ที่มา ไทยรัฐ
แค่ปีเผาหลอก...ยังไม่ได้เป็นปีเผาจริง ปี 2551 ที่ผ่านมา มีโรงงานแจ้งขอเลิกกิจการกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2,294 แห่ง มากกว่าปี 2550 ร้อยละ 14.13
ปีนี้เผาจริง จะมีโรงงาน ธุรกิจห้างร้าน ปิดตัวเองไปอีกเท่าไร จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกมากมายขนาดไหน
คนตกงานมากขึ้น ขาดรายได้ ยากจนลง ผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดตามมามีมากมาย ไหนจะอาชญากรรม ลักจี้ชิงปล้น โจรขโมยชุกชุม และปัญหาสังคมอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้...
ยาเสพติด อาจจะลามระบาดมากขึ้นมาได้
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น...ประเทศไทยเคยเจออย่างหนักหนาสาหัสมาแล้ว
วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540
“ก่อนหน้าเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นสถิติการจับยาบ้าแต่ละปี แค่หลักล้านเม็ดต้นๆ พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง สถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักสิบล้านได้ 20-30 ล้านเม็ด เรียกว่า สถิติพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ยิ่งในช่วงปี 2544-2545 ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ จับกุมได้ปีละกว่า 100 ล้านเม็ด จนต้องประกาศทำสงครามกับยาเสพติดในปี 2546”
มือปราบผู้คลุกคลีในงานปราบปรามยาเสพติดมากว่า 30 ปี ให้ข้อมูลในแบบไม่ประสงค์ให้เอ่ยนาม ด้วยเหตุผลติดขัดในเรื่องตำแหน่งหน้าที่
วิกฤติต้มยำกุ้ง มีประวัติหลักฐาน วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้ยาเสพติดระบาดมากขึ้น...วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ จะเกิดซ้ำ ย้ำรอยเดิมหรือไม่?
“ตอนนี้สถานการณ์ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้ายังอยู่ในอาการทรงตัว ไม่ดีขึ้นหรือเลวลง วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะทำให้มันระบาดมาเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องที่เรากำลังเฝ้าระวังจับตาอยู่ว่าจะเหมือนเก่าหรือไม่
เพราะเงื่อนไข สถานการณ์ ปัจจัยแวดล้อมของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ กับวิกฤติต้มยำกุ้ง ไม่เหมือนกันซะทีเดียว”
ผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดอธิบายขยายความให้ฟังถึง “ความไม่เหมือนกัน” ว่า...
แม้วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ กับวิกฤติต้มยำกุ้ง จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเหมือนกัน ทำให้ธุรกิจห้างร้าน โรงงานต้องปิดตัวเอง ทำให้คนตกงานมากขึ้นเหมือนกันก็ตาม...แต่ภูมิหลัง ความเป็นไปในธุรกิจยาเสพติดของวิกฤติเศรษฐกิจ 2 ยุค มีสภาพแตกต่างกัน
ก่อนหน้ายาบ้าจะมาบูมอย่างขีดสุดในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง...สภาพการณ์ในขณะนั้น การตลาดยาบ้ากำลังอยู่ในช่วงที่กระจายแพร่ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ทุกชนชั้นของสังคมไทย
ยุคนั้นธุรกิจค้ายาบ้าเติบโตมาได้ สาเหตุมาจากในยุค ช่วงปี 2530 ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ บูมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และคมนาคม มีการเร่งก่อสร้างบ้าน อาคาร ถนนหนทางมากมาย
คนงาน กรรมกรจะทำงานให้มีรายได้มากก็ต้องพึ่งยาม้า (ยุคนั้นยาบ้า ยังใช้ชื่อว่า ยาม้า) การใช้ยาเสพติดชนิดนี้จึงแพร่หลายมากขึ้น...กินกันเพื่อจะได้ขยัน ไม่ง่วง มีแรงทำงาน
จากนั้นการใช้ยาเสพติดชนิดนี้ได้แพร่หลายไปทั่ว ตามเงาของภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตแบบเร่งรัด จากกรรมกรผู้ใช้แรงงานในเมือง และตกหล่น แพร่เข้าสู่เยาวชนในเขตเมือง
พร้อมกับแพร่หลายเข้าสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน...ตกหล่นแพร่ระบาดเข้าสู่เยาวชนในชนบท
“ช่วงปี 2537-2538 ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เรียกได้ว่า ตอนนั้นธุรกิจยาบ้ากำลังเฟื่องฟูมาก ดีมานด์มีมากกว่าซัพพลาย ยาบ้ามีเท่าไรก็ขายได้หมด ยาบ้าขายดีมาก ถึงขั้นกลุ่มผู้ผลิตเฮโรอีนในพม่า ต้องเปลี่ยนสายการผลิตเฮโรอีนมาเป็นยาบ้าแทนกันเลยทีเดียว”
ขณะที่ธุรกิจยาบ้ากำลังพุ่ง กลุ่มผู้ผลิตในประเทศเพื่อนบ้านสามารถผลิตยาบ้าป้อนเข้าสู่ตลาดประเทศไทยได้แล้ว บังเอิญประจวบเหมาะกับที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้นพอดี
“การจับกุมยาเสพติดในช่วงนั้น เราแทบจะจับยาบ้าสีเทา สีช็อกโกแลตไม่ได้เลย ที่จับได้ล้วนแต่เป็นยาบ้าสีส้ม ปั๊มตรา WY ที่ผลิตจากกลุ่มว้าแดงแทบทั้งสิ้น
วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในช่วงปี 2541-2542 ตอนนั้นเรียกได้ว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่ชายแดนพม่ากันเลยทีเดียว เพราะมีคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ บางคนคิดสั้น ด้วยการรับจ้างขนยาบ้าเข้ามาขายในประเทศไทย”
จากเริ่มแรกรับจ้างแค่ขน ก็พัฒนามาเป็นขนเองขายเอง ยกระดับเป็นผู้ค้า เป็นดีลเลอร์ เป็นเอเย่นต์ให้กับผู้ผลิต เพราะขนมาเท่าไหร่ก็ขายได้...
