นโยบายประชานิยม "สูตรสำเร็จ7-17-7" ของรัฐบาลใหม่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนๆ ให้วิจารณ์กันน้ำลายแตกฟอง
บางคนก็บอกว่านี่คือยาวิเศษที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
บางคนก็บอกว่านี่คือโฆษณาชวนเชื่อที่ทำไม่ได้จริง
บางคนก็บอกว่านี่คือยาพิษเคลือบน้ำตาลที่จะเป็นผลร้ายในระยะยาว
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่านโยบายของทุกพรรคการเมืองก็มุ่งที่จะสร้างความอยู่ดี มีสุขให้พี่น้องประชาชน สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติของเรา
ถ้านโยบายประชานิยมไม่ดี ประชาชน ก็ต้องไม่นิยม
แม้แต่พรรคการเมืองที่เคยโจมตีนโยบายประชานิยม ก็ยังต้องหันไปใช้ ประชานิยมเป็นจุดขายแข่งกัน
แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องใช้สะดือตรองคือ นโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ต้องใช้เงินลงทุน
ยิ่งมีหลายนโยบายก็ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ถ้าเศรษฐกิจดี รัฐเก็บภาษีได้เป็นกอบเป็นกำก็สบายแฮ
แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เก็บภาษีต่ำกว่าเป้า รัฐบาลจะเอาเงินก้อนโตจากที่ไหนมา??
สรุปว่านโยบายประชานิยมเดินหน้าไม่ได้ ถ้าไม่มีเงินลงทุน
แต่...อย่ามองข้ามคนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลตัวจริง
ผู้เป็นเจ้าของไอเดีย “เปลี่ยนกระดาษเปล่าๆให้กลายเป็นเงิน”
เขาอาจจะคิดพลิกแพลงหาแหล่งเงินก้อนใหญ่เพื่อใช้ลงทุนโครงการประชานิยม โดยไม่ ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าเขาต้องทุ่มเต็มที่เพื่อให้รัฐบาลนี้สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม
เพราะเกมนี้เป็นเกมชี้ชะตาที่มีอนาคตของตัวเองเป็นเดิมพัน
ถ้าทำไม่สำเร็จ...ก็จบเห่ละโยม
กลับมาที่นโยบายประชานิยมสูตรสำเร็จ 7 ยุทธศาสตร์ 17 นโยบาย 7 พันธกิจเร่งด่วนของ “รัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช” อีกที
โครงการที่ฮือฮาที่สุด และได้รับกระแสตอบรับมากที่สุดก็คือ นโยบายก่อสร้าง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 9 สาย 9 แฉก ครอบคลุมพื้นที่ กทม. และเชื่อมต่อถึงปริมณฑล โดยใช้เงินลงทุนห้าแสนล้านบาท ภายใน 3 ปี
ตอนแรก “แม่ลูกจันทร์” เข้าใจว่าโครงการเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้า 9 เส้นทาง เป็นโครงการที่นายกฯสมัครเพิ่งเพิ่มขึ้นมาหลังจากได้เป็นรัฐบาล
แต่เมื่อกลับไปอ่านใบปลิวหาเสียงเลือก ตั้งของพรรคพลังประชาชนก็พบว่าโครงการ สร้างรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง และสร้างทางด่วนเป็นใยแมงมุมบรรจุอยู่ในนโยบายพรรคชัดเจน
แสดงว่าเขาเตรียมศึกษาลู่ทางล่วงหน้ามาอย่างดี
โดยใช้โครงการนี้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
ส่วนแนวความคิด “นายกฯสมัคร” ที่เทกโอเวอร์รถไฟฟ้าบีทีเอส ของ เสี่ยคีรี กาญจนพาสน์ ให้มาเป็นของรัฐบาล เพื่อที่จะควบคุมโครงข่ายรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนครบวงจร
“แม่ลูกจันทร์” ไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับรัฐบาลต้องไปอุ้มหนี้ก้อนโตของเอกชนเอาไว้เอง
สู้เอาเงินไปลงทุนสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ยังคุ้มกว่าบานตะเกียง
สำหรับนโยบายพัฒนาการขนส่งระบบราง ตามโครงการสร้างรางรถไฟรางคู่จากเหนือ ไปใต้ระยะทาง 800 กม. “แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยเต็มสตีม
โครงการที่จะเปลี่ยนขนาดรางรถไฟจากปัจจุบันกว้าง 1 เมตร เป็นรางมาตรฐานสากล กว้าง 1.4 เมตร ก็เป็นนโยบายที่ดี
แต่ปัญหาคือ เมื่อเปลี่ยนขนาดรางรถไฟแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนหัวจักรรถไฟทุกคัน!
เปลี่ยนตู้รถโดยสารทุกตู้
เปลี่ยนโบกี้รถสินค้าทุกขบวน
พูดชัดๆคือต้องโละของเก่าทิ้งหมด แล้วซื้อใหม่ทั้งยวง
โอ้อุแม่เจ้า...จะเอาเงินที่ไหนมา??
“แม่ลูกจันทร์”
คอลัมน์ สำนักข่าวหัวเขียว