ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
6 พฤศจิกายน 2554
เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนหลายล้านคน ตลอดจนมีผลกระทบต่อโรงพยาบาลใหญ่ในหลายๆ จังหวัดเป็นจำนวนไม่น้อย กลุ่มคุณหมอสายด่วนจึงได้รวมตัวกันขึ้นมา
โดยมีทั้งภาคประชาชนที่ประกอบด้วยแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์จำนวนกว่า 100 คนจากทั่วประเทศ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ บุคคลากรในมหาวิทยาลัย องค์กรเอกชนและเอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพื่อแบ่งเบาภาระอันยิ่งใหญ่ของบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐ และเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้ผู้ประสบภัย
โดยมีศูนย์กลางการประสานงานที่โรงพยาบาลราชวิถี
กลุ่มคุณหมอสายด่วนให้บริการสายด่วน 50 คู่สาย โดยมีแพทย์จำนวน 50 คน ให้คำปรึกษาในการรักษา และปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งยังมีแผนการขยายงานในส่วนของการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกจาก ที่พักอาศัยซึ่งประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งการให้บริการด้านการแพทย์เคลื่อนที่ไปยังศูนย์พักพิงหรือชุมชนที่ ประสบภัยต่าง ๆ
หมายเลขโทรศัพท์สายด่วนคือ 088-686-5116 ถึง 45 (รวม 30 คู่สาย ) 090-410-7600 ถึง 20 (รวม 20 คู่สาย) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น เปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00 – 20.00 น. ระยะเวลาดำเนินงานเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2554 หากมีความเดือดร้อนของประชาชนต่อเนื่องจะพิจารณาขยายเวลาต่อไป
ผู้ประสานงานโครงการ
นพ.ชูศักดิ์ หนูแดง ผู้ประสานงานฝ่ายการแพทย์ 081-540-4749
อ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้ประสานงานเครือข่าย 090-563-3170
ที่ปรึกษาโครงการ
แพทย์หญิงวารุณี จินารัตน์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี)
นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ (รองเลขาธิการแพทยสภา)
นพ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ (มูลนิธิเพื่อการสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก)
มารู้จักคุณหมอสายด่วน (Doctor by Phone)
หลังจากเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พบว่ามีประชาชนโทรมาขอคำปรึกษาและใช้บริการจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง
อาจารย์แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ประสานงานคุณหมอสายด่วน อธิบายถึงลักษณะงานและที่มาของ บริการคุณหมอสายด่วนให้ฟังว่า เป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้โดยเฉพาะ
“การทำงานของคุณหมอสายด่วน จะเป็นการให้คำปรึกษาในเบื้องต้นก่อนนะคะ เรียกว่า First Call เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่อง ทั้ง โรคความดันโลหิต เบาหวาน หรือโรคหัวใจค่ะ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอายุเยอะแล้ว การดูแลเบื้องต้นในสถานการณ์แบบนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ามีกรณีฉุกเฉิน เราก็จะประสานกับเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือต่อไปค่ะ...”
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดการทำงานในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ คงไม่ใช่ข้ออ้างในการทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน สำหรับบุคลลากรด้านสาธารณะสุข แต่การช่วยให้ประชาชนดูแลและช่วยเหลือตนเองได้ในเบื้องต้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพ หากเราไม่รู้ว่าต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ไปอีกนานแค่ไหน
“การให้คำปรึกษาเบื้องต้น เราพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ คือเรื่องการขาดยาของผู้ป่วยเรื้อรังที่จะต้องรับยาอย่างต่อเนื่องค่ะ ซึ่งเราก็พยายามประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามคุณหมอที่มาช่วยให้คำปรึกษาในครั้งนี้ ท่านก็ยังต้องทำงานประจำในหน่วยบริการทางการแพทย์ของตนเองอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นหากบางท่านที่โทรเข้ามาแล้วไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน คุณหมอไม่สะดวกรับสาย หรือไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ในทันที เราก็จะขอเบอร์ติดต่อไว้และโทรไปหาอีกครั้งในภายหลังค่ะ เพื่อที่จะให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและคลายความกังวลใจให้พี่น้องประชาชนได้มาก ที่สุด”
การมีความรู้ ความเข้าใจและวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้อง ในการดูแลตนเองและผู้ป่วยของคนในครอบครัว พร้อมด้วยกำลังใจที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านวิกฤตินี้ ไปด้วยกัน