สำนักข่าวไทย 7 ก.พ. - นักวิชาการระบุทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องรู้-เข้าใจ ตอบคำถามเศรษฐกิจชัดเจน ไม่คลุมเครือ และบริหารอย่างมีเอกภาพ ชี้สานต่อนโยบายประชานิยมไม่เสียหาย แต่ต้องเกี่ยวกับประชาชนจริง ส่งผลเศรษฐกิจงอกเงย ไม่ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ใน “ข่าวเช้า โมเดิร์นไนน์” ถึงรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจโดยรวมมีภูมิหลังไม่เกี่ยวพันโดยตรง ขณะที่ปีนี้มีความท้าทายของผู้ที่อาสาดูแลเศรษฐกิจ ดังนั้น คงต้องติวเข้มให้เกิดองค์ความรู้ เพราะเป็นผู้ที่จะต้องตอบคำถามสื่อมวลชน ประชาชน และนักธุรกิจ ค่อนข้างบ่อย ต้องตอบให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ รวมทั้งการบริหารงานของทีมเศรษฐกิจต้องมีเอกภาพ โดยเฉพาะมาจากหลายพรรค ผู้นำรัฐบาลต้องลงมาดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย
รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยแหล่งเงินทุนของธนาคารต่าง ๆ มีเงินล้น แต่ขณะนี้การนำเงินมาใช้ต้องคำนึงมากขึ้น เนื่องจากธนาคารอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนเงิน ซึ่งรัฐบาลมีหลายภาระหน้าที่ และโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ต้องใช้เงินมาก ดังนั้น ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรที่มีความเร่งด่วนก่อน ในขณะที่ทรัพยากรเงินมีความจำกัด ไม่เหมือนเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา การจะก่อหนี้สาธารณะขึ้นอีกจะถูกจับตาจากภาคประชาชนหรือประชาคมโลก
“เมื่อก่อหนี้ขึ้นมาแล้วจะถูกจับตาว่าก่อให้เกิดผลเศรษฐกิจงอกเงยหรือไม่ ถ้าก่อหนี้แล้วสร้างผลทางเศรษฐกิจ เวลาต่อไปก็เป็นที่ยอมรับได้ การจัดลำดับการก่อหนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง โครงการที่เป็นเรื่องประชานิยมที่เคยทำมาแล้วได้ผลแค่ระดับหนึ่ง การจะไปมีนโยบายประชานิยม หรือนิยมประชา ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และเป็นหน้าที่ของนักการเมือง แต่ต้องแยกแยะว่าประชานิยมแบบไหนที่เกี่ยวกับประชาชนจริง” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
รศ.ดร.สมภพ กล่าวด้วยว่า หลายปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รออยู่ไม่มีเวลาให้รัฐมนตรีศึกษาดูงานมากนัก การจัดการแยกแยะจัดลำดับก่อนจึงจำเป็นมาก ตนมีปัญหาเร่งด่วน 4 ข้อ ที่เห็นว่าต้องเร่งแก้ไขคือ 1.การส่งออกชะลอตัว 2.ค่าเงินบาท 3.ปัญหาเศรษฐกิจแบบเฟ้อ ๆ ฟุบ ๆ มีโอกาสสูงที่เงินเฟ้อจะขยายตัว และ 4.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ๆ. -สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-02-07 07:41:24