ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : สิทธิประชาชน
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย
ข่าวกองทัพบกสั่งห้าม ร.ท.(หญิง) สุณิสา เลิศภควัต หรือหมวดเจี๊ยบ ผู้เคยบินไปสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลอนดอน นำมาเขียนเป็นหนังสือ “Thaksin where are you” อันโด่งดังในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นพิธีกรรายการ “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ของสถานีโทรทัศน์ดีทีวี สถานีประชาธิปไตย โดยอ้างระเบียบกระทรวงกลาโหมปี พ.ศ.2499 มีข้อที่น่าคิดว่า คำสั่งนี้เป็นการจำกัดสิทธิแล้วก็เป็นการเลือกปฏิบัติต่อหมวดเจี๊ยบหรือไม่ เพราะแม้เธอจะเป็นข้าราชการทหาร แต่มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเหมือนบุคคลทั่วไป ซึ่งรับรองไว้ในมาตรา 31
“บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม”
ตามมาตรานี้ หมวดเจี๊ยบมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปหรือพลเมืองไทย ในกรณีนี้ คือ สิทธิในการประกอบอาชีพตามมาตรา 43 เพราะการเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ดีทีวี ถือเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งของเธอ ประการต่อมา หมวดเจี๊ยบเคยเป็นนักข่าว ผู้ประกาศข่าวของโทรทัศน์ช่อง 5 มีประวัติไปทำข่าวถึงอิรัก ในแง่นี้หมวดเจี๊ยบจึงเป็นสื่อมวลชน แม้หน้าที่การงานในสำนักงานเลขานุการกองทัพบกจะไม่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม เมื่อเตรียมมาเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ดีทีวี เธอเป็นสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพของสื่อมวลชน ตามมาตรา 46 สุดท้าย หมวดเจี๊ยบมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการพูด ตามมาตรา 45
แม้รัฐธรรมนูญทุกมาตราที่เกี่ยวข้องจะมีข้อจำกัดเสรีภาพ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ และวินัย เนื่องจากหมวดเจี๊ยบเป็นทหาร แต่เมื่อหมวดเจี๊ยบยังมิได้ดำเนินรายการ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ กองทัพบกรู้ได้อย่างไรว่าเธอจะซักถาม แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร เข้าข่ายผิดวินัยของทหารหรือไม่ เพียงแต่คิดว่า ดีทีวี เป็นโทรทัศน์ของคนเสื้อแดง จะต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแน่นอน หากหมวดเจี๊ยบไปจัดรายการกับสถานีนี้ ย่อมผิดระเบียบกระทรวงกลาโหม และตามรัฐธรรมนูญ อาจถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ กองทัพบกมีอำนาจห้ามหมวดเจี๊ยบได้
เมื่อพิจารณาเนื้อหาของการกระทำ จนถึงวันนี้ หมวดเจี๊ยบยังมิได้ดำเนินรายการ “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ยังไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการเมือง กองทัพบกคิดได้อย่างไรว่า เธอจะทำความผิดทางวินัย จึงต้องออกคำสั่งห้าม หากหมวดเจี๊ยบแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมีเนื้อหาส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยเป็นโทรทัศน์ของคนเสื้อแดง แม้จะวิจารณ์รัฐบาลบ้าง ผมคิดว่า ไม่น่าจะผิดระเบียบกลาโหม เพราะที่ผ่านมา ก็มีนายทหารระดับต่างๆ จัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ เช่น ช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 มี พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุยานเกราะและจัดตั้งชมรมวิทยุเสรีโจมตีขบวนการนักศึกษา ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและมีความคิดสังคมนิยม ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และโจมตีรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อย่างรุนแรงว่ามีหลายคนในรัฐบาลเข้าข้างขบวนการดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 2 ปี จนนำมาสู่การสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เรียกกันว่า “กรณีนองเลือด 6 ตุลาคม”
คงจำกันได้ว่า สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาค 3 พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ผบ.ทหารเรือ ผบ.ทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองวิจารณ์และกดดันรัฐบาล หลายครั้ง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุดขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ร่วมยึดทำเนียบรัฐบาล กองทัพบกไม่เคยออกคำสั่งห้าม แต่กับหมวดเจี๊ยบ แค่เตรียมไปเป็นพิธีกรสถานีโทรทัศน์ประชาธิปไตย ยังออกคำสั่งห้าม แล้วก็คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกรณีไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเขียนหนังสือ “Thaksin where are you” อาจจะเร่งสอบสวนปิดคดีก็เป็นไปได้ การกระทำของกองทัพบก หากไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและเลือกปฏิบัติต่อหมวดเจี๊ยบแล้ว จะให้คิดว่าเป็นอะไร
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ตอบด้วย