ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงที่มาและการต่ออายุ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยังคงอยู่ระหว่างรอการพิจารณานั้น ขณะเดียวกัน คตส. กลับเดินหน้าที่จะทำงานต่อ โดยพยายามเร่งสางคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมดก่อนที่จะหมดอายุโดยสมบูรณ์สิ้นเดือนมิถุนายนนี้
โดยล่าสุดที่ประชุม คตส. มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เสนออัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ เพื่อส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตัวเองและพวกพ้อง ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ พร้อมกันนี้ คตส. ยังขอให้ อสส. ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินจำนวน 76,621 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคู่สมรสคือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นใน บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ในชื่อของ นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พิณทองทา ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ บริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนท์ จำกัด และ บริษัท วินมาร์ก จำกัด โดยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 1.4 พันล้านหุ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้ธุรกิจในครอบครัวมีการเพิ่มมูลค่านับแสนล้านบาท รวมทั้งมีการออกมาตรการเอื้อประโยชน์ ทั้งการแก้ไขสัญญาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ จนทำให้ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินได้มาโดยมิชอบ รวมทั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อน อันเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนกฎบัญญัติรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 110, 208, 209, 291 และ 292 รวมทั้ง พ.ร.บ.การจัดหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4, 5, 6 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 32, 33, 100 และความผิดอาญา มาตรา 119 และ 122
ในเรื่องดังกล่าว นายพิชา วิจิตรศิลป์ ทนายความจากสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานะของ คตส. ขณะนี้ถือว่ากำลังจะหมดอำนาจหน้าที่สิ้นเดือนมิถุนายนนี้แล้ว จึงควรจะส่งเรื่องต่อให้กับทาง ป.ป.ช. ดำเนินการต่อเพื่อความเหมาะสม
“ขณะนี้ยังมีข้อกำกวมในอำนาจของ คตส. โดยศาลฎีกาได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องอำนาจ รวมถึงการต่ออายุของ คตส. ตาม พ.ร.บ.แก้ไขประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น เมื่อยังมีข้อสงสัยเกิดขึ้น คตส. ก็ไม่สมควรที่จะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องคดีดังกล่าว และไม่ควรที่จะดำเนินการต่อ เพราะอาจเกิดปัญหาในเรื่องของการขาดความชอบธรรมได้” ทนายความผู้นี้ กล่าวและว่า คดีดังกล่าวควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบโดยตรง และควรปล่อยให้ตัวเองหมดวาระไปน่าจะดีที่สุด
ส่วนการสั่งอายัดทรัพย์ เห็นควรให้ดำเนินการในส่วนที่เป็นผลกำไรจากการขายหุ้น น่าจะเป็นแนวทางดำเนินการที่ถูกต้องนั้น ทนายความผู้นี้ กล่าวว่า การยึดหรืออายัดทรัพย์ในกรณีที่เป็นที่น่าสงสัยว่าทรัพย์ที่ได้มานั้น ได้จากการกระทำผิดสามารถสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์ได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้เจ้าของทรัพย์สินสามารถขอให้มีการตรวจทรัพย์ที่เป็นต้นทุนเดิมว่าไม่ได้มาจากการกระทำอันขัดกับกฎหมาย เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากความสุจริต โดยสามารถร้องขอให้มีการพิสูจน์ได้ภายใน 60 วันนับจากมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าว