ที่มา ประชาไท
ในช่วงเกือบ 20 ปี ระหว่างต้นทศวรรษ 2510 ถึงกลางทศวรรษ 2520 เมื่อมีสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับรัฐบาล ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างถือเอาวันที่ 7 สิงหาคม เป็น “วันสำคัญ” โดยเฉพาะฝ่าย พคท. (ฝ่ายรัฐบาลถือเป็น “วันสำคัญ” ตามฝ่ายพคท.) คือ ถือว่าเป็นวันครบรอบการเริ่มต้นปะทะด้วยกำลังอาวุธระหว่างกัน เรียกตามสำนวนชาวบ้านภาคอีสานว่าวัน “แตกเสียงปืน” (หรือ “เสียงปืนแตก”) มีการจัด “งานรำลึก” ถึงวันนั้นทุกปีในเขต “ฐานที่มั่น” ของ พคท. ในปีหลังๆ ฝ่ายรัฐบาลเองก็จัด “งานรำลึก” บ้าง แต่ทำเป็นทำนอง “ข่มขวัญ” คือ ตั้งชื่องานว่า “วันเสียงปืนดับ” โดยจัดที่บริเวณจังหวัดนครพนม ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “ที่เกิดเหตุ” การปะทะกันครั้งแรกนั้น (หมู่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม) ทางฝ่าย พคท. มีการผลิตบทกวี และเพลง สดุดี “7 สิงหา” จำนวนมาก ในฐานะที่เป็น “วันเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ” รวมถึงเมื่อนักศึกษาเข้าป่าหลัง 6 ตุลา ก็ไปแต่งบทกวีและเพลงทำนองนี้หลายชิ้น (เช่น เพลงที่ขึ้นต้นว่า “ปัง ปัง ปัง เสียงปืนดัง 7 สิงหา ปลุกมวลประชาลุกขึ้นมาจับปืน หมู่บ้านนาบัวปืนรัวก้องอาจหาญ เป็นสัญญาณลุกขึ้นต้านหมู่มารไพรี . . .”)
ในความเป็นจริง ในขบวนของ พคท.เอง รู้รายละเอียดเกี่ยวกับการปะทะ 7 สิงหา น้อยมาก (เช่นเดียวกับเรื่องราวประวัติพรรคอื่นๆ เช่น สมัชชาครั้งแรกที่ว่าเป็นวันก่อตั้งพรรค หรือสมัชชาครั้งที่ 3 ที่ว่าเป็นการตัดสินใจเดินแนวทางชนบทล้อมเมือง ฯลฯ) ในเอกสารภายในเรื่อง “ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา” ของวิรัช อังคถาวร ผู้นำพรรคคนสำคัญ ก็มีกล่าวถึงเพียงว่า “ต่อมาการปะทะก็เกิดขึ้น นั่นคือ กรณี ‘7 สิงหาคม’ เป็นการปะทะครั้งใหญ่ครั้งแรก ครั้งนี้ศัตรูมาล้อม เราเสียสหายคนหนึ่ง ศัตรูชั้นนายสิบตำรวจตาย 1 คน นายพันตำรวจโท ขาหัก 1 คน นี่เป็นกรณีใหญ่ ข่าวดังไปทั่วประเทศ ศัตรูได้รู้แน่ชัดว่าพรรคคอมมิวนิสต์เตรียมต่อสู้ด้วยอาวุธ” (ดู ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1, มกราคม 2546, หน้า 188) ในงาน “7 สิงหา” ปี 2525 ของฐานที่มั่นแห่งหนึ่ง วิรัช เล่าเพิ่มเติมว่า “กรณี 7 สิงหาคม . . . แน่นอนการปะทะกับศัตรูไม่ใช่ครั้งนั้นครั้งเดียว ก่อนหน้านั้นก็มี แต่ว่าครั้งนั้น เนื่องจากมีตำรวจตายคนหนึ่ง และบาดเจ็บ 2-3 คน โดยเฉพาะผู้บาดเจ็บเป็นรองผู้กำกับจังหวัด คือ พตท.สงัด โรจนภิรมย์ (ขณะนี้ดูเหมือนจะเป็นนายพลแล้ว) กรณีนี้จึงดังไปทั่วประเทศ” (จุลสารมหาชน ชุด “ประวัติบุคคล” อันดับ 1, โรเนียว ไม่มีเลขหน้า)
