ที่มา มติชน
เมื่อเวลา 18.25 น. วันที่ 16 พฤษภาคม นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวาระพิเศษได้ประชุม โดยมีมติคือ
1.อนุมัติการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน(พรก. ฉุกเฉิน) ใน 5 จังหวัดเพิ่มเติม ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำพู สกลนคร เพื่อควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ได้วางมาตรการในการดูแลความเรียบร้อยทั้ง 5 จังหวัดแล้ว
2. อนุมัติให้วันที่ 17-18 พ.ค.เป็นวันหยุดราชการ ในท้องที่กทม.เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องมีการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ กทม.ให้เป็นไปด้วยดี การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านความมั่นคงขณะนี้กำลังดำเนินอย่างต่อเนื่องและมีผลคืบหน้าตามลำดับ แต่ก็มีความจำเป็นให้เจ้าหน้าที่ราชการได้ทำงานโดยสะดวก
3.การปฏิบัติการการดูแลพื้นที่และการกำชับกำลังไปพื้นที่ราชประสงค์ เนื่องจากมีสถานการณ์การชุมนุมที่ขัดกับกฎหมายและส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นการคุกคามหรือใช้อาวุธต่อประชาชนอย่างที่มีการกล่าวอ้างกัน
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่หยุดการกระทำการดังกล่าว หรือหยุดการปฏิบัติหน้าที่
"รัฐบาลขอเรียกร้องให้กลุ่มที่กำลังปฏิบัติการโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้อาวุธโดยมีการจัดกำลัง ข่มขู่ คุกคาม ปะทะเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงาน รัฐบาลขอเรียกร้องให้แกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)มอบตัว และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว และเรียกร้องให้ยุติการชุมนุม และให้ยุติการเผชิญหน้า และการกระทำใดๆที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดอาวุธ มีพฤติกรรมที่ข่มขู่ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ยุติการกระทำดังกล่าว หยุดยิงและมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม"นายปณิธานกล่าว
“แผนปรองดองยังอยู่และรัฐบาลขอยืนยันว่าจะเดินหน้าที่ทำงานผลักดันให้แผนปรองดองที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเสนอไม่มีผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว นายกฯก็จะพิจารณาการเลือกตั้งต่อไป” นายปณิธาน กล่าว
นายปณิธาน กล่าวว่า ส่วนในเรื่องการเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงการชุมนุมหรือเข้ามาดำเนินกิจการใดๆในประเทศไทย รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ไม่เคยมีนโยบายให้องค์กรใดเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศรัฐบาลไทยมีอธิปไตย เป็นราชอาณาจักรไทยซึ่งสามารถดูแลปัญหาแก้ไขของปัญหาคนไทยด้วยกันได้ แต่ก็ยินดีรับฟังและมีความรู้สึกเป็นกังวลเช่นเดียวกับประชาชน และองค์กรนานาชาติ
“เรารับฟัง ชี้แจง ร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลไทยเป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติ หรืออดีตก็ไม่เคยให้มีการแทรกแซงแต่ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกับองค์กรเหล่านั้น และพร้อมๆกับเรียกร้องให้องค์กรเหล่านั้นประณามการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงความปลอดภัยของคนไทย การสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเดินหน้าบังคับใช้กฎหมาย จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการนำความสงบสุขกลับมาสู่บ้านเมืองไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้” นายปณิธาน กล่าว
นายปณิธาน กล่าวว่า การเจรจาคงไม่สามารถเกิดได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ยิงและทำร้ายประชาชน ตรงกันข้ามแกนนำนปช.ควรสั่งให้มีการหยุดยิง มอบตัวและเข้าสู่กระบวนการปรองดองดีกว่า และการเรียกร้องสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่บังควรและไม่สมควรกระทำ เพราะแม้แต่รัฐบาลทักษิณเองก็ยังเคยมีท่าทีที่ก้าวร้าวต่อไปองค์กรเหล่านี้ด้วย
นายถวิล เปลี่ยนสี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการ ศอฉ. กล่าวว่า ศอฉ. เห็นชอบให้ประกาศเรื่องให้บุคคลและกลุ่มบุคคล ออกจากพื้นที่ชุมนุมเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไปแล้วนั้น ศอฉ.ตระหนักดีกว่าในพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงนั้นมีเด็ก สตรีและคนชรา รวมทั้งผู้ที่ไม่ทราบว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีความประสงค์จะออกจากพื้นที่การชุมนุม เพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม
ศอฉ.จึงขอประกาศให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเดินทางออกจากพื้นที่ชุมนุมโดยเร็ว โดยให้แจ้งความประสงค์ขอกลับภูมิลำเนากับเจ้าหน้าที่ของทางราชการได้ทุกคน ซึ่ง ศอฉ.จะให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่แก่ทุกท่าน ตั้งแต่วันที่ 16-17 พ.ค.เวลา 15.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งบชาติ(นปช.)เรียกร้องให้รัฐบาลยอมให้องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่าง นปช.กับรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ นายปณิธาน กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 15 พ.ค. กระทรวงการต่างประเทศ ทำจดหมายชี้แจงไปยังนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อย่างเป็นทางการและทำสำเนาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในใจควมของจดหมายนั้นในประเด็นแรกเป็นการยืนยันหลักการการแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการสันติ และมีข้อเสนอทางการเมืองเป็นหลักว่า รัฐบาลไทยมี่แนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ภาษาอังกฤษเรียกโรดแมป(แผนปรองดง) แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยกลุ่มแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช. )และกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ทั้งๆที่ได้รับการตอบรับจากนานาชาติและคนไทยส่วนใหญ่จากการสำรวจความคิดเห็นต่างๆ
ส่วนประเด็นที่สอง คือการยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในและเป็นเรื่องที่นอกจากมีกระบวนการอยู่แล้ว ก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมาร่วมกระบวนการนี้และเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนกระบวนการนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่สันติ
ประเด็นที่สามคือการเดินหน้าบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติการทางความมั่นคง การตั้งด่านตรวจ การกระชับกำลัง ก็เป็นไปตามหลักการที่เราเรียกว่า รักษากฎหมายหรือรูลล์ ออฟ ลอว์ พร้อมๆกับเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนวิธีการนี้ และเราเชื่อว่านานาชาติจะเข้าใจมากขึ้นและสนับสนุนวิธีการของรัฐบาลไทย
นอกจากนี้ก็ยังมีการสรุปการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ทหารเรื่องปฏิบัติการของทหาร ว่าในรอบ 2 วันที่ผ่านมา การตั้งด่านตรวจ การกระชับกำลัง ได้เกิดปัญหาการต่อต้านของกลุ่มมวลชน โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธจนทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นไปด้วย ซึ่งเราจะใช้แนวทางนี้ในการชี้แจงกับนานาชาติ อย่างต่อเนื่อง โดยนายอภิสิทธิ์ สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกับต่างชาติอย่างต่อเนื่องโดยใช้หลักการที่ได้ชี้แจงกับสหประชาชาติ