ปัญหาเด็กติดเกม นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตผู้ตกเป็นเหยื่อของเกมส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ฟุ่มเฟือย เหม่อลอย การเรียนตกต่ำ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หนักที่สุดก็แสดงความก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยใช้ความรุนแรง ล่าสุด เด็กนักเรียน ม.6 ฆ่าคนขับรถแท็กซี่ตาย โดยวางแผนมาอย่างดี และอ้างว่าเลียนแบบเกมออนไลน์
ผลกระทบอันเนื่องมาจากเด็กติดเกม หากมองให้ลึกซึ้งถึงรากเหง้าของปัญหาอาจไม่ใช่แค่เพราะ "เด็กติดเกม" แต่เป็นเพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่ขาดวิจารณญาณในการเลือก และที่สำคัญผู้ผลิตขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเกมบางเกมที่ผู้ผลิตคิดและสร้างสรรค์มาอย่างดี มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ เสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางจิตใจและสังคม เป็นเกมสีขาวที่น่าส่งเสริมให้เด็กๆ เล่น แต่เกมไม่สร้างสรรค์กลับมีปริมาณมากมายกว่าเกมสีขาวหลายเท่าตัว แถมยังหาเล่นง่าย ราคาไม่แพง ที่สำคัญไม่เพียงแต่เกมเท่านั้นที่ส่งผลกระทบกับเด็กและเยาวชน แต่เว็บไซต์ที่เด็กและเยาวชนสามารถท่องไปในโลกที่พวกเขาอยากรู้อยากเห็นได้อย่างง่ายดาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นปัจจัยเสริมให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมผิดๆ ปัญหาคือ เราจะสร้างเกราะป้องกันทั้งเกมและเว็บไซต์ไม่สร้างสรรค์นี้อย่างไรเพื่อให้เด็กหันมาสนใจเกมสีขาวตระหนักในบทบาทหน้าที่ของเด็กและเยาวชนและมีวิจารณญาณในการเล่นมากขึ้น
ต่อปัญหาดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงจัดทำ "โครงการอบรมเยาวชนในการสอดส่องและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์" หรือ " DSI CYBER FORCE" ขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2547 โดยในปีนี้นับเป็นปีที่ 5 สำหรับโครงการนี้ มีเด็กและเยาวชนผ่านการอบรมในโครงการกว่า 2,000 คน จาก 20 โรงเรียนทั่วประเทศ
พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการ สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า โครงการ "DSI CYBER FORCE" เป็นโครงการที่เน้นให้ความรู้กับเยาวชนในเรื่องพิษภัยทางอินเตอร์เน็ต เพื่อไม่ให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้กระทำต่อเหยื่อเสียเอง โดยในการอบรมแต่ละครั้งจะมีทั้งนักเรียนและครูเข้าร่วมอบรม เพื่อเรียนรู้ถึงลักษณะของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และตระหนักถึงพิษภัยบนอินเตอร์เน็ต รวมทั้งรู้วิธีการแก้ไข การป้องกันภัยทางอินเตอร์เน็ต การรักษาสภาพสถานที่ที่เกิดเหตุ แจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และอาชญากรรมอื่นๆ ที่ใกล้ตัว ภัยด้านความมั่นคง ทั้งในการข่าวปกติ หรือที่ได้รับภารกิจเป็นพิเศษ โดยมีการรายงานข่าวหน้าเว็บไซต์ เพื่อความปลอดภัยของผู้แจ้ง รวมทั้งมีการกระจายความรู้ให้บุคคลรอบข้าง
พ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 สำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมายเพื่อดึงเยาวชนมาเป็นแนวร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษในการติดตามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมากกว่าผู้ใหญ่ มีโอกาสเข้าไปสู่การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ได้ง่าย ดังนั้นการดึงเยาวชนมาร่วมโครงการนี้ นอกจากจะทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องพิษภัยจากคอมพิวเตอร์แล้ว ยังสามารถดึงเข้ามาเป็นแนวร่วมแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย ทั้งนี้การอบรมเยาวชนตามโครงการ "DSI CYBER FORCE" นั้นจะจัดขึ้นทุกๆ ปี โดยแต่ละปีมีเป้าหมายในการอบรมให้ความรู้และดึงเยาวชนระดับมัธยมต้นและปลายเข้ามาเป็นแนวร่วม 600 คน แบ่งการอบรมเป็น 4 รุ่น รุ่นละ 150 คน ซึ่งในปี 2551 นี้มีเป้าหมายเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเริ่มอบรมระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายนนี้
น.ส.รัตนาพร อิ่มอารมณ์ หรือ "น้องติ้ง" นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ หนึ่งในสมาชิกโครงการ "DSI CYBER FORCE" ที่ผ่านการอบรมจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อปี 2550 กล่าวว่า สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพราะตนเองและเพื่อนส่วนใหญ่มีความชอบส่วนตัวในเรื่องคอมพิวเตอร์และตั้งใจว่าจะเรียนต่อทางด้านนี้ เมื่อเห็นโครงการดังกล่าวจึงตอบรับเข้าร่วมอบรมทันที