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการเล่ารายละเอียดของกรณีนี้ที่มากกว่านี้ แบบปากต่อปากตามฐานที่มั่น โดยเฉพาะทางภาคอีสานตอนเหนือ และโดยเฉพาะ เมื่อนักศึกษาเข้าป่าหลัง 6 ตุลาและไปแสดงความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวหรือ “ตำนาน” เก่าๆ (ประเภท “จิตร ภูมิศักดิ์ ตอนอยู่ป่าเป็นยังไง ตายยังไง” อะไรทำนองนี้) เมื่อผมเข้าไป “ทัศนศึกษา” ที่ฐานที่มั่นภูพานในเดือนมกราคม 2523 ก็ได้ยินการเล่าเรื่องนี้ มีการพูดถึง “สหายเสถียร” ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้นำของ “ฝ่ายเรา” ในการปะทะครั้งนั้น ถ้าจำไม่ผิด มีนักศึกษาที่เข้าป่าคนหนึ่งเอาเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “สหายเสถียร” และกรณี 7 สิงหานี้ ไปผูกเขียนเป็นเชิงสารคดีหรือนิยายด้วย ในบันทึก สู่สมรภูมิภูพาน ของ อุดม สีสุวรรณ และในคำให้สัมภาษณ์ของ ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคนสุดท้าย ที่ตีพิมพ์ใน สารคดี เมื่อเร็วๆนี้ ก็เล่าถึง “วีรกรรม” ของ “สหายเสถียร” เมื่อ “7 สิงหาคม 2508” ผมจะกลับมาพูดถึงการเล่าของอุดมข้างล่าง ในส่วนของ ธง แจ่มศรี ยังระบุว่า หลังการปะทะ กรมการเมืองของ พคท.ได้มีมติให้ถือว่า วันที่ 7 สิงหาคม เป็น “วันเสียงปืนแตก” เขาไม่ได้ระบุว่า มตินี้มีขึ้นในการประชุมกรมการเมืองครั้งไหน แต่มีการเรียกประชุมกรมการเมืองในเดือนต่อจากการปะทะ คือ กันยายน 2508 ซึ่งที่ประชุมได้ยืนยันให้ลงมือต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตที่มีเงื่อนไขได้ (ดูบทความของผมเรื่อง “ประวัติ พคท.ฉบับ พคท.”, ฟ้าเดียวกัน, 1:1, หน้า 168) เป็นไปได้ว่า มติเรื่องเรียก 7 สิงหาว่า “วันเสียงปืนแตก” ถ้ามีจริง ก็อาจจะมีขึ้นในการประชุมครั้งนี้เอง
แต่เมื่อ 20 ปีก่อน ระหว่างที่ผมเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์เรื่องขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ผมพบข้อมูลว่า วันที่เกิดการปะทะที่มีชื่อเสียงนี้ น่าจะไม่ใช่วันที่ 7 สิงหาคม 2508 แต่เป็นวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ผมเคยเล่าข้อมูลที่พบนี้ให้เพื่อนๆ จำนวนหนึ่งฟัง แต่ไม่เคยเขียนออกมา เพราะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญเชิงประวัติศาสตร์นัก เพราะจะเป็นวันที่ 7 หรือวันที่ 8 ก็ไม่ต่างกันนัก ถ้ามีการปะทะจริงๆ (และมีหลักฐานว่าปะทะกันจริง ดังจะกล่าวต่อไป) การที่ฝ่าย พคท.จะ “ฉลองผิดวัน” ก็ไม่สู้สำคัญนัก
บัดนี้ ผมรู้สึกว่า ไหนๆ “วันเสียงปืนแตก” ก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ และไหนๆ ผมก็มีข้อมูลอยู่ในมือ และแม้ว่า “ข้อมูลใหม่” นี้คงจะไม่ทำให้การรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของเราต่อเรื่องนี้เปลี่ยนไปอย่างสำคัญ (เท่าที่ผมนึกได้ตอนนี้) ก็คงไม่ถึงกับเป็นการไร้ประโยชน์เสียทีเดียวที่จะเผยแพร่ข้อมูลนี้ ประกอบกับ ผมคิดว่า คนรุ่นหลังคงจะมีที่เคยเห็นหลักฐานร่วมสมัย (ในกรณีนี้คือข่าวหนังสือพิมพ์) เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยหรือไม่มีเลย และสำหรับคนรุ่นนั้นที่เคยเห็นก็อาจจะจำไม่ได้แล้ว หรืออาจจะจำผิด ข้อมูลนี้จึงอาจจะมีประโยชน์ อย่างน้อยก็ในเชิงสนองความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) ได้บ้าง
