หลังจากที่มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตาจากหลายฝ่าย และยังเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นเมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เปิดประเด็นในรายการสนทนาประสาสมัคร ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่าการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ก็เพราะกลัวการแก้ไข ม.63 ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้าที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน นายกรัฐมนตรี ได้มอบเอกสาร 1 แผ่น ผ่านทาง พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแจกให้กับสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว พร้อมกับให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอ่านข้อความดังกล่าวด้วย
โดยเนื้อหาภายในเอกสารดังกล่าวมีข้อความดังนี้ "รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ที่พันธมิตรฯ กลัวจะแก้ เป็นดังนี้ บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับ และไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม"
ทั้งนี้เนื้อหาเดิมของรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ในปัจจุบันที่ระบุเพียงว่า"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรืออยู่ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก"
เชื่อประชาชนหนุนแก้รธน.โจร
ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปแม้ว่ากลุ่มพันธมิตรประกาศชุมนุมเคลื่อนไหวคัดค้านก็ตาม เพราะผลสำรวจเอแบคโพลพบว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยต่อไปจะกำหนดประเด็นในการแก้ไขว่าควรแก้ไขในประเด็นใดบ้างแล้วไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพื่อความเป็นเอกภาพ ซึ่งเบื้องต้นจะแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการยกร่างแก้ไขมาตรา 63 ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่เห็นว่าควรที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเพื่อควบคุมการชุมนุมซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่
ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยโดยผ่านการทำประชามติอย่างแนวคิดเดิมที่เคยมีการเสนอกันไว้
เชื่อแก้รธน.ไม่เกิดความรุนแรง
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า การยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่า จะมีการยื่นญัตติภายหลังจากได้เห็นผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้รายงานต่อสภาในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
นายสามารถ กล่าวว่า ส่วนจะยื่นญัตติแก้ไขในประเด็นใดบ้างนั้น จะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้ง เพราะจะต้องดูผลการศึกษาหลายๆ ส่วน ทั้งจากสภา จากนักวิชาการ และเสียงสะท้อนของ ส.ส.และประชาชน ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน ทั้งนี้เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง หรือเหตุรุนแรง ตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวล หากไม่มีอคติต่อกัน ซึ่งทุกคนต้องมองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีอคติ
ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนง่ายกับส่วนยาก ส่วนง่ายคือที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด เช่น การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือหากมาจากการแต่งตั้งจะให้เหลืออำนาจเพียงกลั่นกรองกฎหมายแต่ว่าไม่มีอำนาจถอดถอน ในส่วนยาก เช่น มาตรา 190 วรรค2 เกี่ยวกับสนธิสัญญาต่างๆที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภานั้นจะมอบให้กระทรวงการต่างประเทศเชิญนักวิชาการมาถกเถียงเรื่องนี้ให้ตกผลึกเสียก่อน หากยังมี 6 วรรคเช่นเดิม ฝ่ายปฏิบัติก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะต้องผ่านสภาทั้งหมด
ส่วนมาตรา 237 วรรค 2 นั้นต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนว่าเป็นความผิดส่วนตัวหรือความผิดที่เกี่ยวโยงมาถึงพรรคไม่ใช่มาเหมารวม ไม่เช่นนั้นจะไม่เหลือพรรคการเมืองให้ประเทศพัฒนาพรรคเป็นสถาบันการเมือง ด้านมาตรา266 ที่ระบุไม่ให้ใช้สถานภาพส.ส.,ส.ว. ไปยุ่งเกี่ยวกับงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ตนเองหรือผู้ใด ซึ่งคำว่าผู้ใด ไม่มีคำจำกัดความ รวมทั้งมาตรา 309 ที่เขียนรองรับให้อำนาจ องค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปฯ ซึ่งในวันนี้ก็หมดวาระไปแล้ว มาตรานี้จะเขียนหรือไม่เขียนก็ได้ แต่ถ้าหากไม่อยากให้เหลือเศษซากของการปฏิวัติ ก็ควรตัดออกไป เรื่องนี้ก็ต้องเปิดวงคุยก่อนดำเนินการเช่นกัน
* ลั่นแก้ไขเสร็จทันสมัยประชุมนี้
ทั้งนี้ในส่วนกรอบเวลาของการแก้ไข ประธานวิปรัฐบาลคาดว่าในส่วนที่เสนอแก้ไขในส่วนง่ายคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จทันในสมัยการประชุมนี้ ส่วนของยากก็จะพิจารณาไปเรื่อยๆหากไม่แล้วเสร็จก็จะพิจารณาในสมัยการเปิดประชุมสมัยหน้า
ส่วนกรณีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น นายสามารถ กล่าวว่า การประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ ไม่มีการหยิบยกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เพราะเป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ว่าประชาชนมีสิทธิในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ เป็นการล้อรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ให้สิทธิการชุมนุมที่ถือเป็นเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสามารถกระทำได้โดยอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีกฎหมายในการควบคุมดูแลอยู่แล้ว อีกทั้งยังเชื่อว่าหากมีการปรับแก้มาตราดังกล่าว ก็อาจทำให้มีปัญหาบานปลายได้
ด้านนายเอกพจน์ ปานแย้ม วิปรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตนได้สอบถามถึงท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลหลังจากมีข่าวออกมาค่อนข้างสับสน ก่อนหน้านี้ระบุว่าจะยื่นแก้ไขทันทีในวันที่ 1 สิงหาคม ต่อมามีข่าวว่าจะยื่นหลังวันที่ 18 สิงหาคม จึงขอทราบความชัดเจน โดยนายสามารถกล่าวชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องแก้ 2 ขยักเพื่อต้องการลดความขัดแย้ง โดยต้องดูว่าส่วนใดที่สามารถแก้ได้และกระแสคัดค้านน้อยก็สามารถยื่นเสนอแก้ไขได้เลย โดยการยื่นขอแก้ไขจะรอหลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษาข้อดีข้อเสียเรียบร้อยแล้ว ในส่วนข้อที่ยากก็ต้องใช้เวลา ข้อที่ง่ายก็ทำไปเลย
ฉะ!สร้างอำมาตยาธิปไตยใหม่
ขณะที่ความคิดเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นทำให้เกิดการฟื้นกลับมาของระบอบอำมาตยาธิปไตยใหม่ในสังคมไทย ซึ่งแตกต่างไปจากระบอบอำมาตยาธิปไตยหลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา
โดยมีองค์กรหลัก 3 องค์กรเป็นตัวแทน เช่น ส.ว.สรรหา องค์กรอิสระ และศาล ทั้ง 3 บทบาทนี้จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นกลไกควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากคดีความต่างๆ ของรัฐบาลที่เกิดขึ้น ทั้งหมดเป็นผลมาจากการดำเนินการอย่างเป็นระบบของอำมาตยาธิปไตยใหม่แทบทั้งสิ้น เช่นเรื่องที่ ส.ว.ทำหน้าที่ยื่นคำร้อง คำฟ้อง องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) รับลูกต่อทำหน้าที่รวบรวมคำร้องคำฟ้องพร้อมวินิจฉัยเบื้องต้นแล้วส่งต่อให้กับศาล