"การเข้าร่วมโครงการได้รับความรู้มากกว่าที่คิด เช่นเรื่องภัยใกล้ตัวบนโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้เราตระหนักถึงปัญหามากขึ้น และมีเกร็ดความรู้เรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น Search Engine ในการหาข้อมูล และมีการขยายเครือข่ายการแจ้งเบาะแสอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ทำให้รู้ว่าอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร มีกี่ประเภท รู้จักและระวังตัวในการป้องกันมากขึ้น และการอบรมก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ" รัตนาพร กล่าว
"น้องติ้ง" ยังบอกด้วยว่า ตนและเพื่อนๆ ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ต้องเข้าไปใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตทุกวันไม่ที่บ้านก็ที่โรงเรียน บางคนเข้าร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หลังจากเข้าร่วมอบรมโครงการ "DSI CYBER FORCE" ทำให้มีมุมมองในการเข้าอินเตอร์เน็ตต่างไปจากเดิม มีความระมัดระวังมากขึ้น เมื่อก่อนเวลาเข้าไปใช้อินเตอร์เน็ต แล้วพบพวกเมลขยะเด้งขึ้นมาก็จะกดรับไปแบบมั่วๆ ไม่ได้ใส่ใจมากนัก แต่ปัจจุบันทำให้รู้ว่าเมลขยะเหล่านั้นบางอันเป็นไฟล์ต้องสงสัยอาจจะไม่ปลอดภัยกับคอมพิวเตอร์ของเรา มีความระมัดระวังมากขึ้น และตอบปฏิเสธเสียส่วนใหญ่
การเข้าร่วมโครงการ "DSI CYBER FORCE" กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่เพียงแต่จะทำให้ "น้องติ้ง" และเพื่อนเยาวชนอีกหลายโรงเรียนเรียนรู้พิษภัยจากอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังทำให้ "น้องติ้ง" ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการและบทบาทหน้าที่ของเยาวชนคนหนึ่ง เมื่อเธอขึ้นมาอยู่ชั้น ม.6 ในปีนี้ เธอจึงเลือกทำโครงงานเขียนเว็บไซต์ด้วยภาษา HTML โดยมีเนื้อหาในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันพิษภัยจากอินเตอร์เน็ต การแจ้งเบาะแส การเก็บหลักฐานเบื้องต้น และความรู้อื่นๆ ตามที่ตนเคยได้รับ เพื่อเผยแพร่ให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน และเพื่อร่วมขยายเครือข่ายแจ้งเบาะแสอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการ "DSI CYBER FORCE"
อ.พันทูร บุญยัง อาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ กล่าวว่า โครงงานที่ "น้องติ้ง" นำเสนอเป็นโครงงานเดี่ยวภายใต้วิชาคอมพิวเตอร์ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองอย่างอิสระ โดยผลงานของนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมก็จะลิงก์กับเว็บไซต์ของโรงเรียน ส่วนกรณีโครงงานของ "น้องติ้ง" หากผลงานออกมาเป็นที่พอใจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษอนุญาตแล้วก็อาจจะลิงก์กับเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย
อย่างไรก็ตาม อ.พันทูร กล่าวถึงปัญหาที่น่าเป็นห่วงของเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในขณะนี้ว่า สิ่งสำคัญคือ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์อย่างไม่รู้จัก และรู้ไม่เท่าทัน คอมพิวเตอร์จึงเป็นเหมือนทางหลายๆ แพร่งบนโลกอินเตอร์เน็ต เพราะหากเด็กหรือเยาวชนเข้าไปโดยไม่มีเป้าประสงค์ที่แน่นอน หรือไม่มีคีย์เวิร์ดที่ชัดเจนว่าจะเข้าไปค้นคว้าเรื่องอะไร ก็มีโอกาสที่จะหลงไปเว็บไซต์อื่นๆ ได้ ประกอบกับเว็บไซต์บางอย่างสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงส่วนร่วม ขาดความรับผิดชอบ ก็ทำให้เยาวชนหลงเชื่อและเลือกทางผิดบ่อยครั้ง นอกจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็ต้องตั้งมั่นในเป้าหมายด้วย เพราะหากเอนเอียงเมื่อไร เขาก็อาจหลงเข้าไปในอินเตอร์เน็ตไม่พึงประสงค์ทันที สิ่งสำคัญคือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันให้ความรู้กับเยาวชนในการใช้คอมพิวเตอร์อย่างถูกต้องและรู้เท่าทัน โดยไม่ปิดกั้น เพราะการปิดกั้นจะทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้น ดังกรณีโครงการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ นับเป็นโครงการที่ดี ซึ่งเปิดกว้างให้เยาวชนเข้าไปใช้อินเตอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน และสำหรับตนในฐานะอาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์และผู้ดูแลระบบอินเตอร์เน็ตแล้วโครงการนี้นับเป็นอีกโครงการที่ดีมากและอยากให้มีต่อไปเรื่อยๆ
พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษหวังว่าโครงการ "DSI CYBER FORCE" จะทำให้เยาวชนรู้เท่าทันภัยที่มาจากคอมพิวเตอร์ พร้อมให้คุณค่ากับเยาวชนว่าเขาเป็นผู้มีความสามารถทำความดีให้เพื่อนให้สังคมของเขาได้โดยการเป็นเครือข่ายยุติธรรมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการสอดส่องดูแล แจ้งเบาะแสการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ช่วยเหลือราชการ ประเทศชาติ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หวังว่าจะขยายเครือข่ายเยาวชนออกไปให้กว้างขวางและครอบคลุมมากที่สุด