พูดถึงการที่คนรุ่นก่อนที่เคยเห็นข่าวเรื่อง “วันเสียงปืนแตก” ในสมัยนั้นจริงๆ แต่ภายหลังจำไม่ได้หรือจำผิด ผมขอกลับไปที่คำบอกเล่าของอุดม สีสุวรรณ ใน สู่สมรภูมิภูพาน ใครที่เคยอ่านงานนี้อาจจะจำได้ว่า อุดม “เปิดฉาก” ด้วยการเล่าถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นวันแต่งงานครั้งที่ 2 ของเขา เขาตั้งชื่อบทที่ 1 ว่า “คืนวันที่ 6 สิงหาคม 2508” เมื่อเล่าไปถึงบทที่ 3 ที่เขาตั้งชื่อว่า “เสียงปืนดังขึ้นบนที่ราบสูง” อุดมเขียนว่า
“เช้าวันที่ 8 สิงหาคม ผมไปทำงานตามปกติ... ที่ถนนข้าวสาร บางลำพู...ผมขึ้นรถสีเทาสายดอนเมือง-สนามหลวงจากสะพานควายมาลงที่สี่แยกคอกวัว แล้วก็เดินไปที่สำนักงาน พอโผล่เข้าไปก็เห็นช่างพับหญิง 2-3 คนกำลังเร่งพับหนังสือพิมพ์อยู่ บนโต๊ะพับกระดาษ มีหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวางอยู่ข้างๆ เหลือบตาดู เห็นพาดหัวตัวใหญ่มีข้อความทำนองว่า ได้มีการปะทะกันแล้ว และมีคนตาย 1 คน ผมหยิบขึ้นมาอ่านดู เห็นมีรูปชายผู้หนึ่งนอนคว่ำตายอยู่บนพื้น แต่งชุดสีดำ สวมหมวกเบเร่ต์ ในข่าวกล่าวว่ามีการปะทะระหว่างผู้ก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ก่อการร้ายตายหนึ่ง ฝ่ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหนึ่ง จากข่าวนี้รู้ได้ทันทีว่าได้มีการปะทะกันแล้วระหว่างเจ้าหน้าที่กับฝ่ายปฏิวัติ” (อ้างจากฉบับพิมพ์รวมเล่มปี 2532, หน้า 35)
อุดมไม่ได้ระบุว่า หนังสือพิมพ์ฉบับที่เขาเห็นคือหนังสือพิมพ์อะไร แต่ผมขอเสนอว่าสิ่งที่เขาจะต้องจำผิดแน่นอนคือเรื่องวันที่ที่เขาเห็นหนังสือพิมพ์นั้น ซึ่งเขาระบุว่าเป็นวันที่ 8 สิงหาคม (อันที่จริง ผมเชื่อว่า เขาไม่ได้จำได้ว่าเป็นวันที่ 8 สิงหาคมจริงๆ เขาเพียงแต่นึกถึง “ความจริง” ที่ว่า “วันเสียงปืนแตก” คือ วันที่ 7 สิงหาคม แล้วสรุปว่า เขาจะต้องเห็นข่าวเรื่องนี้ในวันต่อมาคือ 8 สิงหาคม) เหตุที่ผมเสนอเช่นนี้ก็เพราะเมื่อผมไปค้นหนังสือพิมพ์สมัยนั้นดู ผมพบว่า การปะทะเกิดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2508 และ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในวันที่ 9 สิงหาคม
รายงานการเคลื่อนไหวของ “แดง” ก่อน 8 สิงหาคม 2508 ใน Bangkok Post
เท่าที่ผมสามารถบอกได้จากการค้นคว้า Bangkok Post เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่ติดตามข่าวการเคลื่อนไหวของพวก “แดง” (คอมมิวนิสต์) ทางภาคอีสานมาตั้งแต่ต้น อันที่จริง Post คงได้ข่าวว่าระแคะระคายว่า มีความเคลื่อนไหวสำคัญของคอมมิวนิสต์ในภาคนั้น จึงได้ถึงกับส่ง เท่ห์ จงคดีกิจ ผู้ช่วยบรรณาธิการไปตะเวณสืบข่าวในพื้นที่โดยตรง ตั้งแต่กลางปีนั้น คืออย่างน้อย 3 เดือนก่อน “วันเสียงปืนแตก” และทำเป็นรายงานข่าวพิเศษมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
ก่อนหน้านั้น ในปี 2505 เมื่อ พคท.เริ่มเปิดดำเนินการสถานีวิทยุของตนที่ชื่อ “เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย” หรือ สปท. ใหม่ๆ Post เคยรายงานข่าวเรื่องนี้ โดยอ้างประเสริฐ รุจิระวงศ์ อตร.ขณะนั้น ระบุว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ดำเนินการ (ดูภาพประกอบที่ 1) เรื่องปรีดีเกี่ยวพันกับ สปท.นี้ ฟังดูเป็นการมั่วข่าวอย่างสุดๆ ของทางการ แต่ผมอยากกล่าวในที่นี้เพียงว่า ในหมู่ชาว พคท.เอง มีการพูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน ผมต้องเก็บไว้เล่ารายละเอียดเรื่องนี้ในคราวอื่น
