นายกุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุแนวคิดเตรียมจัดระเบียบ พร้อมทั้งวางยุทศาสตร์สื่อภาครัฐ รวมทั้งมีแนวคิดจะฟื้นสถานีโทรทัศน์ไอทีวีว่า ในส่วนของพรรค ได้ให้เอกสิทธิ์แก่รัฐมนตรีในการตัดสินใจออกนโยบาย และแนวคิดการบริหารงานกระทรวงต่างๆ ซึ่งกรณีที่นายจักรภพ เสนอแนวคิดในการยกเครื่องสื่อ และฟื้นไอทีวี ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม ในฐานะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านสื่อโดยตรง ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมจะสนับสนุน แต่ทั้งนี้คงต้องรอดูด้วยว่า รายละเอียดของการดำเนินการ ตามแนวคิดที่นายจักรภพจะเสนอเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกรณีของทีวีสาธารณะสถานีทีพีบีเอส ถือเป็นประเด็นเรื่องละเอียดอ่อนทางสังคม ที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และต้องมีเหตุผลในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ อีกขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังได้ออกมาเป็นกฎหมายโดย สนช. ดังนั้นหากในอนาคตหากรัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายในประเด็นทีวีสาธารณะ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่ชอบธรรม ก็ต้องผ่านกระบวนในสภา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นเถียงกัน และหากสุดท้ายเสียงข้างมากในสภา เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม รัฐบาลก็มีสิทธิ์แก้ไข
โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า แม้ว่าการออกนโยบายเพื่อดำเนินการในส่วนบริหารงานต่างๆ เป็นอำนาจโดยตรงของรัฐมนตรี แต่หากเป็นประเด็นทางการเมือง ที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ก็คงต้องมาถกกันในพรรค ในรัฐบาล และในสภา หากมีมติจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในอนาคต ทั้งนี้เชื่อว่านายจักรภพมีเจตนาดี ต่อกรณีการจัดระเบียบสื่อ และกรณีการฟื้นไอทีวี และมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่แทรกแซง หรือไปหาประโยชน์จากการเข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับสื่ออย่างแน่นอน
ด้านนายจอม เพชรประดับ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารของสถานีทีไอทีวี และผู้ดำเนินรายการ ตัวจริงชัดเจน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลที่จะดำเนินการ แต่ต้องถามกลับไปยังรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวของนายจักรภพ มีรายละเอียดอย่างไร จะฟื้นไอทีวี หรือช่องทีวีเสรี โดยเปิดประมูลทีวีช่องใหม่ โดยให้เอกชนเช่าดำเนินธุรกิจ และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของสื่อ โดยใช้รูปแบบเดิมเหมือนไอทีวีในยุคแรก แต่เห็นว่าในส่วนของทีวีสาธารณะ (ทีพีบีเอส) ที่มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ และกำลังจะเกิดขึ้นนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทีวีสาธารณะ ที่จะต้องมีความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง โดยรัฐบาลควรทำหน้าที่เพียงให้การสนับสนุน และสอดส่องในส่วนของบุคคลที่จะเข้ามาบริหารสถานีทีพีบีเอส ให้มีความชอบธรรม มากกว่าที่จะเข้ามารื้อแก้ไขกฎหมาย และฟื้นสถานีไอทีวี
“เราไม่เห็นด้วยหากจะมีการฟื้นไอทีวี โดยเข้าไปแก้กฎหมาย หรือกระทำการอะไรที่เป็นไปในเชิงหวัง จะใช้ไอทีวีมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะขณะเดียวกันการฟื้นไอทีวี ก็เท่ากับเป็นการไปอุ้มผู้ถือหุ้นเอกชน ที่เคยเป็นเจ้าของไอทีวีเดิม มากกว่าเข้ามาแก้ปัญหาในวงการสื่อ " นายจอมระบุ
