ที่มา thaifreenews
การพระราชทานความเป็นธรรมในกรณีที่ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนทูลเกล้าฯถวายฎีการ้องทุกข์
พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณล้วนแล้วแต่ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการพระราชทานความเป็นธรรมแก่ราษฎร ทรงกำหนดวิธีการในการเปิดโอกาสให้ราษฎรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ นำความกราบทูลเพื่อทราบถึงพระเนตรพระกรรณได้โดยง่าย หากย้อนไปถึงสมัยสุโขทัยซึ่งการปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก มีลักษณะไม่ซับซ้อน เมื่อราษฎรผู้ใดได้รับความเดือดร้อนจะถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ ดังปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ ๑ รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า“….ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลาง บ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิง ขุนบไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยชื่อ……”
ในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาของความยุติธรรมและเป็นผู้พิพากษาสูงสุดเพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิต ในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์มิได้ทรงบริหารงานด้านการยุติธรรม แต่ยังทรงสนพระทัยต่อฎีกา และการอุทธรณ์ต่อพระมหากษัตริย์ก็เป็นวิธีสุดท้ายที่จะกระทำได้
พระมหากษัตริย์ไทยเกือบทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่การพิจารณาฎีกาของประชาชน เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในการพระราชทานความเป็นธรรม การชำระกฎหมายครั้งใหญ่เพื่อทำประมวลกำหมาย หรือกฎหมายตราสามดวงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มาจากมูลเหตุที่นายบุญศรีช่างเหล็กหลวงทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ถูกอำแดงป้อม ภรรยา ฟ้องหย่าแล้วพระเกษม ผู้พิพากษาได้ตัดสินให้หย่าได้ทั้งที่อำแดงป้อมเป็นฝ่ายผิดคือมีชู้ เมื่อตรวจสอบแล้วได้ความว่าบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่เป็นธรรม จึงต้องชำระสะสางกฎหมายทั้งหมดในภาพรวม
ในสมัยกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาพิพากษาฎีกาในวัน ๘ค่ำ ๑๕ ค่ำ (ทุกวันพระ) ทรงมีประกาศเกี่ยวกับการยื่นฎีการ้องทุกข์ของประชาชนหลายฉบับ แม้กระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้เสด็จสวรรคต ก็ยังมีพระราชหฤทัยห่วงใยในสันติสุขของประชาราษฎร มีพระราชดำรัสแก่ผู้เฝ้าพระอาการประชวรคือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก ว่า
“ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้วขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อยให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ได้ที่พึ่ง อยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ให้เอาเป็น พระราชธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อนให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงรับเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับการถวายฎีกาทุกวันพระ เช่น แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นบางวันไม่ได้เสด็จออกก็จะโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จออกทรงรับแทน และทรงกำหนดสถานที่และเวลา ตลอดจนเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความสะดวกเรียบร้อยในการถวายฎีกาด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เช่นเดียวกันที่ทรงให้ความสำคัญแก่การถวายฎีการ้องทุกข์ของประชาชนตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์สมบัติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องที่ต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรแหล่านั้นได้ดีขึ้น เราจะคุ้นตากับภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับฟังเรื่องราวและปัญหาต่างๆจากราษฎรในท้องที่นั้นๆ กราบทูลอย่างใกล้ชิดในโอกาสดังกล่าวราษฎรสามารถกราบทูลข้อเดือดร้อนของตนเองหรือร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้าราชการหรือจากราษฎรด้วยกันเองต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะทรงรับเรื่องราวเหล่านั้นและทรงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้ความเป็นธรรม อาจกล่าวได้ว่าทรงได้รับฎีการ้องทุกข์จากราษฎรที่เดือดร้อนไม่ว่าจากเหตุใด และได้พระราชทานความเป็นธรรมและความช่วยเหลือตามควรแก่กรณีแก่ราษฎรผู้ที่เดือดร้อนเหล่านั้นเป็นจำนวนมากมายเหลือคณานับ
มีราษฎรจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ที่นาได้รับความเสียหายอย่างหนักเพราะกรมชลประทานระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อน ราษฎรคนนี้ได้มีโทรเลขกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานความช่วยเหลือซึ่งพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเมตตาโดยสั่งการให้กรมชลประทานลดประตูเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทโดยให้ระบายน้ำแต่น้อย ประชาชนจึงรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ฎีการ้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวโดยตรงมีจำนวนมากมาย ตั้งแต่เรื่องปลีกย่อยจนถึงเรื่องที่กระทบกับชนส่วนใหญ่ เช่น ขอพระราชทานยืมเงิน เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขาดที่ดินทำกิน ขัดแย้งเรื่องที่ดิน เรื่องขอให้ได้ศึกษาต่อ ถูกกลั่นแกล้งให้ออกจากราชการ ขอพระราชทานงานทำ ฝนแล้ง น้ำท่วม จราจรติดขัด ฎีกาประเภทนี้ไม่มีอยู่ในกฎหมายไทย แต่เป็นช่องทางที่ราษฏรจะนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ราษฎรมักจะถวายเวลาเสด็จพระราชดำเนินหรือไม่ก็ถวายผ่านราชเลขาธิการ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงเคยมีรับสั่งเล่าให้นักข่าวหญิง ฟังเมื่อพ.ศ.๒๕๒๓ ถึงเรื่องการถวายฎีกาของประชาชนว่า ราษฎรมักจะถวายต่อพระราชหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัว แต่เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยจนบางครั้งก็เกินเลยถึงขั้นตรวจสอบเนื้อหาและระวังยับยั้งไว้ ราษฎรจึงต้องหาวิธีการอื่น เช่น
“ชาวบ้านภาคใต้ที่ฉลาด รู้ด้วยว่าจะถวายฎีกานี้ต้องทำอย่างไรเอาซ่อนไว้ใต้ดอกไม้ แล้วเอาดอกไม้นั้นมาให้บอกว่า นั่นข้างล่างนะฎีกาอยู่ข้างล่าง (ทรงพระสรวล) รู้จักด้วยนะซ่อนไว้ไม่เช่นนั้นฎีกานี้ตำรวจเขาจะตรวจค้นก่อน”
และทรงเล่าอีกว่า
“…เห็นสิรินธรกับจุฬาภรณ์ไปแย่งฎีกาจากตำรวจ โดยมาเป็นตำรวจราชสำนัก เขาไม่อยากให้ยุ่งการเมือง คือประชาชนเห็นเราใกล้เข้ามาก็คงจะชักออกมาจากชายพกหรือตะกร้า ตำรวจก็แย่งมาเสีย สององค์นี่ก็ไปวิ่งแย่งจากมือตำรวจ (ทรงพระสรวล)เสร็จแล้วแม่เล็กบอกเล็กได้มาแล้วๆ….”
แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงใส่พระทัยในปัญหาความเดือดร้อน และความทุกข์ยากของประชาชนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีรับสั่งว่า
“ฝรั่งชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่เหมือนใคร ทำให้สถาบันกษัตริย์ดำเนินอีกแนวหนึ่งเป็นแนวใหม่ที่ไม่มีในโลก ไม่มีที่ไหนในโลกที่พระมหากษัตริย์จะออกไปแล้วประชาชนนั่งเล่าถึงความทุกข์ แล้วก็พากันไปดูจนถึงหลังบ้าน”
นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนรักพระมหากษัตริย์เหมือนลูกรักพ่อแม่เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนก็นึกถึงพ่อแม่ให้ช่วยเหลือ