ที่มา ประชาทรรศน์
'เหลิม'นำทีมฝ่ายค้านเปิดฉากถล่มแหลกงบประมาณกลางปี ระบุกระจุกตัวอยู่แต่พรรคการเมืองเหมือนเป็นการหาเสียงล่วงหน้า ขณะที่ “สุนัย” แฉกลางสภางบเรียนฟรีกว่าหมื่นล้าน ออกอาการฉาว! ทั้งงบตำรากว่า 6 พันล้าน และชุดนักเรียน 4 พันล้าน แพงกว่าเอกชนถึง 2 เท่า กังขาเพิ่งกำหนดราคากลางไปหมาดๆ ขณะที่ ครม.อนุมัติงบประมาณ 607 ล้านซื้อหนี้เกษตรกร ไม่ให้ที่ดินที่นำไปจำนองตกอยู่ในมือนายทุน พร้อมกับอนุมัติอีกหมื่นล้านเข้ากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แถมด้วยขยายกรอบการจ่ายเงิน 2 พันถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา มีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 วงเงินงบประมาณ 116,700 ล้านบาท
โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงเหตุผลการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมดังกล่าวว่า เนื่องจากในปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รายได้ภาคครัวเรือนลดลงจากปัญหาการจ้างงาน การลดลงของสินค้าเกษตร รวมทั้งความเชื่อมั่นภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกระจายไปสู่ระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยการลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ และดำเนินโครงการด้านโครงการพื้นฐานที่จำเป็นในชนบท พร้อมยืนยันว่าเวลาที่ให้ฝ่ายค้านอภิปราย 5 ชั่วโมงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ซัดงบกระจุกตัวส่อหาเสียงล่วงหน้า
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ซึ่งใช้สิทธิผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการอภิปรายโจมตีร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 หรือ งบกลางปี โดยเห็นว่า การตั้งงบประมาณกว่า 1.6 แสนล้านบาท ของรัฐบาลไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ อีกทั้งไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน นอกจากอยู่ในกรอบเฉพาะแค่พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น และยังเป็นการหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนโยบายประชานิยมที่ลอกเลียนแบบมาจากสมัยอดีตนายกฯทักษิณ นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณของแต่ละกระทรวงในสัดส่วนที่น้อยเกินไปไม่มีความเหมาะสมเช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์
ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลใช้งบประมาณในการพัฒนาท่องเที่ยวของไทยที่ลดลงไม่ตรงจุด เพราะปัญหาการท่องเที่ยวที่ลดลงนั้นไม่ได้มาจากสถานที่ แต่เป็นเพราะขาดความเชื่อมั่นหลังมีการปิดสนามบินและสถานที่สำคัญต่าง ๆ
แฉ!ตำรา-ชุดนักเรียนส่งกลิ่นทุจริต
ในขณะที่ นายสุนัย จุลพงษศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เปิดเผยก่อนการประชุมว่าตนจะแฉถึง นโยบายการเรียนฟรี ของรัฐบาล โดยเฉพาะ การแจกหนังสือ และเสื้อผ้านักเรียนฟรี ที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะดูดี แต่จากการตรวจสอบในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า มีการสอดไส้ ตกแต่งงบประมาณเกิดขึ้น โดยเฉพาะราคาหนังสือ ที่เนื้อหา ได้รับการรับรองจากคุรุสภา เหมือนกัน และสามารถนำไปสอนได้เช่นกัน แต่กลับเปลี่ยนปก สอดไส้ เพิ่มราคาเป็น 1 เท่า จากเมื่อก่อน 50 บาท เป็น 100 บาท ซึ่งจะคล้ายกับกรณีปลากระป๋องเน่าไปทุกทีแล้ว
“เพราะนโยบายความไม่มั่นใจของท่านนายกฯ คือท่านจับอะไรไม่มั่น ท่านพูดสวยๆ หรูๆ ให้มันเท่ๆ เท่านั้น อยากถามนายกฯว่า บัตรเครดิตที่อยู่ในกระเป๋า ยังรักษาไม่อยู่ ยังหายเลยคนใช้ยังนำไปเบิกเงินได้ มาวันนี้ งบประมาณเป็นแสนล้าน จะรักษาอย่างไร ”
ราคากลางตำราแพงกว่าเอกชน2เท่า
หลังจากนั้นนายสุนัย ได้อภิปรายในสภาว่าจะพูดถึงกลิ่นเหม็นของปลากระป๋องที่ลามไปถึงเสื้อผ้านักเรียนและหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่ามีนโยบาย 90 วัน แจกฟรี หนังสือ เสื้อผ้า ซึ่งใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ กว่าหมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเฉพาะค่าหนังสือกว่า 6, 430 ล้านบาท ค่าเครื่องแบบอีก 4,000 ล้านบาท โดยมีการประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคม เพื่อกำหนดราคากลางของหนังสือ โดยใช้มาตรฐานขององค์การค้า (สกสค.)ซึ่งปรากฏว่า หนังสือทุกเล่มมีราคาแพงกว่าเอกชนถึง 1 เท่า เกือบทั้งหมด ฉะนั้นราคาจริง คือครึ่งเดียวของงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาทนี้ ที่รัฐมนตรีบอกว่าให้ใช้ราคากลางของ สกสค. แล้วลดลงมาอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังแพงกว่าของเอกชนอยู่ดี อีกทั้งยิ่งไปกำหนดให้ยึดตามราคาขององค์การค้าด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้มีปัญหามากขึ้น เพราะต่อไปราคาหนังสือเรียนก็จะเขยิบขึ้นตามกันหมด ไม่มีการแข่งขันต่อไปจึงอาจจะมีการเปลี่ยนแค่ปกหนังสือแล้วนำมาขายกัน เรื่องนี้รัฐมนตรียังไม่ได้ทุจริต แต่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ชุดนักเรียนอ้างมีมอก.ราคาพุ่งพรวด
ส่วนเรื่องเครื่องแบบนักเรียนที่บอกว่าจะแจก ได้ติดตามไปดูเนื้อผ้าของกางเกงหรือไม่ แล้วใครตั้งสเป็กไว้ไม่ทราบพยายามตั้งให้แพงเอาไว้ก่อน กางเกงทั่วไปเนื้อผ้าดีๆ ราคา 100-200บาทเท่านั้น แต่ถ้าเป็นตราสมอมี มอก. ตามที่ตั้งสเป็กไว้ราคาตัวหนึ่ง 300 เกือบ 400 บาท เปรียบเทียบกับ กทม.ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งราคาของชุดนักเรียนชั้นอนุบาลทั้งชุด 125 บาท ขณะที่ชั้นมัธยมราคา 225 บาท จึงอยากให้รัฐมนตรีนำมาเปรียบเทียบดู
“ความจริงผมจะไม่สนใจเลยไม่ได้ ว่าจะมีการทุจริต เพราะองค์ประกอบมากขนาดนี้ นโยบายเปรียบเสมือนคุณธรรมนำความรู้ แต่ที่รัฐบาลทำแบบนี้เป็นลักษณะคุณธรรมอำความรู้แต่การบริหารของรัฐมนตรีชุดนี้ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐมนตรีหลายคนมีประวัติไม่ดี ซึ่งรัฐมนตรีศึกษารู้หรือไม่ว่าเป็นใคร“
แนะโอนเงินให้ผู้ปกครองโปร่งใสกว่า
นายสุนัย กล่าวว่า อยากให้เปลี่ยนแปลงจากการที่เคยซื้อชุดและหนังสือให้นักเรียน มาเป็นโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อรักษากลไกการตลาด เพราะหากมีขาดเหลือก็ยังตกอยู่ที่ประชาชน แต่หากโรงเรียน หรือกระทรวงจะซื้อให้รับรองเจ๊ง และโครงการเรียนฟรี 15 ปี อยากถามว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะขณะนี้นักเรียนที่เรียนโรงเรียนสาธิต อย่างน้อยเสียค่าเข้าเรียน 3-5 แสนบาท อย่างนี้จะเรียกเรียนฟรีได้อย่างไร นอกจากนี้ตนอยากถามหากรัฐบาลสนับสนุนภาษีที่ดินและภาษีมรดก หากเข้ามาสภาจริงตนก็พร้อมจะสนับสนุนเนื่องจากรัฐบาลไปใช้ช่องว่างจากคนรวยและคนจน แต่ตนก็กลัวผิดหวังไม่ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มักพูดแล้วไม่ทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายสุนัยอภิปรายเสร็จ นายจุรินทร์ ได้ลุกขึ้นขอเอกสารหลักฐานที่นายสุนัยได้อภิปรายทั้งหมด เพื่อนำไปตรวจสอบและจะชี้แจงอีกครั้งภายหลัง แต่นายสุนัยได้สวนกลับว่า ข้าราชการที่ดี ที่เป็นสายของตนมีมาก และหากรัฐมนตรีเอาเอกสารไปก็จะรู้รหัสว่าใครเป็นคนนำข้อมูลมาให้ตน และอาจสั่งย้ายหมด ถ้าหากนายจุรินทร์ อยากได้จริงก็ควรให้เจ้าหน้าที่ ตามไปจดเลขรหัส ภายหลังจากที่ตนแถลงเรื่องนี้กับสื่อมวลชน
ภายหลังการอภิปรายนายสุนัย พร้อม ส.ส.เพื่อไทย หลายคน ได้แถลงข่าวที่ห้องสื่อมวลชนพร้อมนำหนังสือและชุดนักเรียน ที่ระบุว่าส่อจัดซื้อแพงกว่าความเป็นจริง พร้อมกับเอกสารการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 12 ม.ค. 2552 โดยมีนายจุรินทร์ นั่งเป็นประธานการประชุม พร้อมทั้งนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ และน.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูง มาแสดง
อนุมัติ 607ล้านซื้อหนี้เกษตรกร
ผู้สื่อขจ่าวรายงานด้วยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันเดียวกันนี้ ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 607 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อหนี้ที่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซื้อสินทรัพย์ไป คืนมาให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 1,187 ราย ซึ่งพร้อมประสานงานกับเจ้าหนี้ทันที โดยมี 1,141 ราย มูลค่าหนี้ 582 ล้านบาท อยู่กับสถาบันการเงินของรัฐ ส่วนอีก 46 รายอยู่กับบุคคลที่ 3 ที่จะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปโดยขั้นตอนจากนี้ไป เกษตรกรเหล่านี้ต้องเป็นหนี้กับรัฐบาลแทน เบื้องต้นรัฐบาลจะปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี และอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนในบางรายที่มีมูลค่าหนี้ไม่สูงมาก ให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี และให้เกษตรกรเหล่านี้เข้าระบบแผนฟื้นฟูทันที เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีก
ด้าน นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร กล่าวว่าล่าสุดได้ซื้อหนี้ของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่างๆไปแล้ว 200 ล้านบาท และตั้งใจจะซื้อหนี้ที่เหลืออีก 500 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม นี้ ขณะเดียวกันจะเร่งผลักดันแผนการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้ออกมาดำเนินการให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ นี้ คิดเป็นวงเงินอีก 400 ล้านบาท
จ่อขอระลอกสองอีก1.7หมื่นล้าน
นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าหลังจากที่ครม.อนุมัติกรอบการซื้อหนี้ของเกษตรกรสมาชิก เรียบร้อยแล้วจะหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อเจรจาตกลงเกี่ยวกับการซื้อหนี้ทั้งหมดให้มีข้อยุติในทุกเรื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าได้ต่อเนื่องต่อไป
อย่างไรก็ตามการของบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อเข้าไปซื้อหนี้เอ็นพีแอลที่ถูกขายออกมาจากกรมบังคับคดีไปแล้วนั้น กองทุนฟื้นฟูฯจะแต่งตั้งทีมงานเพื่อเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ที่ได้ซื้อหนี้มาจากกรมบังคับคดี โดยจะให้มีตัวแทนจากทั้งกองทุนฟื้นฟูฯ ตัวแทนเกษตรกร และจะขอให้รัฐบาลส่งตัวแทนเข้าไปร่วมเจรจาด้วย ซึ่งยืนยันว่าวิธีเดียวที่ใช้คือการเจรจาและขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเท่านั้น ส่วนกรณีที่เป็นสถาบันการเงินกองทุนฟื้นฟูฯจะขอเจรจาซื้อหนี้คืนในราคาที่ประมูลมาจากกรมบังคับคดี
ส่วนมูลค่าหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีก 17,500 ล้านบาท จำเป็นต้องรอให้ครม.พิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณให้กับกองทุนฟื้นฟูฯให้ชัดเจนก่อน เพื่อนำไปซื้อหนี้ที่ติดค้างชำระกับกรมบังคับคดี และหนี้เอ็นพีแอลหรือหนี้เสีย ตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกกว่า 60,000 ราย
เกษตรกรได้เฮ-ห่วงนายทุนฮุบที่
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตั้งแต่ช่วงเช้า เกษตรกรกว่าพันคนได้ชุมนุมกันหน้าทำเนียบรัฐบาล นำโดยนายวัชระพงษ์ คงมั่น ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เพื่อทวงถามรัฐบาลถึงสัญญา ครม. จะนำเรื่องขออนุมัติเห็นชอบงบประมาณกว่า 600 ล้านบาทเพื่อซื้อหนี้ที่ไม่ก่อรายได้หรือเอ็นพีแอล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนำไปซื้อที่ดินถูกธนาคารพาณิชย์ยึดไปกลับคืนมา
นายวัชระ กล่าวว่า รัฐบาลต้องช่วยชาวเกษตรกร ไม่เช่นนั้นที่ดินจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายทุน ที่มาวันนี้ คือการมาทวงถามและรอคำตอบที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้รับปากจะนำเรื่องการขออนุมัติเงิน 600 ล้านบาทเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้
โดยหลังจากครม.มีมติอนุมัติงบดังกล่าวแล้ว นายสังศิต ได้เดินออกไปพบกับม็อบเกษตรกรที่ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยนายสังศิต ได้เดินขึ้นไปบนรถขยายเสียงประกาศถึงผลการประชุมดังกล่าว ซึ่งได้สร้างความพอใจให้แก่ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก
เพิ่มเติมงบอีกหมื่นล้านให้กยศ.
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมครม. ว่าที่ประชุม มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ให้กับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทำให้กยศ.ได้งบประมาณเพิ่มจากของเดิมรวมเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวจะทำให้นักศึกษาสามารถกู้เงินได้เพิ่มเติม 3.53 แสนราย ทำให้เพิ่มยอดที่นักศึกษาที่ได้รับเงินกู้เป็น 1 ล้านราย นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่ไม่ได้กู้ยืมเงินตั้งแต่ปี 1 ในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และปวช. สามารถกู้ได้โดยเริ่มที่ชั้นปีที่ 2-4 ได้ ส่วนสายอาชีพสามารถกู้ได้ชั้น ปวส.
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบในเรื่องมาตรการจูงใจให้นักศึกษากู้ยืมในสายอาชีพมากขึ้น จากเดิมสัดส่วนระหว่างสายสามัญและสายอาชีพอยู่ที่ 60 ต่อ 40 โดยกระทรวงศึกษาธิการจะหามาตรการจูงใจเพิ่มสัดส่วนเป็น 50 ต่อ 50 และส่งเสริมให้นักศึกษากู้เงินยืมเรียนได้อีก 400 สาขาวิชาที่เป็นความต้องการของตลาด
แถมอีก3พันล้านนมฟรีในโรงเรียน
สำหรับหลักเกณฑ์ของการกู้ยืมนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลยังยืนยันตามหลักเกณฑ์เดิมสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐบาลครั้งที่ 1 คือ เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยและยากจน ผู้ปกครองมีรายได้น้อยต่ำกว่าเกณฑ์ โดยกระทรวงศึกษาฯจะเร่งให้สามารถนำไปใช้ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่กว่าจะได้เงินก็ล่าช้านับปี แต่หลังจากนี้หากคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ก็จะอนุมัติได้ภายในเวลา 3 เดือน รวมทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบเงิน 3 พันล้านบาท ที่จะใช้ในโครงการนมโรงเรียนฟรี พร้อมทั้งอนุมัติขยายจากชั้นอนุบาล - ป.4 เพิ่มถึงชั้นป.5-ป.6 โดยจะมีเด็กที่ได้รับประโยชน์กว่า 2 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มได้ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษาหน้า นอกจากนี้กระทรวงจะขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ร่วมสนับสนุนโครงการ
ดื่มนมฟรี จากชั้นอนุบาลถึง ป.6 ให้ครบทุกพื้นที่
ส่วนนายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการจัดสรรเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท เพิ่มให้กับกลุ่มข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออปท. ที่มีกรอบเงินเดือนไม่เกิน 14,990 บาท และพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีกรอบเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท หรือไม่เกินระดับซี 5 ใช้เงินจากการช่วยเหลือค่าครองชีพในส่วนข้าราชการที่มีอยู่ 18,000 ล้านบาท หากไม่พอจะใช้งบฉุกเฉินช่วยเหลือเพิ่มเติม