นักธุรกิจทั้งไทย และต่างประเทศ กำลังเพ่งมองความเป็นไปของการเมืองไทย ด้วยใจระทึก เพราะต่างก็รู้ดีว่า ทหารจะไม่มีวันอ้าแขนรับ หรือปูพรมแดงให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทยแน่นอน
ยิ่งเป็นที่ชัดเจนว่า 83 คน ของผู้ชนะการเลือกตั้ง อาจถูกตัดสิทธิ์ หากการสอบสวน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า พวกเขาได้คะแนนเสียงมาโดยไม่สุจริต
ขณะที่ 65 คนในจำนวนนี้ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ของ พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกเรียกขานว่า เป็นพรรคนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ถ้าทุกๆ 1 ใน 3 ของคนเหล่านี้ ถูกใบขาว ใบเหลือง และใบแดง ว่าที่ ส.ส.ของพรรค พลังประชาชนที่อาจถูกตัดสิทธิ์ มีผลให้ต้องเลือกตั้งใหม่ ก็น่าจะมีประมาณ 20-25 คน
แต่ไม่ว่าเกมนี้ จะจบลงอย่างไร พรรคพลังประชาชน จะมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือไม่ หรือโอกาสการจัดตั้งรัฐบาล จะพลิกผันตกไปอยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้คะแนนมาเป็นอันดับที่สอง
บรรดานักธุรกิจก็ดูจะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้าแล้วกับสถานการณ์ทาง การเมืองไทย ที่จะเกิดขึ้น
สิ่งเดียวที่ยังคงเป็นความหวัง คือ ทิศทางเศรษฐกิจที่โหรเศรษฐกิจหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ 4.3-4.8% โดยไม่พบว่าจะมีปัจจัยอะไรที่เกินการคาดการณ์ที่จะเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจ จนกระทั่งทำให้การขยายตัวลดลง หรือฉุดให้เศรษฐกิจต้องชะงักงัน
ภายใต้ภาวการณ์เช่นว่านี้ หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตาม สิ่งแรก ที่พวกเขาต้องทำ เหมือนๆกัน คือ สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง ในขณะที่เงินเฟ้อไม่สูงจนเกินไป พร้อมๆกับให้ข้อแนะนำว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะที่สามารถจะเข้าซื้อได้ในหุ้นพื้นฐาน สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร โทรคมนาคม หรือแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ลองฟังเสียงของนักธุรกิจเหล่านี้ดู...
บุญชัย โชควัฒนา
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
และประธานคณะกรรมการสื่อสารองค์กร หอการค้าไทย
โดยส่วนตัวแล้วยังไม่รู้ว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะเป็นใคร เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แม้ขณะนี้พรรคพลังประชาชนจะมีเสียงข้างมากก็ตาม
แต่อยากฝากบอกว่าคนที่จะมาเป็นทีมเศรษฐกิจและรัฐมนตรีเศรษฐกิจ รวมถึงกระทรวงอื่นๆ น่าจะเป็นคนที่ประชาชนและสังคมยอมรับ ไม่ใช่คนมีปัญหาและทำอะไรล้มเหลว ต้องซื่อตรง ซื่อสัตย์ โปร่งใส จริงใจในการแก้ปัญหา เป็นกลาง มีอิสระในการทำงาน รู้จริง และไม่อยู่ภายใต้อำนาจการสั่งการของใคร
“ไม่ใช่แค่เรียนมาหรือเป็นแค่นักวิชาการ และมาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพราะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ คนที่ทำได้ดีต้องมีประสบการณ์และเคยทำภาคปฏิบัติเยอะ ถึงจะเข้าใจเศรษฐกิจ และปัญหาต่างๆอย่างลึกซึ้ง”
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วยังมองไม่เห็นใครที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะในทีมของพรรคพลังประชาชน
จะมีก็เพียง 1 คน คือ นายวีรพงษ์ รามางกูร ส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับเป็น รมว.คลัง น่าจะเป็น นายโอฬาร ไชยประวัติ เพราะถือเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ทางด้านการเมืองและ กระทรวงการคลังสูง ส่วนกระทรวงพาณิชย์ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพราะมีประสบการณ์ เป็น รมว.พาณิชย์ มาก่อน
ส่วนบุคคลอื่นๆ ต้องอาศัยประสบการณ์และชั่วโมงบินทางการเมืองด้วย
สำหรับนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เชื่อว่าประชาชนไม่แน่ใจว่าจะอยู่ภายใต้อำนาจ และการกำกับของใคร และไม่รู้ว่าเหมาะสมหรือไม่
ส่วนที่อยากให้แก้ไขเร่งด่วน คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ ว่ารัฐบาลใหม่มีความจริงใจแก้ปัญหา เมื่อมีความมั่นใจ กำลังซื้อก็จะกลับมา การลงทุนก็จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อใดที่สิ่งแวดล้อมคลุมเครือ มีการแต่งตั้งให้บุคคลที่ไม่เป็นที่ยอมรับมาเป็นรัฐมนตรี ประชาชนและนักลงทุนก็ไม่เชื่อมั่น จะส่งผลให้ไม่มีกำลังซื้อ ภาพรวมของเศรษฐกิจแย่ลง
นอกจากนั้น รัฐบาลใหม่ต้องมุ่งแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้แบบเร่งด่วน และมีมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง ตลอดจนเร่งทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ
“ใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลต้องมีความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติและประชาชน สิ่งสำคัญต้องซื่อตรง อย่าให้มีข้อที่ประชาชนสงสัย เพราะทุกวันนี้นักการเมืองไทย ถูกมองว่าเป็นคนขี้โกง อยากบอกว่าหากคิดจะเข้ามาเพื่อโกงกิน อย่ามาเป็นนักการเมืองดีกว่า”
ปนัดดา เจณณวาสิน
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด
“เอกภาพของประเทศเป็นสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยมีความสมานฉันท์ของประชาชนในสังคมเป็นพื้นฐานที่สำคัญ”
เมื่อประเทศมีเอกภาพก็จะเห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นของคนไทย กลับฟื้นคืนจากสภาวะที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะเดียวกันจะสร้างความมั่นใจ ให้แก่นักลงทุนต่างชาติด้วย
ความเชื่อมั่นภายในประเทศจะทำให้ประชาชนกล้าใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนความเชื่อมั่น จากภายนอกประเทศจะทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจโดยรวม ก็จะขยายตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ถึงแม้ว่าต่างชาติยังเชื่อมั่นในโครงสร้างเศรษฐกิจ และศักยภาพของไทยในระยะยาว เราต้องตระหนักว่าไทยต้องแข่งขันกับประเทศที่กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเด่นชัด เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม
ฉะนั้น เพื่อให้ไทยมีความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกระดับสูง ต้องกำหนด ตำแหน่งในการแข่งขันของไทยในแต่ละอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ สิ่งทอ การเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ ท่องเที่ยว โดยนำประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบ
ธนิต โสรัตน์
รองเลขาธิการสายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ภาคเอกชนอยากเห็นบุคคลที่จะเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจ มีความผสมผสานระหว่างคนยุคเก่าและยุคใหม่
“ไม่ว่าจะเป็นนายทนง พิทยะ หรือนายวีรพงษ์ รามางกูร ที่อาจเป็นหัวหน้าทีม แต่
ลูกทีมก็ควรมีคนยุคใหม่ ที่เข้าใจโลกของโลกาภิวัตน์ มากกว่าคนที่มีชื่อเสียงทางเศรษฐกิจ ในอดีต เพราะเศรษฐกิจยุคนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงต้องการคนยุคใหม่มาร่วมขับเคลื่อน”
ทีมเศรษฐกิจจะต้องทำงานหนักเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ประเทศไทยจะไปรอด หรือไม่ในปีนี้ อยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่องจากในและต่างประเทศ หากทีมเศรษฐกิจมือไม่ถึง คงได้เห็นภาพ “ปีแห่งการเผาจริง”
แต่ถ้าได้ทีมเศรษฐกิจที่มีความซื่อสัตย์และแข็งแกร่งมาแก้ปัญหาค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น การผลักดันการส่งออกได้อย่างดี รัฐบาลก็จะมีอายุยาวนาน งานหลักจะต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเป็น ต้องฟื้นฟูประเทศไทยอย่างเป็นนามธรรม เพราะปีที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 4% แต่คู่แข่งในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เติบโต 8% เป็นเรื่องน่าห่วง
ส่วนเรื่องการลงทุนอย่าไปหลงใหลได้ปลื้มกับที่บอกว่าปีที่ผ่านมามีการขอรับส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 600,000 ล้านบาท นั่นเป็นเพียงคำขอ แต่การลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้นในปีนี้อาจมีเพียง 6070% หากการเมืองไม่นิ่ง
“ผมอยากให้รัฐบาลฟื้นกำลังซื้อในประเทศให้คืนกลับมา ด้วยการใช้มาตรการประชานิยม อัดเงินลงประชาชนในชนบท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน แล้ววงจรการใช้จ่าย จะหมุนเป็นลูกโซ่ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบครบวงจร อย่าไปห่วงว่าจะถูกโจมตีว่ามอมเมา ประชาชน หากเป็นเรื่องที่ดีก็ควรดำเนินการต่อไป”
ภัทรียา เบญจพลชัย
กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“อยากให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการบริหารเศรษฐกิจ ของประเทศ โดยต้องมองในเชิงรุก กล้าตัดสินใจ และทำงานรวดเร็ว”
เพราะขณะนี้การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม จีน อินเดีย ไทยช้ากว่าเขามาก จึงจะช้าอีกไม่ได้แล้ว ต้องกล้าตัดสินใจและลงมือทำงาน อย่างรวดเร็ว ต้องมีการสอดประสานงานกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานราบรื่นและรุกหน้าไปด้วยดี
