ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ระยอง ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย สกลนคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ กระบี่ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 3,880 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ.2551
เมื่อถามความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุ คิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น สำหรับความทุกข์ใจของสาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองใน 4 ปัญหาหลักของประเทศ พบว่า สถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนทุกข์ใจมากเป็นอันดับแรกหรือร้อยละ 52.2 คือความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาคือร้อยละ 49.7 ระบุ เป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มหนุน กับ กลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ขณะที่ร้อยละ 48.7 ระบุ ทุกข์ใจต่อปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ และร้อยละ 38.5 ระบุ ทุกข์ใจต่อปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา กรณีประสาทพระวิหาร
ในส่วนของความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่แก้แล้วจะเกิดความวุ่นวาย / เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรคการเมือง / ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ / เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เป็นต้น ขณะที่ ประชาชนจำนวนมากเช่นกันหรือร้อยละ 46.7 ไม่เห็นด้วย เพราะ ถ้าแก้ไขจะเกิดความวุ่นวาย / เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง / ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมลงประชามติก่อน เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 เห็นด้วยว่า ควรลงประชามติถามประชาชนก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เมื่อจำแนกประชาชนออกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนในทุกภาคยกเว้นภาคใต้นั้น เกินกว่าครึ่ง คือภาคเหนือร้อยละ 55.4 ภาคกลางร้อยละ 59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 51.9 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 56.7 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ภาคใต้ร้อยละ 42.7 ที่เห็นด้วย แต่ร้อยละ 57.3 ของคนในภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดร.นพดล กล่าวอีกว่า กลุ่มคนที่น่าสนใจคือ คนที่ประกาศตนเองว่าเป็นพลังเงียบ ไม่ขออยู่ฝ่ายใด กำลังถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มพอ ๆ กัน คือร้อยละ 51.6 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองอ่อนแอ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 48.4 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย และเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เป็นต้น