ที่มา ประชาทรรศน์
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย
ผู้ที่สนใจการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 26 มกราคม หรือเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว คงรู้ว่า ในระเบียบวาระการประชุม เรื่องด่วนที่ 1 พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เสนอโดยประชาชน แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ พรรครัฐบาลเสนอให้เลื่อนวาระที่ 2 การให้ความเห็นชอบเอกสารสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบของอาเซียนขึ้นมาก่อน รัฐสภาจึงยังคงไม่พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว แล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร แม้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน และคณะกรรมการประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ได้ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา เสนอให้รัฐสภาเร่งนำมาพิจารณาก็ตาม และที่สำคัญ รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มิได้สนใจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนเลย
ท่านทั้งหลายคงจำได้ว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้จัดตั้ง คปพร. เพื่อดำเนินการรวบรวมรายชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 คน เพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อันเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 291(1) โดยมีเหตุผลและหลักการแก้ไขทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 แล้วนำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 (แก้ไขเพิ่มส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย) มาใช้ ปรากฏว่า มีประชาชนผู้รักประชาธิปไตย อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมลงชื่อจำนวนกว่าสองแสนค น แต่ที่มีสิทธิเลือกตั้งและเอกสารครบถ้วนจำนวน 71,543 คน ต่อมา ประธานรัฐสภาได้บรรจุเข้าวาระการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551
การที่รัฐสภายังไม่นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน สาเหตุสำคัญมาจากรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน 2 ชุด รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่กล้าเสนอให้รัฐสภาพิจารณา กลัวการต่อต้านจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวกอำมาตยาธิปไตย รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภาสรรหา แต่มาถึงขณะนี้ มีการเปลี่ยนขั้วย้ายข้าง พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐสภาโดยเฉพาะรัฐบาลยังไม่มีท่าทีต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ แถลงว่าจะดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป พูดอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทางการเมืองก่อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาทีหลัง ส่วนท่าทีต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คปพร. ซึ่งอยู่ในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 วาระแรก ยังไม่รู้ข่าวว่ารัฐบาลคิดอย่างไร จะให้ ส.ส. ของพรรคเสนอเลื่อนไปเรื่อยๆ หรือจะให้พิจารณาสัปดาห์ต่อไปหรือไม่
ผมขอเสนอว่า ถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ก็ทำได้ 2 ทาง คือ เสนอร่างฯ ของตนมาประกบ หรือไม่รับหลักการคว่ำร่างของประชาชนไปเลย ไม่ต้องรู้สึกลำบากใจ จะได้รู้กันว่า รัฐบาลและรัฐสภาชุดนี้ยังกอดรัดรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองและการบริหารประเทศตลอดเวลา และไม่แยแสต่อความคิดเห็น ความเรียกร้องต้องการของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยเป็นยุทธศาสตร์ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยหรือคนเสื้อแดง นปช. จะยืนหยัดเคลื่อนไหวต่อไป เพราะเชื่อว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการแก้ไข วิกฤติทางการเมือง ปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ และที่สำคัญ ระบอบการปกครองของประเทศไทยไม่อาจเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาชนไม่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง