WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, January 29, 2009

สถาบันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประชาชน (ส.ต.ป.)

ที่มา thaifreenews


บทความ วิสา คัญทัพ

สถาบันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประชาชน (ส.ต.ป.)
วิสา คัญทัพ
คงต้องทบทวนกันขนานใหญ่แล้ว สำหรับประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริง แม้เส้นทางการต่อสู้จะยืดเยื้อ ยาวนาน ได้ชัยชนะมาเป็นขั้นๆ ที่ละเล็กละน้อย สั่งสมชัยชนะต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แต่การไม่สรุปบทเรียนอาจทำให้การต่อสู้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น ปรากฎการณ์ซ้ำซากบางอย่างที่เกิดขึ้น แสดงผลชี้ชัดว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ฝ่ายประชาชนก็ควรที่จะกำหนดท่าทีความสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับเรื่องราวและบุคคลเสียใหม่ ไม่ควรย่ำซ้ำรอยเดิม ต้องให้การศึกษาแก่กันและกันเพื่อไม่ให้คาดหวังเกินความจริง จะได้ไม่ต้องมานั่งสิ้นหวัง หมดกำลังใจ อย่างที่บางคนกำลังเผชิญอยู่ ผู้มีอาวุโสทางการต่อสู้ซึ่งรู้มาเยอะ พบเห็นมามาก ต้องถ่ายทอดความเข้าใจดังกล่าวนี้ให้เพื่อนร่วมแนวทางได้รับรู้
ถามว่าทบทวนอะไร ประการที่หนึ่งทบทวนว่า ขบวนการต่อสู้ของประชาชนประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชนชั้นและชั้นชน มีเป้าหมายในการต่อสู้ทั้งเหมือนและไม่เหมือนกันในบางช่วงสถานการณ์ กระทั่งวิธีการต่อสู้ ซึ่งก็คือยุทธวิธีการต่อสู้ย่อมแตกต่างหลากหลาย เหมือนว่าเป้าหมายเชียงใหม่อาจไปได้ด้วยรถไฟ รถยนตร์ เครื่องบิน มอเตอร์ไซด์ ขี่จักรยาน กระทั่งสามารถเดินด้วยเท้า นี่เป็นวิธีการ สำหรับเส้นการเดินทางย่อมมีทั้งตัดตรงที่สุด อ้อมไปสักนิด หรืออ้อมโค้งวกวนไปมาก็สุดแล้วแต่ว่า อุปสรรคขวากหนามของเส้นทางเดินแต่ละเส้นเป็นอย่างไร บางทีตัดตรงที่สุด ทางใกล้ที่สุดอาจไปไม่ได้ก็ได้ หรือไปได้แต่อาจสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อไพร่พลมากมายมหาศาลดูแล้วไม่คุ้มก็ไม่ควรไป เช่นนี้เป็นต้น
เมื่อเราทบทวนความหลากหลายของชนชั้นและชั้นชนที่เข้าร่วม ทบทวนเป้าหมาย ทบทวนวิธีการ ในท่ามกลางการต่อสู้ที่มีการนำเป็นบางห้วง และไม่มีการนำเป็นบางห้วง เราจะพบว่ามีทั้งการนำที่ถูก และมีการนำที่ผิด ช่วงใดเราอยู่ภายใต้สถานการณ์การนำที่ถูก เราก็เหมือนเดินทางไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น ช่วงใดอยู่ภายใต้การนำที่ผิดก็เกิดอาการสะดุด ติดขัด บางครั้งก็ถึงขั้นล้มคว่ำหัวคะมำไป จึงต้องสำรวจเขาเราให้ถี่ถ้วนด้วย อย่าลืมปรับขบวนสรุปบทเรียนในส่วนที่ผิดพลาดของเราประกอบไปด้วย อย่างเช่นสมัยเรืองอำนาจทักษิณและพรรคไทยรักไทยมีความผิดพลาดอะไร หรือกรณีที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดที่พรรคพลังประชาชนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มีความผิดพลาดอะไร แน่นอนความผิดพลาดทั้งสองกรณีแม้จะเป็นคนละเรื่อง ทว่าย่อมมาจากการตัดสินใจของการนำที่ผิดพลาด
เราลองมาดูตัวอย่างแรก กรณีการล่มสลายของพรรคไทยรักไทย มาจากการที่อดีตนายกฯทักษิณมัวบริหารผลประโยชน์ให้ประชาชนเพลินไป จนลืมบริหารอำนาจของชนชั้นกลางบางส่วน และชนชั้นสูงที่เริ่มรู้สึกสูญเสียผลประโยชน์ การตอบตีโต้กลับจึงอุบัติขึ้นอย่างเป็นกระบวน โดยที่ในเบื้องต้นพรรคไทยรักไทยประมาทคู่ต่อสู้เกินไปยอมปล่อยให้ทุ่มโหมโจมตีโดยอาศัยสื่อสารมวลชนอันทรงประสิทธิภาพเพียงฝ่ายเดียว กว่าจะรู้ว่าเพลียงพล้ำก็พลิกสถานการณ์กลับคืนมาไม่ทันเสียแล้ว กรณีพรรคพลังประชาชนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เช่นกัน ที่สำคัญอยู่ที่การตัดสินใจเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี การเลือก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นนายกฯ เป็นการเลือกที่ช้าไปหรือเปล่า ก่อนหน้านั้นมีความพยายามดึงดันที่จะให้ใครเป็นนายกฯ เข้าทำนองกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ สายไปไม่ทันการ ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนสะท้อนถึงการนำอันผิดพลาดทั้งสิ้น
สิ่งที่ต้องคิดและไคร่ครวญเป็นอย่างดีก็คือ การต่อสู้เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนไม่สามารถฝากความหวังไว้กับนักการเมืองได้ นักการเมืองคือตัวละครที่แสดงตามบทบาทของผลประโยชน์เฉพาะตนและพรรคบนเงื่อนไขของข้อกฎหมายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ อย่าหวังว่านักการเมืองจะต่อสู้เพื่ออุดมการอย่างแท้จริง เพราะในมุมของเขาแวดล้อมไปด้วยผลประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ของชนชั้นข้างบนที่ไม่ใช่ประชาชนระดับรากหญ้าส่วนใหญ่ซึ่งคนจำพวกนั้นสามารถชี้เป็นชี้ตายให้นักการเมืองได้ เพราะฉะนั้น นักการเมืองจึงเป็นเพียงตัวประกอบที่เลือกอยู่ข้างประชาชนเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ถึงที่สุดแล้วประชาชนจำเป็นต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างอำนาจต่อรองอันแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นกับฝ่ายตนให้ได้ โดยให้เกิดขึ้นเป็นพันธะทางข้อกฏหมาย ซึ่งที่สุดก็ต้องต่อสู้ผ่านนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง
เราจะสร้างผู้นำการต่อสู้ฝ่ายประชาชนขึ้นได้อย่างไรในยุคปัจจุบัน เป็นคำถามที่ก่อนตอบ ควรคิดถึงสภาพ
สังคมตามที่เป็นจริง ในทัศนะของผมคำว่า ภาคประชาชนได้ล่มสลายไปแล้ว ตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2519 นับจากนั้นมา ผู้นำ ภาคประชาชนแตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม ต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้องดีงาม สร้างสื่อขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลและอธิบายความถูกต้องดีงามของตนเอง สร้างประวัติศาสตร์ให้สับสนยิ่งขึ้นไปอีกว่าพวกเหลืองแดงที่เคยเป็นพวกเดียวกันมาก่อน บัดนี้ได้แยกออกมาเป็นสองสี และสองสีขณะนี้ยืนอยู่ตรงข้ามกัน คิดกันคนละอย่าง เดินทางกันคนละทิศ จะเอาคำนิยาม เพื่อประชาชนมาอ้างอย่างลอยๆคงไม่ทำให้มองเห็นความกระจ่างแต่อย่างใด ควรเอาคำว่า เพื่อชนชั้น ใดมาวัดน่าจะชัดเจนกว่า โดยให้ผลงานการต่อสู้ที่ผ่านมาของทั้งสองฝ่ายเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ใครทำเพื่อใคร เนื้อหาสาระของการต่อสู้จะเป็นเครื่องยืนยันข้อเท็จจริงในที่สุด
