“เอแบคโพล” ชี้ชัดประชาชนส่วนใหญ่หนุนแก้รัฐธรรมนูญโจร เชื่อถ้าไม่ได้รับการแก้ไขบ้านเมืองถึงขั้นวุ่นวายแน่ ซัดกฎหมายโจรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรคการเมือง ด้านนายกฯ “สมัคร” ฉะพันธมิตรฯ ต้านแก้รัฐธรรมนูญ เพราะห่วง ม.63 เกรงถูกสกัดการชุมนุมป่วนเมือง
หลังจากที่ประชุมวิปรัฐบาลเห็นชอบให้เสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ และได้เลื่อนวันยื่นญัตติไปเป็นวันที่ 18 สิงหาคม โดยมีหลายหน่วยงานออกมาสนับสนุนให้มีการแก้ไข เพราะประเด็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นตัวตั้ง เพื่อปิดช่องว่างทางกฎหมายซึ่งทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายในปัจจุบันนั้น
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "สถานการณ์บ้านเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาของสาธารณชน" กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ระยอง ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย สกลนคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ กระบี่ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 3,880 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ.2551
เมื่อถามความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุ คิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น สำหรับความทุกข์ใจของสาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองใน 4 ปัญหาหลัก ของประเทศพบว่า สถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนทุกข์ใจมากเป็นอันดับแรกหรือร้อยละ 52.2 คือความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาคือร้อยละ 49.7 ระบุ เป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มหนุนกับกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ขณะที่ร้อยละ 48.7 ระบุ ทุกข์ใจต่อปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ และร้อยละ 38.5 ระบุ ทุกข์ใจต่อปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา กรณีประสาทเขาพระวิหาร
ดร.นพดล กล่าวว่า ในส่วนของความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าถ้าไม่แก้แล้วจะเกิดความวุ่นวายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เป็นต้น ขณะที่ประชาชนจำนวนมากเช่นกัน หรือร้อยละ 46.7 ไม่เห็นด้วย เพราะถ้าแก้ไขจะเกิดความวุ่นวาย เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และพวกพ้อง ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมลงประชามติก่อน เป็นต้น
“ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 เห็นด้วยว่า ควรลงประชามติถามประชาชนก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เมื่อจำแนกประชาชนออกตามภูมิภาคพบว่า ประชาชนในทุกภาคยกเว้นภาคใต้นั้น เกินกว่าครึ่ง คือภาคเหนือร้อยละ 55.4 ภาคกลางร้อยละ 59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 51.9 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 56.7 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ภาคใต้ร้อยละ 42.7 ที่เห็นด้วย แต่ร้อยละ 57.3 ของคนในภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ดร.นพดล กล่าวอีกว่า กลุ่มคนที่น่าสนใจคือ คนที่ประกาศตนเองว่าเป็นพลังเงียบ ไม่ขออยู่ฝ่ายใด กำลังถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มพอๆ กัน คือ ร้อยละ 51.6 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองอ่อนแอ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 48.4 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย และเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เป็นต้น
ด้าน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการสนทนาประสาสมัคร ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT ว่าสังคมปัจจุบันอยู่ในความแตกแยกเป็นฝักฝ่าย มีการกำหนดวันที่ให้รัฐบาลต้องลาออก ปลุกระดมชาวบ้านหรือขนประชาชนมา กทม. หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Show down โดยบอกว่าจะยึดศาลากลางทั้งหมดไม่ให้ทำงานกันได้ และหวังให้ทหารออกมา แต่ทหารก็ยังไม่ออก
นายสมัคร กล่าวว่า กลุ่มพวกนี้ต้านการแก้รัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่าควรมีการพิจารณาคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จบก่อน เนื่องจากเกรงว่าจะไปกระทบกับเรื่องคดีความ จริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น แต่กลุ่มต้านกลัวรัฐบาลไปแก้มาตรา 63 ทำให้ไม่สามารถชุมนุมได้ ทั้งที่รัฐบาลและกองทัพพยายามสร้างความสงบให้บ้านเมือง รวมถึงการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมไทยมีความแตกแยกแต่ไม่รู้ว่ามีอัตราส่วนเท่าไร แม้กระทั่งศาลเองที่มีการพิจารณาคดีก็ยังต้องออกตัวว่าตัดสินคดีด้วยความเป็นกลาง กับมีการใช้โทรทัศน์เอเอสทีวีปลุกระดมให้คนไทยแบ่งค่ายกัน ด่าทอด้วยคำหยาบคาย