ไม่เกิน 7 วันหมด
ยุคต้มยำกุ้ง...วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจยาบ้าบูม เพราะตอนนั้น ดีมานด์ หรือความต้องการยาบ้าของคนไทยมีมาก
แต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ยุคนี้...ความต้องการยาบ้าของคนไทย ไม่เหมือนเดิม
หลังจากมีการประกาศสงครามกับยาเสพติด ในปี 2546...ดีมานด์ของยาบ้าเปลี่ยนไป คนไทยมีความต้องการน้อยลง ไม่เป็นที่นิยมเหมือนในอดีต สาเหตุ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก
1.การประกาศสงครามกับยาเสพติด มีการนำผู้เสพ 300,000 คน เข้ารับการบำบัด...เจอมาตรการนี้เข้าไป ลูกค้าส่วนใหญ่หายไปไม่น้อย
2.การปราบปรามที่รุนแรงในช่วงประกาศสงครามยาเสพติด ทำให้การค้าขายมีความเสี่ยงสูง ทำให้ผู้เสพ ผู้ค้าบางส่วนเลิกไป
3.สำคัญที่สุด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทุกหน่วยงานร่วมมือโหมรณรงค์เข้าถึงทุกชุมชน โดยเฉพาะการโหมโฆษณาไปในทำนอง คนเสพตาย คนขายติดคุก
ทำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะในชนบทที่เคยเข้าใจผิดเรื่องยาบ้าว่า เสพจะได้มีแรงทำงานได้มาก จนทำให้เกิดกระแสตื่นตัวกลัวภัยยาบ้าขึ้นมาในชนบท นอกจากจะไม่กล้าซื้อมากินแล้ว จะมีการจัดตั้งชุมชนเข้มแข็ง ออกกฎเหล็กจัดการผู้เสพผู้ค้ากันเองอีกด้วย
ยาบ้าที่เคยหาง่ายขายคล่องในชนบท ก็เลยขายได้ยากขึ้น...ตลาดส่วนนี้หด ความต้องการก็เลยน้อยลงอีก
“อีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ว่า การประกาศสงครามได้ผล และปัจจุบันนี้สถานการณ์ ไม่เหมือนเก่าก็คือ ในช่วงปี 2544-2545 ที่ธุรกิจค้ายาบ้าบูมสุดขีดนั้น ในพม่ามีโรงงานหลักระดับผลิตหัวเชื้อยาบ้าได้ 10 โรง แต่พอเราประกาศสงคราม โรงงานระดับนี้เหลือแค่ 2 โรง”
และการสืบสวนในทางข่าว ช่วงปี 49 มีโรงงานระดับนี้อยู่ 2-3 โรง
ถึงช่วงนี้สถานการณ์ยาบ้าจะไม่รุนแรง แต่มียาเสพติดตัวหนึ่งน่าจับตาไม่แพ้ยาบ้า
นั่นก็คือ...ไอซ์
“การปราบยาบ้าในยุคประกาศสงคราม ทำให้ยาบ้าหาได้ยากมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กลับพบไอซ์มากขึ้น
แต่โชคดีที่ไอซ์ยังมีราคาค่อนข้างแพง เลยยังเป็นที่นิยมเสพกันในหมู่นักเที่ยวกลางคืน เฉพาะในกลุ่มคนมีเงินเท่านั้น ยังไม่ระบาดแพร่หลาย”
กระนั้นก็ตาม...หากเกิดมีผู้ผลิตรายไหนดัมพ์ราคาไอซ์ขึ้นมา ปัญหาอาจจะลุกลามเหมือนยาบ้าได้
เพราะไอซ์กับยาบ้านั้น...ไม่ต่างกัน
หัวเชื้อเป็นตัวเดียวกัน คือ เมทแอมเฟตามีน..ต่างกันแค่เรื่องความบริสุทธิ์
ยาบ้า...เมทแอมเฟตามีน เข้มข้น 20-25%
ไอซ์...มีเมทแอมเฟตามีน เข้มข้น 90%
ต้นทุนผลิตแพงต่างกันแค่ 3 เท่าตัว...แต่ไอซ์ที่ขายกันตอนนี้ แพงกว่ายาบ้าเป็นพันเท่า
โอกาสที่จะดัมพ์ราคาสร้างตลาดยังมี...แถมตอนนี้ยาบ้าราคาค้าแล้วกำไรยังสูง วิกฤติอย่างนี้ยังมีคนหวังรวยแบบคิดสั้นไม่ใช่น้อย...วันเก่าๆ มีสิทธิหวนคืน.