ก่อนอื่น ต่อจากนี้ไป เราต้องสันทัดที่จะสร้างผู้นำฝ่ายประชาชนที่อุทิศตนให้กับการต่อสู้สุดกำลัง โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภาคการเมืองในระบอบรัฐสภา เตรียมการรับมือศึกยืดเยื้อยาวนาน และสร้างภาพบริสุทธิ์ให้กับพลังฝ่ายประชาชนอย่างแท้จริง เคลื่อนไหวจัดตั้งเป็นสถาบันอิสระขึ้นมาเป็นรูปการที่แน่นอน มีข้อกำหนดชัดเจนห้ามมิให้แกนนำ หรือกรรมการบริหารสถาบัน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในระบบรัฐสภา และการรับตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารรัฐบาลทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดปรากฎการณ์ป่วนเมืองเมื่อพวกตนไม่ได้เป็นรัฐบาล พอได้เป็นรัฐบาลแล้วก็เข้าสวาปามยศตำแหน่ง ลืมคำถุยถ่มสารพัดที่ถล่มทำลายการเมืองเก่า ดังมีข่าวให้เห็นว่ารายชื่อพันธมิตรฯเหล่านี้ กำลังเรียงรายเข้าไปมีหน้าที่การงานในรัฐบาลประชาธิปัตย์ ตังแต่นายกษิต ภิรมย์,นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ, นายประพันธ์ คูณมี, นายสำราญ รอดเพชร,นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล. และอาจจะมีใครต่อใครอีกหลายคนติดตามมา
สภาพการณ์เช่นนี้ ก็เหมือนกับช่วงที่ น.ป.ก. ชุมนุมประท้วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุฬานนท์ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เราจะเห็น จุตพร พรหมพันธ์, ณัทวุฒิ ใสยเกื้อ, จักรภพ เพ็ญแข ผู้นำการต่อสู้ทั้งสาม ภายหลังเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน ตั้งรัฐบาล จตุพรได้เป็นส.ส.ระบบสัดส่วน ณัทวุฒิได้เป็นรองโฆษกรัฐบาล จักรภพได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จริงอยู่แม้สาระแห่งการต่อสู้ของฝ่ายหลังจะเดินตามแนวทางมวลชนเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นไปเพื่อฉกฉวยแย่งชิงอำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะพวกพรรค แต่อย่างไรเสียขบวนการประชาชนก็แลดูไม่สง่างามเท่าไรนัก เราต้องถนอมไว้ ไม่ให้คนอย่างจรัล ดิษฐาอภิชัย หมอเหวง โตจิราการ,สุรชัย แซ่ด่าน. วิระ มุสิพงศ์,หรือ วิภูแถลง และ ฯลฯ ไปมีตำแหน่งในรัฐสภาและรัฐบาล ให้คนเหล่านี้ยืนหยัดอยู่ในสถาบันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประชาชนต่อไป
เราควรจะถือเอานักการเมืองที่รักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเป็นแนวร่วม ให้คุณค่ากับพวกเขา และให้เขาเข้าร่วมสนับสนุนปัจจัยในรูปแบบต่างๆตามความเหมาะสม ให้เขาเข้าไปเป็นตัวแทนที่ทำประโยชน์ให้ประชาชนอย่างแท้จริงโดยมีองค์กรที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นมาเป็นสถาบันฯ ตรวจสอบ สนับสนุน ส่งเสริม นักการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต และทำดีให้มีกำลังใจทำงานต่อไป ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวโจมตีประณาม คัดค้านเปิดโปงการกระทำของนักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์ ทุจริต
