ที่มา ไทยรัฐ
โครงการชุมชนพอเพียง...คุ้นหูดวยสโลแกน "ใครมีปัญญา เอามาแลกเงิน" สนับสนุนต่อภูมิปัญญาวิถีชีวิตพอเพียง ทว่า...ช่วงที่ผ่านมาพบพิรุธการอนุมัติงบไปสู่ชุมชน ไม่พอเพียงอย่างที่ตั้งหวัง
ปมพิรุธอื้อฉาวล่า เกิดในชุมชนพื้นที่เขตพญาไท...โคมไฟโซลาร์เซลล์ ต้นละ 50,000 บาท มีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เขตพญาไท ทำตัวเป็นนายหน้าขายสินค้า
ขั้นตอนเสนอสินค้าดำเนินไปตามกติกา ปัญหามีว่า...ชาวบ้านในชุมชนไม่ได้ตัดสินใจเลือกโครงการ จะทำโครงการอะไรที่เป็นประโยชน์ได้เอง...แต่จำต้องเลือกให้ซื้อสินค้าไม่กี่ประเภท ตามแผ่นพับโฆษณา...เหมือนถูกมัดมือชก
ปิดการขายได้แล้ว บริษัทจะนัดให้ไปเปิดบัญชี...ประมาณ 5 นาที เงินก็ถูกโอนไปให้บริษัท ทั้งที่ชุมชนยังไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าก่อนเลย
ตกกระไดพลอยโจน ติดตั้งโคมไฟเสร็จเรียบร้อยแล้ว...ไฟก็อ่อนมาก ไม่ได้ประสิทธิภาพ แจ้งให้บริษัทมาแก้ไข ก็บอกว่าแสงสว่างมีแค่นี้ ทำอะไรไม่ได้ แล้วก็เงียบหายไป
สินค้าอื่นๆ ที่มีให้เลือก...ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละ 250,000 บาท, เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละ 300,000 บาท
เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ เครื่องละ 250,000-299,000 บาท, ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละ 250,000 บาท, เตาเผาขยะประสิทธิภาพสูง เครื่องละ 100,000 บาท
แล้วก็มาถึงสินค้าที่กล่าวถึงกันมาก...ตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ สนนราคา 250,000-300,000 บาท
เทียบราคาตู้น้ำกับบริษัททั่วไป พบว่า ราคารวมติดตั้ง พร้อมซ่อมบำรุง รับประกันไม่เกิน 1 ปี อยู่ที่ตู้ละ 35,000-49,000 บาท
ขณะที่ต้นทุนจริง อยู่ที่ 29,000-35,000 บาท
ราคาข้างต้น เกิดจากการแข่งขันสูง...โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา การขายสินค้าเต็มราคาที่ตั้งไว้ เป็นเรื่องยากมาก ทำให้ทุกบริษัทต้องปรับลดราคา เพื่อตัดราคาคู่แข่ง
ต้นทุนจริงอาจอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท ถ้าต้องการกำไรเพิ่ม จะเติมอุปกรณ์ เข้าไปให้มากขึ้น เช่น ที่หยอดเหรียญจาก 1 เป็น 2 ช่อง...หรือ 4 ช่อง, เปลี่ยนชนิดเมมเบรนกรองน้ำให้สกัดสิ่งสกปรก เชื้อโรคต่างๆได้
สนนราคาตู้น้ำเพิ่มออปชั่น อาจเพิ่มไปได้ถึง 6 หมื่นบาท แต่ที่ผ่านมาไม่มีบริษัทไหนกล้าทำ...เพราะยิ่งเพิ่ม ราคายิ่งสูง ก็ยิ่งขายได้ลำบาก
กรณีเพิ่มแผงโซลาร์เซลล์ ต้องดูที่วัตถุประสงค์ ตู้น้ำหยอดเหรียญปัจจุบัน ทำน้ำ 1 ยูนิต เสียค่าไฟไม่เกิน 50 บาท...คิดเป็นปริมาณน้ำ 1,000 ลิตร
การขายน้ำต่อตู้ เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 200 ลิตร การนำแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ด้วยเหตุผลประหยัดไฟ เพียงพอแค่ไหนให้คิดกันเอาเอง
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ถ้านำตู้น้ำโซลาร์เซลล์ไปตั้งไว้ในที่ห่างไกลจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ถือว่ามีประโยชน์มาก
สเปกแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 130 วัตต์ 2 แผง สินค้าเสนอขายชุมชนพอเพียง ตั้งราคาไว้ที่ แผงละ 21,500 บาท สองแผงเป็นเงิน 43,000 บาท...ไม่รวมอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า...ถือว่าแพงทีเดียว
สนนราคาท้องตลาด แผงโซลาร์เซลล์ขายเฉลี่ย 200 บาทต่อวัตต์...ถ้า 130 วัตต์ก็ 26,000 บาท...รวมอุปกรณ์จำเป็นทั้งหมดแล้ว ไม่เกิน 40,000 บาท
เงื่อนปมน่าจับตามากที่สุด...บริษัทเอกชนที่ได้รับงานในโครงการชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง จะส่งนายหน้าเข้าไปในชุมชนเพื่อหาลูกค้า
แต่เข้าใจว่า...คนพวกนี้ได้รับทราบข้อมูลก่อนแล้วว่า ชุมชนไหนได้รับงบประมาณเท่าไหร่?...มีความประสงค์จะซื้อตู้น้ำหรือไม่?
