู่ในทุกๆ ที่
ผมได้สัมผัสความพยายามในการลดความหนาแน่นของโรงพยาบาล ด้วยสารพัดโครงการ ผมเห็นความพยายามส่งเสริมนวัตกรรมของโรงพยาบาล เพื่อลดความหนาแน่นของผู้ป่วยในการเข้ารักษาในโรงพยาบาล เห็นความพยายามสร้างพยาบาลของชุมชน เพื่อให้ชุมชนนั่นเองรับผิดชอบดูดซับผู้ป่วยขั้นต้น ซึ่งมีจำนวนมาก และอาจจะไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ทั้งนี้ก็เพื่อกลั่นกรอง และส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลศูนย์ฯ ให้หมอผู้เชี่ยวชาญได้มีเวลา มีพลัง ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักจริง ๆ ผมเห็นความพยายามเพิ่มเงินรายหัวของผู้ป่วย และการต่อสู้ต่อรองเพื่อให้โรคที่มีค่ารักษาราคาแพง อยู่ในการรับประกันถ้วนหน้าของรัฐ ฯลฯ
ในชีวิตสั้น ๆ ของมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องอยู่ในโลกแห่งสงครามและการเมืองที่ต้องต่อสู้ หากจะมีเรื่องน่าภูมิใจอยู่บ้าง ก็คือเรื่องที่เราพอจะคุยได้ว่า เราได้อยู่ร่วมสมัยกับคนจำนวนหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่ยั้งด้วยผลงานเพื่อคนอื่น ๆ และมีชื่ออยู่นานด้วยการกระทำแม้กระทั่งในลมหายใจสุดท้าย
และหนึ่งในคนจำนวนนั้น คือ ‘นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์’
ด้วยความภาคภูมิใจและอาลัยอย่างสุดซึ้ง
************************************
อ่าน อาลัย ‘นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์’ : เส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพ ก้อนหินที่ขวางหน้า คือบันไดสู่ทางออก ได้เพิ่มเติม ที่ ลิงก์ประชาไท
จาก Thai E-News