ที่มา มติชนออนไลน์ รับประเมินพลาดเหตุเมษาฯ เลือด
เพื่อไทยซัด 6 เดือนรัฐบาบลไร้ผลงาน สมานฉันท์ก็ล้มเหลว เพราะจะเสนออะไร ถูกค้านทุกเรื่อง ด้าน"สาวิทย์ แก้วหวาน"ซัดแต่ทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้คะแนนแค่ 3 เต็ม 10 "มาร์ค"รับประเมินผิดพลาดเหตุการณ์เมษาฯ เลือด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 6 เดือน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมว่า ปัญหาการเมือง ตนพยายามใช้แนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา แต่ก็มีความผิดพลาดอย่างเหตุการณ์ในเดือนเมษายนนั้นยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด เพราะไปคิดว่าตบมือข้างเดียวจะไม่ดัง นึกว่าถ้ารัฐบาลไม่ทะเลาะ แล้วเดินหน้าในแนวทางของสมานฉันท์ จะไม่มีการใช้ความรุนแรง หรือไปทำความเสียหายให้กับประเทศชาติถึงขั้นที่เสียหายไปถึงต่างประเทศ ยังยึดมั่นแนวทางเดิม แต่ต้องปรับปรุงระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวหลายอย่างยังมีในสังคม
"ผมไม่สบายใจ เพียงแต่ว่าคนที่ไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วย อาจมองต่างเท่านั้นเองว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับปัญหาคืออะไร แต่ยืนยันครับว่าไม่ละเลยเรื่องเหล่านี้ แต่ถามว่าพอใจในสภาพหลายอย่างที่เป็นอยู่ไหม ก็ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุง" นายอภิสิทธ์กล่าว
เมื่อถามถึงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องของอดีตนายกฯ เป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเสมอภาค แต่หากย้อนประวัติไปดูจะพบว่า เวลาคนทำผิดและหลบหนีไปต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเอากลับมา ต้องดูข้อกฎหมายและประสานงานกับองค์กรระดับสากล ระยะหลังบุคคลดังกล่าวมักจะเดินทางไปในที่ที่ไม่มีสนธิสัญญา และเริ่มเดินทางไปประเทศที่เราไม่มีสถานทูตมากขึ้นๆ เราก็จะทำบนความพอดีที่จะรักษากฎหมายให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์
ยันให้สภาเป็นเจ้าภาพแก้ รธน.
เมื่อถามว่า มีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีรายงานของคณะกรรมการที่สภาตั้งขึ้นเสนอเบื้องต้น 6 ประเด็น ตนได้หารือกับประธานสภา ระบุว่าจะรอรายงานของอีกชุดหนึ่งก่อนแล้วจะเอาทั้ง 2 ชุด เสนอที่ประชุมสภา เพื่อหาคำตอบว่าจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญอย่างไร เบื้องต้นได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว อยากให้เป็นกระบวนการของพรรคการเมืองและสภา มากกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ซึ่งตนจะขอให้ประธานสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ส่วนรายละเอียดคงต้องดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์นี้ต้องมาจากกระบวนการที่ไม่สร้างความขัดแย้ง ถ้าฝ่ายหนึ่งเห็นว่าฉบับนี้สมานฉันท์ แต่มีบางฝ่ายไม่เห็นด้วย มันก็ไม่สมานฉันท์อย่างแท้จริง ตนจึงกำลังประเมินจากเสียงที่ได้ฟังในสภา อีกรอบว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร โดยจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อสร้างการยอมรับ
"พท."สวนรัฐบาลชี้ไร้ผลงาน
วันเดียวกัน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ที่นายกฯแถลงผลงานรอบ 6 เดือนว่า เท่าที่ดูแล้วไม่ได้มีผลงานหรือมีอะไรดีขึ้น เพราะไม่ได้แก้ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของประชาชนยังมีอยู่ แม้รัฐบาลจัดทำรูปเล่มผลงานให้ดูดีแค่ไหน ก็เหมือนเอาแป้งมาประแต่งใบหน้าให้ดูดี และนายกฯยอมรับว่าแก้เรื่องความสมานฉันท์ไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเสนออะไร รัฐบาลก็มักออกมาคัดค้านทุกเรื่อง แล้วความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ด้านนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรค พท. กล่าวว่า จากการประเมินผลงานของรัฐบาล 6 เดือนแล้วบอกว่ามีล้านความสุข แต่ลืมไปว่า 60 ล้านคนไทยมีความทุกข์จากการขึ้นภาษีน้ำมัน อยากบอกว่า 6 เดือนของรัฐบาลได้ ขออนุมัติสองอย่างสำคัญคือ 1.ขอกู้เงินเพิ่มกลางปีงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท อยากทราบว่ามีผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง 2.การขอกู้เงิน 8 แสนล้านบาทจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้อย่างไร และเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร รวมทั้งโครงการชุมชนพอเพียง ที่ยังมีความคลางแคลงใจอยู่
สร.ร.ฟ.ท.ให้คะแนนรบ.แค่3
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลด้านแรงงาน คงให้คะแนนได้เพียง 3 จากเต็ม 10 คะแนน เพราะที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้มีมาตรการรองรับปัญหาด้านแรงงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ลูกจ้างเดือดร้อนจำนวนมาก แนวทางการแก้ปัญหาคือการส่งเสริมสิทธิการรวมตัว และเคารพในสิทธิเจรจาต่อรอง
ขณะที่นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานภาคธนาคาร ประสบปัญหาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดทางให้ธนาคารจ้างงานในลักษณะเอ๊าท์ ซอส โดยไม่ได้ให้ความสำคัญของสิทธิการเจรจาต่อรอง ธนาคารต่างๆ เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างใหม่ที่ให้สิทธิต่ำกว่าเดิม ดังนั้นจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ ธปท. ร่วมหาทางออกแก้ไขในผลกระทบที่เกิดขึ้น ในวันที่ 13 สิงหาคมนี้