บริษัทที่ถูกพาดพิง อธิบายว่า จากที่หยอดน้ำลิตรละ 1 บาท แต่ตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 4 ลิตร 1 บาท...ลดค่าใช้จ่ายให้คนในชุมชนได้ชัดเจน แถมไม่ต้องเสียค่าไฟ
สำหรับพัดลมไอน้ำ...ของแถม ราคา 5 หมื่นบาท คนในชุมชนสามารถหยิบยืมไปใช้ประโยชน์ได้ ช่วงอากาศร้อน
"...เป็นพ่อค้า ไม่ว่าใครมาซื้อสินค้าก็ต้องขาย ต้องทำธุรกิจจุนเจือบริษัท...ผิดตรงไหน หากสินค้าชำรุดหรือเสีย เราก็มีประกัน"
ทุกวันนี้ ข้าราชการฝ่ายปกครองจากหลายพื้นที่รู้สึกอึดอัดใจ เพราะประชาชนเข้าใจผิดว่าข้าราชการอำเภอมีผลประโยชน์กับผู้รับเหมาที่เข้าไปขายสินค้าให้ชุมชนพอเพียง โดยเฉพาะการจัดซื้อสินค้าในลักษณะไม่ชอบมาพากล
กระบวนการนำเสนอสินค้า มีการตีกรอบสินค้าให้ชุมชนต้องจัดซื้อตามที่ส่วนกลางกำหนด ให้เลือกซื้อสินค้าไม่กี่ประเภทตามโบรชัวร์ คล้ายกับล็อกสเปกล่วงหน้า
ปมเหล่านี้ ไม่ตรงตามความต้องการของชุมชน เช่น ถ้าต้องการงบไปใช้ขุดลอกคลอง โครงการเลี้ยงไก่เนื้อ ซื้อเต็นท์...ก็ทำไม่ได้
"หากชุมชนไม่เห็นด้วย จะได้รับแจ้งว่าอาจถูกตัดออกจากการพิจารณา ไม่ได้รับเงินสนับสนุน กลับกัน...ถ้าเลือกสินค้าตามกำหนด จะส่งเรื่องตรงไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีทันที"
โครงการชุมชนพอเพียง แปลงรูปมาจากโครงการดั้งเดิมเอสเอ็มแอล กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ พอเปลี่ยนรัฐบาล...สำนักนายกรัฐมนตรีก็ดึงเรื่องกลับไปทำเอง
คนวงในฝ่ายปกครองเสนอว่า ถ้าไม่ไว้ใจกระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรีก็น่าจะนำโครงการนี้ไปทำเอง ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชุมชนพอเพียง (สพช.) ยอมรับว่า มีโอกาสที่โครงการมีช่องว่าง ทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้
ปัญหาที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าตอนนี้โครงการชุมชนพอเพียง ไม่ได้เอาปัญญานำหน้า แต่เอาเงินนำหน้า...ทำไปทำมาเงินเริ่มวิ่งแซงปัญญา สำนักงานชุมชนพอเพียงเห็นปัญหา แต่ก็ต้องช่วยชาวบ้านที่ทำดี ที่มีอยู่มากมาย
ปมปัญหาเงินแซงปัญญา ร้องเรียนเข้ามา 83 เรื่อง สรุปได้ 4 ประเด็น ดังนี้...
1. การทำประชาคมมีลักษณะตุกติก ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่และคนในชุมชน
2. ความเข้าใจโครงการของประชาชนมีน้อย ทำให้ผู้อื่นเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการชี้นำ
3. แอบอ้างเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้คนในชุมชนหลงเชื่อ
4. ปัญหาขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว
กรณีร้องเรียน...ชุมชนจัดซื้อเครื่องผลิตน้ำยี่ห้อ-รุ่นเดียวกันเป็นจำนวนมาก จนน่าสงสัยว่าอาจมีการทุจริต
ผลตรวจสอบข้อมูลรายการอุปกรณ์ที่ชุมชนเสนอจัดซื้อเข้ามาทั้งหมด พบว่า เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์มีอยู่เพียง 113 เครื่อง จากจำนวนรายการเสนอทั้งสิ้น 9,000 รายการ
โดยมีอุปกรณ์ ที่เสนอซื้อมากที่สุด คือ เครื่องผลิตปุ๋ย ทั้งสิ้น 2,900 รายการ
สุ้มเสียงผู้อำนวยการชุมชนพอเพียงค่อนข้างเบา...เมื่อเทียบกับเสียงนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บอกว่า ได้รับรายงานจากรองนายกรัฐมนตรีกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ แล้วถึงการทุจริตจากกรณีตู้น้ำ
"เข้าใจว่า ขณะนี้ได้มีการส่งคนไปแจ้งความดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว...มีการทุจริต สองส่วน"
ส่วนแรก...ส่วนในพื้นที่ เป็นเรื่องของการไปโน้มน้าว หรือทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้ชุมชนได้เสนอโครงการ
ส่วนที่สอง...เข้าใจว่าในสำนักงาน มีลักษณะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรกับโครงการในสำนักงานส่วนกลาง
นายกฯอภิสิทธิ์ย้ำว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินการ และกำลังดูรายละเอียดเพิ่มเติม เข้าใจว่าหลายคนที่เกี่ยวข้อง น่าจะทำมาตั้งแต่เป็นโครงการเอสเอ็มแอล
ปมทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง ชี้ชัดแล้วว่ามีมูล ขั้นต่อไปก็คือการสืบสาวไปให้ถึงต้นตอการทุจริต...
จะมีนายทุน นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ เข้ามาเกี่ยวเป็นขบวนการมากน้อยแค่ไหน ผู้นำ...อภิสิทธิ์ ต้องจับให้มั่นคั้นให้ตาย พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า เรื่องทุจริตคิดมิชอบ นายกฯมือใหม่หัวใจประชาชน...ไม่เอาด้วย.