อดีตกก.บห.พรรคไทยรักไทยชี้หากพปช.ไปยอมทำตามคมช.ต่อรองไม่ว่าตำแหน่งไหนก็ตามรัฐบาลชุดใหม่จะเกิดความไม่สง่างาม ระบุปชช.ไม่ชอบการทำรัฐประหารจึงเลือกพปช.มาเป็นทางออกของประเทศ
วันนี้(16 ม.ค.) เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมเรดิสัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ว่า จะเปิดสภาทันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)และวินิจฉัยส.ส.ให้ครบร้อยละ 95ภายใน 30 วันหรือไม่ แต่เชื่อว่าแนวโน้มวินิจฉัยคงไม่ทัน ซึ่งการเปิดสภาอาจมีแนวโน้ม 2 ทาง คืออย่างแรก เลื่อนการพิจารณาออกไป ทำให้การเปิดสภาล่าช้า อย่างที่สองคือให้กกต.รับรองไปก่อนแล้วค่อยแจกใบแดงทีหลัง
“ขณะนี้ต้องให้ความสำคัญมากๆคือทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินหน้าไป ควรจะเปิดสภาให้ได้ภายใน 30 วัน ไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นสุญญากาศ และความไม่แน่นอนทางการเมืองและจะทำให้ทุกฝ่ายขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศ ปัญหามีอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้เปิดสภาได้ ถ้ากกต.วินิจฉัยได้ทันก็สามารถเปิดสภาได้โดยอัตโนมัติแต่ถ้าไม่ทัน กกต. จะรับรองไปก่อน แต่ถ้าจะรับรองไปก่อนแล้วค่อยสอย ผมอยากจะแนะนำว่าไม่ควรรับรองเพียงแค่ ร้อยละ 95 ไม่ควรเหลือค้างไว้ร้อยละ 5 แต่ควรรับรองไปทั้งหมดร้อยละ 100 เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อการจัดตั้งรัฐบาล”นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลนั้นดูเหมือนว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ช่วงก่อนหน้านี้มีผู้นำจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเห็นอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ ( ปชป. )เป็นแกนนำมากกว่า แต่มาช่วงหลังได้ลดความพยายามลงไปแล้ว จะยังเหลือพรรคประชาธิปัตย์ที่มี เย้ยหยัน เยาะเย้ยบ้าง รวมทั้งแสดงความเห็นในทางที่ตัวเองยังมีความหวังอยู่ที่จะจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่ยอมรับการตัดสินของประชาชน ถ้าประชาธิปัตย์ยังเล่นเกมชักเย่ออยู่อย่างนี้จะมีผลทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ยาก แต่หากถ้าพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรถาพ ทางที่ดีพรรคประชาธิปัติย์ควรเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านและเป็นฝ่ายค้านที่ดีจะดีเหมาะสมกว่า
นอกจากนี้นาย จาตุรนต์ กล่าวถึงกรณีผู้นำ คมช.มีความเห็นต่อคุณสมบัติในตัวนายกฯคนใหม่นั้น นั้นความหมายก็คือไม่ให้ หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกฯ รวมทั้งมีข่าวลือว่ามีการให้บุคคลอื่นมาเป็นนายกฯ แทนหัวหน้าพรรค พปช. ซึ่งตนว่าไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุลคลที่จะเป็นนายก เพราะพรรคพลังประชาชนได้ทำสัญญาประชาคมกับประชาชนทั้งประเทศในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและต้องทำตามสัญญาประชาคมนั้น ตลอดทางในการหาเสียงก็บอกว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นนายกฯ เมื่อได้เสียงข้างมากกลับยอมเปลี่ยนให้เป็นอื่นจะเกิดความเสียหายต่อความเชื่อถือของประชาชน เป็นการผิดสัญญาซึ่งจะเสียหายต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและพลังประชาชนเอง เท่าที่ทราบพรรคพลังประชาชนคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติในเรื่องนี้
“อยากบอกพรรคพลังประชาชนว่าไม่ควรต่อรองใดๆกับ คมช.ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนายกฯหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งก็ตาม ถ้าหากไปยอมเจรจากับคมช.หรือผู้มีอำนาจทางทหารจะทำให้รัฐบาลนี้ ขาดความสง่างาม ในฐานะที่เป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถ้าจะปรองดองกับคมช.ในเรื่องที่จะไม่ล้างแค้นคิดบัญชี ไม่ก้าวก่ายการทำงานของกองทัพโดยไม่มีเหตุผล เหล่านี้เป็นสิ่งควรทำ แต่ไม่ควรยินยอมให้มายุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งนายกฯหรือรัฐมนตรีไม่ว่ากระทรวงใดทั้งสิ้น มิฉะนั้นคนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนจะผิดหวัง เพราะเขาสู้กับ คมช. เขาจึงเลือกพรรคพลังประชาชน เพราะไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจรัฐประหาร และไม่เห็นด้วยกับ คมช. วันนี้จึงยอมให้ คมช. มายุ่งเกี่ยวกับการตั้งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีไม่ได้ทั้งสิ้น”นายจาตุรนต์ ระบุ ซ้ำ
พีทีวี นิวส์
16 มกราคม 2551 เวลา 14:06 น.