ที่มา ไทยรัฐ
ในหนังสือชื่อ แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงคลองด่านช่วงที่เป็นคลองมหาชัย
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ระบุว่า
เมื่อ พ.ศ.2247 (ตรงกับจุลศักราช 1066 ปีวอก ฉศก) สมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จฯโดยเรือพระที่นั่งเอกชัย จะไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี
ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงคลองโคกขาม แลคลองที่นั่นคดเคี้ยวนัก แลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่ง คัดแก้ไขมิทันที แลศีรษะเรือพระที่นั่งนั้น โดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้า
ก็หักตกลงไปในน้ำ
พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึ่งโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง แลขึ้นอยู่บนฝัง แล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า “ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ทำศาลขึ้นที่นี้ สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับศีรษะเรือพระที่นั่ง...ขึ้นมาบวงสรวงไว้ด้วยกัน ณ ที่นี้
ตามพระราชกำหนดบทพระอัยการเถิด”
จึ่งมีพระราชโองการตรัสว่า ไอ้พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้น ก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้ กูจะยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเอ็งแล้ว
พันท้ายนรสิงห์จึ่งกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรด มิได้เอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ว่าจะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป
แลซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดังนี้ ดูมิบังควรยิ่งนัก นานไปภายหน้า เห็นว่าคนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้.....
จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายทั้งปวง ปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ขึ้นแล้ว ก็ให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเสีย แล้วดำรัสว่า ไอ้พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งโทษเอ็งถึงตายแล้วนั้น กูประหารชีวิตเอ็งพอเป็นเหตุแทนตัวเอ็งแล้ว เอ็งอย่าตายเลย
จงกลับมาลงเรือไปด้วยกันกับกูเถิด
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำรัสวิงวอนไปหลายครั้ง พันท้ายนรสิงห์ก็มิยอมอยู่ ทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่พันท้ายนรสิงห์ เป็นอันมาก จนกลั้นน้ำพระเนตรไว้มิได้
จำเป็นจำทำตามพระราชกำหนด จึ่งดำรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงประมาณเพียงตา แลให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น
เสร็จการประหาร...พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “ทรงพระดำริว่า ณ คลองโคกขามนั้น คดเคี้ยวนัก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมไปไกลกันดารนัก ควรเราจะให้ขุดลัดตัดเสียให้ตรง จึงจะชอบ”
นี่คือที่มาของการขุดคลองมหาชัย...ความยาว 340 เส้น ที่เรารู้จักกันถึงวันนี้
สุจิตต์ วงษ์เทศ ย้ำข้อมูลเรื่องการขุดคลอง ซึ่งมาเสร็จสิ้นในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แต่ผมยังจับใจประเด็นการยอมถวายชีวิต เพื่อรักษากฎหมาย ซึ่งไม่เคยปรากฏมีในสมัยไหนๆ
สมัยนี้ เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ดูเหมือนว่า ละเลยกันมานาน แต่กระนั้น ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะใช้กันได้
รัฐบาลที่มีผู้ก่อการร้ายเป็นรัฐมนตรี จะยอมลูบหน้าปะจมูกได้ยังไง ปมปัญหานี้คือหินลองทอง จะเป็นทองนพคุณเนื้อเก้า ทองเนื้อหก หรือทองเก๊ อีกไม่ช้าน่าจะได้รู้กันแล้ว.
กิเลน ประลองเชิง