ที่มา Thai E-News
โดย คุณ อริน
ที่มา เวบบอร์ด ประชาไท
5 สิงหาคม 2552
ทันทีที่การประกาศจำนวนประชาชนที่ร่วมลงชื่อใน "ฎีการ้องทุกข์" ว่าสูงถึง 5,363,429 คน ความเคลื่อนไหวจากปีกปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก็ดาหน้ากันออกมา แสดงอาการร้อนรุ่มทุรนทุรายไปตามๆ กัน
กระทั่งล่าสุดจากข่าว มติชนออนไลน์ ที่พาดหัวแบบจุดพลุว่า จม.เปิดผนึก อ.จุฬาฯกว่า 1500 คน ค้านฎีกาอภัยโทษ "แม้ว" ชี้อันตราย กดดัน-กระทบศรัทธาสถาบัน
หากในเนื้อหาข่าวกลับโอละพ่อ เป็น "จนกระทั่งเย็นวันที่ 4 สิงหาคม มีคณาจารย์จุฬาฯ ลงชื่อแล้วกว่า 300 คน และบุคคลากรรวมกว่า 1,500 คน และคาดว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งมีการประชุมคณบดี จะนำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวให้คณบดีที่เห็นด้วย ลงนาม"
ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 เดือน นับจากการประกาศในที่ชุมนุมกลางพายุฝน ณ เวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ท้องสนามหลวง เมื่อวันนี่ 27 มิถุนายน จนช่วงเวลาก่อนและหลังวันดี-เดย์ เพื่อนับจำนวนผู้ร่วมลงรายชื่อ ปฏิกิริยาแทบจะในลักษณะรายวันจากผู้คนทุกๆ ฝ่าย ล้วนพุ่งเป้าไปที่ "จุดมุ่งหมาย" ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการเคลื่อนไหวรอบนี้ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน
ฝ่ายรัฐอาศัยเครื่องมือประชาสัมพันธ์สำเร็จรูป นั่นคือ ฟรีทีวี ทั้งระบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานี "หอยม่วง" ที่เกิดจากภาษีอากรของประชาชนล้วนๆ พุ่งเป้าโจมตีไปที่ความ "ควร-ไม่ควร" "ทำได้-ไม่ได้" อยู่แทบจะตลอดเวลา
ทั้งโหมประโคมเภทภัยทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น แก่ประชาชนที่ร่วมลงชื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมกับความพยายามที่จะรุกกลับ ด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ นานา ให้ประชาชนถอนรายชื่อ "อย่างเป็นทางการ"
มีสภาวะน่าจับตามองในช่วงเวลาท้ายๆ ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม ปรากฏอยู่ตามเว็บบอร์ดและห้องสนทนาทุกรูปแบบ ในโลกไซเบอร์ของพลังประชาธิปไตย คือคำถามระหว่างกัน ว่า
"ถ้าได้จำนวนผู้ลงรายชื่อสัก 5 ล้าน แล้วไม่เกิดผลอะไรขึ้น จะทำอย่างไรกันต่อไป"
และยิ่งกลายเป็นคำถามดังขึ้นทุกที ตามเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงตามภูมิภาค
แต่สำหรับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยแล้ว เป้าหมายของการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหนนี้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป อาการลุกลี้ลุกลน หรือแทบจะเรียกได้ว่าพล่าน นั้น อยู่ที่ปริมาณของประชาชนที่เดินเปิดหน้าออกมาแสดงเจตนารมณ์ ด้วยการให้ทั้งชื่อและรายละเอียดระบุบุคคล ในการสะท้อนความคับข้องใจ กับกระบวนการยุติธรรมชนิด 2 มาตรฐาน
หากย้อนกลับไป ครั้งการลงประชามติ "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ที่ผลออกมาว่า มีผู้เห็นชอบ 14,727,407 คน และไม่เห็นชอบ 10,747,310 คน ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า แม้ในจำนวนผู้เห็นชอบเอง ก็ลงคะแนนไปโดยจุดยืนที่เชื่อถือการโฆษณาชวนเชื่อ จากฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า รับไปก่อนแล้วค่อยแก้กันทีหลัง
นั่นหมายความว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ประเทศนี้ ประชาชนที่ใส่ใจกับปัญหาทิศทางและการพัฒนาการของชาติบ้านเมือง ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนนั้น มีจำนวนถึงครึ่งต่อครื่ง ที่แสดงเจตจำนงต่อต้านระบอบเผด็จการ และผลิตผลของระบอบเผด็จการ ซึ่งก็คือกฎหมายสูงสุดของระบอบการปกครอง
คำถามคือ ก็ในเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อมั่นในพลังประชาชน ที่เปี่ยมล้นไปด้วยจิตใจกล้าสู้กล้าชนะ เริ่มจากกลุ่มคนจำนวนหยิบมือเดียว แสดงตัวคัดค้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และต่อมาขยายจำนวนเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งหลัง "สงกรานต์เลือด 2552" ซึ่งยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ "กฎอัยการศึก" หรือ "สถานการณ์ฉุกเฉิน"
นั้นหมายความว่า ประชาชนได้ยกระดับความเข้าใจ และจิตสำนึกต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์
เป็นไปได้ไหม ที่พลังฝ่ายประชาธิปไตยจะร่วมกันอีกครั้ง ระดมสรรพกำลัง แสดงเจตจำนงในฐานะเสรีชน ขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับพัฒนาการทางการเมืองของปิตุภูมิ ไปสู่ความมีอารยะ ด้วยการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ หลังจากถูกแย่งยึด บิดเบือนไปโดยฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วยกลุ่ม "อำมาตย์-อภิชน-ขุนศึกฟาสซิสต์" นับจากวินาทีแรกของการทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดยขุนศึก ผิน ชุณหะวัน
สร้างขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ออกมาสำแดงกำลัง รณรงค์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจอธิปไตย ให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ด้วยการผลักดันให้สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน ที่ประชาชนสามารถ "เลือกผู้นำฝ่ายบริหาร" หรือ "นายกรัฐมนตรี" ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เช่นนานาอารยะประเทศ
และใช้การลงคะแนนเสียงในกระบวนการยุติธรรมด้วยระบบ "ลูกขุน" ที่อำนาจในการพิพากษาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ตกอยู่ใน "กำมือ" ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่ผู้เดียว
ถ้าเราไม่ตั้งต้น ริเริ่ม ออกแบบสังคมที่พึงปรารถนา สำหรับอนุชนที่เป็นลูกหลานของเรา ให้พวกเขาเกิดและเติบโตขึ้นมาในสังคมอารยะ อย่างไม่ต้องเผชิญกับ "การปกครองแบบเผด็จอำนาจ" ที่กดหัว-ปิดปาก จนเสรีชนไม่อาจมีชีวิตเยี่ยงเสรีชนได้ อย่างที่เห็น และเป็นอยู่ จะมีประโยชน์อะไรกับการเรียกขานปิตุภูมิของเราว่า "ไทย" ตามเสียงพ้องของที่มาของชนชาติบรรพบุรุษ ที่เรียกตนเองว่า "ไท"
ด้วยภราดรภาพ
อริน