ย้อนกลับไปสู่สิ่งที่ให้ทบทวนคือ คำพูดที่ว่า ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวรในหมู่นักการเมือง การพลิกผันเปลี่ยนแปลงย้ายขั้ว ย้ายพรรค วิวาท ขัดแย้ง แยกรวม กอดคอ จูบปาก ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น และเป็นไปได้หมด พรรคชาติไทยเคยได้ฉายาว่า ปลาไหล พรรคชาติพัฒนาเคยได้ฉายาว่า จอมเสียบ ในพรรคประชากรไทยเคยเกิดตำนานชาวนากับงูเห่า มีคนเคยแต่งตัวรอเป็นนายกรัฐมนตรีเก้อ มีการทรยศหักหลักสารพัด เรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ไม่ใช่เรื่องใหม่ กรณีการเปลี่ยนขั้วของพรรคร่วมรัฐบาล เกิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทำได้ และที่สำคัญเกิดขึ้นเพราะความไม่ทันเกมของแกนนำพรรคพลังประชาชน ซึ่งก็คือความผิดพลาดด้านการนำอีกครั้งหนึ่ง เพราะความเชื่อที่ผิดๆจึงนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ดังนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับนักการเมือง ความขัดแย้งของนักการเมืองเป็นความขัดแย้งชั่วคราวในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งต้องวิเคราะห์กันเป็นคราวๆไป
สถาบันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประชาชน ควรก่อกำเนิดขึ้นได้แล้วอย่างจริงจัง โดยระดมนักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาชน นักต่อสู้เพื่อสังคมธรรม แนวร่วมเสื้อแดงที่กอดคอต่อสู้ร่วมกันมาทุกกลุ่ม ทุกหมู่ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศไทย ก่อตั้งเป็นสมัชชาประชาชนเพื่อเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นแกนนำ สถาบันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประชาชน (ส.ต.ป.) กำหนด เข็มมุ่ง แนวทาง นโยบาย จัดระเบียบวาระการเคลื่อนไหว ดำเนินการเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประชาธิปไตยประชาชนที่แท้จริงขึ้น จัดการระดมทุนอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ออกเอกสาร สิ่งพิมพ์ รวบรวมแนวร่วมสื่อทุกรูปแบบ สร้างเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันต่อสู้อย่างเป็นขบวนแบบยืดเยื้อ ยาวนาน จากเล็กสู่ใหญ่ ค่อยเติบโตเข้มแข็งขึ้น เสริมขยายสมาชิกทุกรุ่นทุกวัย จัดตั้งเป็นรูปการขึ้นมาให้ได้
ผมคิดว่า คนอย่างวีระ มุสิกพงศ์. เหวง โตจิรการ. จรัล ดิษฐาอภิชัย, และอีกหลายๆคนที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเพียงพอ และน่าจะพอเพียงกับอำนาจในระบบการเมืองเก่า ควรหันมาเป็นตัวตั้งตัวตี เริ่มต้นผลักดันให้เกิดสถาบันนี้ขึ้นอย่างจริงจัง สถาบันนี้ก็เหมือนพรรคการเมืองของประชาชน เพียงแต่เป็นพรรคที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เป็นรัฐบาล แต่จะเป็นสถาบันที่ทำให้ประชาธิปไตยพัฒนาไปสู่ความเต็มรูปเต็มใบ เป็นประชาธิปไตยประชาชนอย่างแท้จริง สร้างพลังประชาชนอิสระเพื่อเป็นอำนาจควบคุมตรวจสอบนักการเมืองอีกทางหนึ่ง.