ทำเนียบฯ 27 พ.ค.-เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุไม่น่าจะใช้กฎหมายลูกว่าด้วยประชามติปี 2541 มาทำประชามติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะสิ้นสภาพไปพร้อมรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว ชี้คำสั่งนายกฯ ไม่มีผลบังคับใช้เหมือนกฎหมาย แนะทางที่ดีควรปล่อยให้ กกต.ไปยกร่างกฎหมายประชามติเสนอผ่านขั้นตอนของสภาฯ ดีกว่า คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือจะนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยประชามติ ปี 2541 มาใช้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี แต่เห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยประชามติ ปี 2541 ไม่น่าจะใช้ได้ เพราะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ต้องยุติไปพร้อมกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่น แต่ขณะนี้ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ว่า จะสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุสามารถใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ โดยอ้างคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคไทยรักไทยนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.มีฐานะเหมือนกัน แต่ประเด็นอยู่ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นักกฎหมายหลายคนเห็นว่าต้องสิ้นผลตามรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายบางฉบับอาจมีผลอยู่ได้ เพราะมีประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รองรับให้มีผลต่อไปได้ แต่ไม่ใช่กฎหมายประชามติ ต่อกรณีหากนายกรัฐมนตรีจะเสนอใช้มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน โดยออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีการทำประชามตินั้น คุณพรทิพย์ กล่าวว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรี คงไม่มีผลบังคับใช้ได้เหมือนกฎหมาย เพียงแต่เป็นคำสั่งในทางบริหาร ซึ่งการทำประชามติ จะต้องคล้ายกับครั้งที่ผ่านมา โดยออกกฎหมายในระดับเดียวกับ พ.ร.บ. เพราะต้องมีกระบวนการ วิธีการ การลงโทษผู้กระทำผิด ต่อต้าน หรือขัดขวาง และทางออกที่ดีที่สุด ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะล่าช้า เพราะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร .-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-05-27 13:53:08