ภารกิจแรกที่อยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่เร่งทำคือ การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการกำหนดทิศทางในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ให้แข่งขันได้อย่างชัดเจน เพื่อเอกชนจะได้วางแผนการลงทุนได้อย่างถูกทิศทาง เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
ส่วนอุตสาหกรรมใดที่สู้เขาไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องให้แนวทางปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด
นอกจากนี้ ควรเร่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำเงินออกมาลงทุน และมีการจ้างงาน รวมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การเปิดให้เงินทุนจากข้างนอกเข้ามาลงทุน รวมทั้งการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยขยายการลงทุนไปนอกประเทศ
ส่วนของภาคตลาดทุนต้องการให้รัฐบาลเห็นเป็นกลไกหลักในการรองรับการขยายตัว ของเศรษฐกิจ ที่จะต้องมีการระดมเงินผ่านตลาดทุน ทำให้เกิดการลงทุนของภาครัฐและธุรกิจ
ตลาดทุนถือเป็นกลไกของรัฐบาลได้ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจขณะที่ภาค ประชาชน และภาคการออมสามารถใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางในการออมเงิน และการลงทุนที่ดีได้ด้วย
สุภัค ศิวะรักษ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ต้องเชี่ยวชาญด้านตลาดเงิน และตลาดทุน เนื่องจากในปัจจุบันกระแสเงินจากต่างประเทศมีการไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว และต้องเข้าใจภาคอุตสาหกรรมอย่างดี ต้องมีความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมประเภทไหน ยังมีศักยภาพ ก็ต้องส่งเสริมช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้
นอกจากนั้น ต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจเรื่องของพลังงาน มีวิสัยทัศน์และวางกลยุทธ์ในช่วง 3-5 ปี จะไปในทิศทางไหน ที่นับจากนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย
“ต้องยอมรับว่าการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ผลจากราคาน้ำมัน เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดังนั้น ต้องทำงานเป็นทีม มีการแบ่งหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน เก่งคนเดียวทำไม่ได้แน่นอน”
กรอบการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าใน 100 วันแรกที่เข้ามาร่วมรัฐบาลต้องกำหนดเป็นรูปธรรมให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง
เช่น มาตรการช่วยภาคอุตสาหกรรม มาตรการการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นอย่างไร
สำหรับงานเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งทำ ประกอบด้วย การดูแลเศรษฐกิจและสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากผลจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยภายนอก ประเทศเรื่องของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ หรือซับไพร์มของสหรัฐฯ ยังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่
ที่สำคัญรัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะมีนโยบายเรื่องการเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างไร เพราะขณะนี้ต่างชาติมองเข้ามาประเทศไทยเหมือนกับปิดกันไม่ต้องการให้เข้ามาลงทุน หากมีความชัดเจนและต่างชาติยอมรับได้กลับเข้ามาลงทุนก็จะช่วยเศรษฐกิจได้มาก
ดุสิต นนทะนาคร
รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย
สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งทำคือ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจจะไม่เดินหน้า และประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย
“รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนในประเทศ ต่างประเทศ และประชาชนให้เกิดขึ้น เพื่อเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในให้กลับคืนมา จะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมามาก และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ เพราะขณะนี้ ความเชื่อมั่นยังไม่เกิด นักลงทุนไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว”
ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ใช่ขายแค่ชื่อของคนที่จะมาเป็น รมว.คลัง หรือรองนายกรัฐมนตรีคุมเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องมองในภาพรวมทั้งทีมว่าเป็นอย่างไร มีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานให้บ้านเมืองมากแค่ไหน
เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศแล้ว จะต้องมีนโยบายในด้านการหารายได้ เข้าประเทศด้วย ไม่ใช่สานต่อนโยบายประชานิยมอย่างเดียว.
ทีมเศรษฐกิจ
สกู๊ปเศรษฐกิจ