ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : ตาต่อตาฯ
ศุภชัย ใจสมุทร
เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในฐานะนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 1 ซึ่งมีคำย่อว่า สสสส.1 ได้เดินทางไปพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่น ยัง 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพื่อศึกษาสภาพปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมายืดเยื้อยาวนาน และดูเหมือนว่าไม่มีผู้ใดตอบได้ว่าจะยุติลงเมื่อใด
เป็นการเดินทางไปโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่านนายกรัฐมนตรีและคณะที่ได้ไปยัง 3 จังหวัดภาคใต้เช่นเดียวกัน
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติลงได้ทุกรัฐบาลตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปัญหานี้ยังคงดำรงอยู่ และจากการค้นพบจะเห็นว่า ปัญหาของพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้มีการนำเสนอต่อรัฐบาลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา มีความคล้ายคลึงกัน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือข้อเสนอแนะในทุกรัฐบาลก็ไม่ได้รับการตอบสนองในทางปฏิบัติ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจวิเคราะห์ได้ว่า รัฐบาลไม่เข้าใจปัญหาหรือหลงประเด็น หลงข้อมูล จนเป็นเหตุให้รัฐเดินไปตกหลุมพรางของกลุ่มผู้ก่อความวุ่นวายตลอดมา
ดูเสมือนว่าในอดีตทำให้เห็นได้ว่ารัฐขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา เช่น การสนองความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ที่มีความต้องการสร้างเขตปกครองพิเศษ (พื้นที่พิเศษ) แม้จะไม่มีการแสดงความต้องการโดยตรงจากประชาชน แต่ด้วยความเหมาะสมและความเป็นไปได้แล้ว พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสร้างขึ้นเป็นเขตพื้นที่พิเศษได้ ทั้งความพิเศษทางสังคม ผู้คนวัฒนธรรม ซึ่งมีความแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่
แต่ทุกครั้งที่มีการเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา มักจะถูกตีความถึงการแบ่งแยกดินแดง จึงเหมือนการเดินทางออกห่างจากปัญหาที่แท้จริง และทำให้ปัญหายังคงดำรงอยู่และการแก้ปัญหาไม่อาจจะลงสู่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริงได้
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องไทยมุสลิมในทางที่ไม่ดีกับทุกคน โดยเฉพาะความหวาดระแวงต่อมุสลิม การมองว่ามุสลิมเป็นผู้นิยมก่อการร้ายและความรุนแรง ทำให้การเรียนรู้และการยอมรับระหว่างคนในสังคมมีความยากจนยิ่งขึ้น
ความจริงแล้วอิสลามเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ และเป็นศาสนาของประชากรส่วนน้อยในอีกนับร้อยประเทศ รวมแล้วมีประชากรมุสลิมทั่วโลกประมาณ 1,600 ล้านคน ในกลุ่มประเทศอาหรับที่เป็นต้นกำเนิดของศาสนา และมีอิสลามเป็นศาสนาหลัก ก็มีมุสลิมอยู่ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอิสลามเป็นศาสนาอันดับหนึ่ง มีประชากรที่เป็นมุสลิมมากกว่า 200 ล้านคน อินเดีย ซึ่งมีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลักและมีประชากรรองจากจีน ก็มีมุสลิมเกือบ 200 ล้านคน แม้กระทั่งจีนก็มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างน้อย 60 ล้านคน
ในประเทศไทยเองมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ร้อยละ 5 หรือกว่า 3 ล้านคน อยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น ภาคใต้ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่นทุกพื้นที่ มุสลิมไทยในแต่ละพื้นที่ถึงแม้จะมีประวัติความเป็นมาและภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมจะแตกต่างกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์ในแทบทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความศรัทธาหรือศาสนา อย่างไรก็ตามมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง เนื่องจากมีภูมิหลังทางด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ประเพณี และวัฒนธรรม ที่มีผลให้วิถีชีวิตมีลักษณะจำเพาะของตนเอง ซึ่งการที่จะทำความเข้าใจอย่างถูกต้องในประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่รัฐต้องทำความเข้าใจ
เวลานี้รัฐบาลประชาธิปัตย์ดูจะเป็นความหวังครั้งใหม่ว่า ปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติลงได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เข้าใจสภาพปัญหาและรู้วิธีแก้อย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจก็คือต้องแยกแยะและวิเคราะห์ให้ได้ว่าปัญหาความสงบที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใดอย่างแน่ชัด เพราะเมื่อรู้และเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริงแล้ว จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
นอกจากนี้ไม่ควรมุ่งเน้นใช้นโยบายกวาดล้างและเร่งปราบปรามอย่างหนักด้วยการใช้กำลังทหาร เพราะจะทำให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรง และขยายวงกว้างขึ้นตามมา ซึ่งยิ่งจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและบานปลายมากขึ้นไปอีก เพราะการต่อสู้แต่ละครั้งจะสร้างความเสียหายแก่ท้องถิ่นเป็นอันมาก การใช้กำลังจึงควรจะดำเนินการให้เหมาะสมและอยู่ในกรอบอันควร
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมุ่งให้ความสำคัญต่อนโยบายการพัฒนา และการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม (การศึกษา) รวมทั้งมีนโยบายที่มุ่งสร้างความร่วมมือทั้งสังคมและวัฒนธรรม เพื่อการเรียนรู้ และเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ
รัฐบาลนี้มี ครม.ชุดพิเศษขึ้นโดยเฉพาะกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงหมดข้อแก้ตัว หากยังแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