ภาพประกอบที่ 1
Bankok Post ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2505 หน้า 1
กลางเดือนพฤษภาคม 2508 Post ตีพิมพ์รายงาน “พวกแดงในตะวันออกเฉียงเหนือ” ของเท่ห์ เริ่มจากฉบับวันที่ 13 ในหน้าหลัง โดยลงรูปเท่ห์ โฆษณาไว้ในหน้าแรก “พวกแดงในตะวันออกเฉียงเหนือ – หน้าหลัง โดย ผู้ช่วยบรรณาธิการ Post เท่ห์ จงคดีกิจ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางอย่างกว้างขวางเพื่อหาข้อเท็จจริง ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นเขตที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหายุ่งยาก” ใต้รูปเท่ห์มีแผนที่ แสดงให้เห็นเส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพไปที่หนองคายตรงข้ามกับเวียงจันทน์ โดยผ่านโคราช, ขอนแก่น และ อุดร จากหนองคายย้อนกลับมาที่อุดร แล้ววกไปทางสกลนคร จากสกลนครไปที่ตัวจังหวัดนครพนม แล้วต่อมาที่อำเภอธาตุพนม และนาแก หลังจากนั้น ลงใต้มาที่มุกดาหาร แล้วต่อไปอุบล จากอุบล วกมาทางศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์ กลับมาที่โคราช และกรุงเทพ (ภาพประกอบที่ 2) เข้าใจว่า เส้นทางนี้ความจริง คือเส้นทางการเดินทางของประภาส จารุเสถียร ในการตรวจเยี่ยมโครงการเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) “ในเขตพื้นที่ล่อแหลม” ทางภาคอีสาน โดยเท่ห์ติดตามไปด้วย(รายงานของเท่ห์ไม่ได้ระบุชัดเจนเรื่องนี้ แต่มีการเอ่ยถึงประภาส ว่าอยู่ระหว่างการเดินทางเยี่ยมชมโครงการ รพช. และมีคำให้สัมภาษณ์ของประภาสสอดแทรกในรายงานของเท่ห์ รวมถึงมีการรายงานคำสัมภาษณ์ของประภาส จากอุบล เรื่องรัฐธรรมนูญตีพิมพ์เป็นเรื่องหลักของหน้า 1 ฉบับวันที่ 13 นี้ด้วย)
ภาพประกอบที่ 2
Bangkok Post ฉบับวันที่
ภาพประกอบที่ 3
Bangkok Post ฉบับวันที่
Bangkok Post
ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2508 หน้าแรก
วันต่อมา Post ตีพิมพ์รายงานอีกชิ้นหนึ่งของเท่ห์เป็นเรื่องหลักของหน้าแรก (ดูภาพประกอบที่ 4) โดยพาดหัวตัวโตว่า “ความหวาดกลัว (การก่อการร้าย) ในตะวันออกเฉียงเหนือ” (Terror in Northeast) พร้อมหัวรองว่า “ฆาตรกรลึกลับสังหารผู้ใหญ่บ้านในงานวัดนาแก ในการลอบฆ่าสยองขวัญรายล่าสุด . . .” ในรายงานเล่าว่า เมื่อคืนวันที่ 12 พฤษภาคม ผู้ใหญ่บ้านในอำเภอนาแกถูกยิงตายสยองในงานวัด จากทางด้านหลังศีรษะ กระสุนทะลุออกทางลูกตา ท่ามกลางฝูงชนที่มาเที่ยวงาน นับเป็นรายล่าสุดของการฆ่าลึกลับ ที่รวมถึงการฆ่ากำนันเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม โดยผู้ตายทั้งคู่เป็นสายให้ตำรวจ ไม่เป็นที่รู้โดยแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือ แต่เชื่อว่าเป็นฝีมือของชายหนุ่มราว 12 คนจากบ้านดงหลวง ที่หลบเข้าป่าไปก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่เชื่อว่าพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ เท่ห์กล่าวว่าถ้าจริง พวกเขาก็จะเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กลุ่มแรกที่ปฏิบัติการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย “เข้าทำนอง ไทยกง (เหมือนพวกเวียดกง ในเวียดนามใต้)” อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บางส่วนในกรุงเทพไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ เพียงแต่เป็นพวกที่กลัวถูกจับ (ในฐานะคอมมิวนิสต์) จึงหลบเข้าป่าไป พร้อมปืนเพื่อป้องกันตัว เท่ห์กล่าวว่า การฆ่าตำรวจและสายตำรวจอย่างลึกลับที่ติดต่อกัน สร้างความหวาดกลัวอย่างมากในหมู่บ้าน มีข่าวว่า ก่อนการฆ่าบางราย จะมีการกระซิบกระซาบในหมู่ชาวบ้านล่วงหน้าว่า ใครจะเป็นผู้ถูกฆ่ารายต่อไป เจ้าหน้าที่บางคนหวาดกลัวมาก ทุกครั้งที่เข้าโรงหนังต้องคอยหันกลับไปดูว่ามีใครอยู่ข้างหลังตัวหรือไม่
การปะทะวันที่ 8 สิงหาคม 2508: “วันเสียงปืนแตก”
เกือบ 3 เดือนต่อมา ในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 Bangkok Post ก็ตีพิมพ์ในหน้าแรก (ต่อไปถึงหน้าหลัง) ข่าวการ “ปะทะใหญ่” ที่นครพนม (Post ใช้คำว่า battle) ผมจะขอแปลรายงานข่าวนี้ทั้งหมดมาให้ดูกันข้างล่าง แต่ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า ที่รายงานข่าวกล่าวถึง พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ “ให้สัมภาษณ์จากเตียงคนเจ็บ ในเช้าวันนี้” คือวันที่ 9 สิงหาคม ได้ ก็เพราะสมัยนั้น Postออกวางตลาดตอนบ่าย (เหมือน สยามรัฐ) จากรายงานข่าวทั้งหมด จะเห็นว่า เกือบไม่ต้องสงสัยว่า เหตุการณ์ซึ่งจะเป็นที่รู้จักกันภายหลังในฐานะ “วันเสียงปืนแตก” นั้น เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2508 ไม่ใช่วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2508 ขอให้สังเกตรายละเอียดจากการบอกเล่าของ พตอ.สงัดเอง ที่ระบุได้ชัดเจนเรื่องการ “เดินทางตลอดคืนวันเสาร์” เพื่อไปดักพบ “กองโจร” จนเกิดการปะทะ “ประมาณ 7.00 น. เมื่อวานนี้”
รายงานข่าวของ Bangkok Post ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 มีข้อความทั้งหมด ดังนี้ (ดูภาพประกอบที่ 5 ถึง 7)
ระดมกวาดล้างพวกแดงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การรบ
ภาพประกอบที่ 5
Bangkok Post
ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 หน้าแรก
ภาพประกอบที่ 6
Bangkok Post
ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 หน้าหลัง
ภาพประกอบที่ 7
ภาพ พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ จาก Bangkok Post ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 หน้าหลัง
คำบรรยายใต้ภาพเขียนว่า
“พตอ.สงัด โรจนภิรมย์ มีใบหน้าบิดเบี้ยวด้วยความเจ็บปวดในโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเช้านี้”
หมายเหตุประชาไท : บทความนี้เคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 13-19 สิงหาคม 2547 และปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อยโดยผู้เขียนเพื่อเผยแพร่ในประชาไท