เขาบอกว่า เรื่องความขัดแย้งของสื่อ การเลือกข้างที่รัฐบาลพยายามกล่าวอ้างตอนนี้ เรามองว่าส่วนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่สื่อจะแก้ปัญหากันเอง แต่ถ้าอนาคตรัฐบาลต้องการสร้างทีวีเสรีช่องใหม่ เปิดประมูลช่องให้เอกชนดำเนินการ ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้คนทำสื่อ เข้ามาทำงานในทีวีที่มีรูปแบบคล้ายไอทีวีเดิม เป็นสื่อเสรีไม่เลือกข้างจริงๆ และที่สำคัญไม่ได้ไปแตะต้องทีวีสาธารณะ คือปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย ตรงนี้เราเห็นด้วย เพราะไม่ได้ยึดติดชื่อของไอทีวี
" สุดท้ายหากรัฐบาลจะเอาชื่อของเราไปอ้าง แล้วสรุปว่าเราเป็นเหยื่อของการเลือกข้างของสื่อ แล้วเข้ามาใช้ความเป็นไอทีวี เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีก พวกเราก็จะไม่เดินเข้าไปร่วมด้วย เพราะที่ผ่านเราเจ็บปวดมามาก ไอทีวีถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้มีอำนาจ ดังนั้นหากรัฐบาลเข้ามา แล้วหวังผลทางการเมืองจากนโยบายนี้อีก หรือทำให้ประชาชนผู้ชมยังเชื่อมโยงติดกับภาพของกพรรคพลังประชาชน ภาพของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งภาพการเข้ามาเช็คบิล ล้างแค้น ตรงนี้หาล้างภาพไม่ออก ผลเสียจะตกกับทั้งประชาชน พนักงาน คนข่าวที่อาจได้รับความเชื่อมั่นจากสังคมน้อยลง “อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารของสถานีทีไอทีวีกล่าว
NGOจวกยับรัฐย้อนยุคผูกขาดสื่อ จี้รีบจัดสรรคลื่นความถี่
นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงนโยบายจัดระเบียบสื่อของรัฐบาล ว่า คำพูดของนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ว่าจะจัดระเบียบให้สื่อเสนอข่าวเป็นกลางนั้น ถือว่าอันตรายมาก เพราะหมายถึงความต้องการที่จะให้สื่อเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหมดหลักประกันเสรีภาพของสื่อ เพราะจะถูกแทรกแซงโดยรัฐ ทำให้ประชาชนหมดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวอย่างรอบด้าน
" กรณีที่นายกรัฐมนตรีมีรายการวิทยุ หรือโทรทัศน์เป็นของตัวเอง เพื่อสื่อสารกับประชาชนด้านเดียวนั้น ไม่มีประเทศประชาธิปไตยเขาทำกัน ส่วนใหญ่ที่มีคือ หากนายกฯได้พูด ถัดมาวันรุ่งขึ้นผู้นำฝ่ายค้านต้องมีโอกาสได้พูดด้วยเช่นกัน เพื่อความเสมอภาค " นายจอนระบุและว่า สิ่งที่รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดออกมานั้น ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังย้อนกลับไปสู่ยุคที่สื่อไม่มีเสรีภาพ รัฐบาลจะจัดการทุกอย่าง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์และวิทยุ หากอยู่ในการควบคุมของรัฐถือเป็นความเลวร้ายมาก ความคิดเช่นนี้ไม่ควรออกมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำกับสื่อคือ ให้อิสระอย่างเต็มที่ และตั้งคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับภาคส่วนต่างๆของสังคมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มากกว่าจะส่งสัญญาณควบคุมเช่นนี้
นายจอน กล่าวว่า สำหรับกรณีของโทรทัศน์สาธารณะนั้น หากยังดำเนินไปตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.2550 ก็มีโอกาสที่เป็นอิสระ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ รัฐบาลอาจจะแก้ไขกฎหมายเปิดโอกาสให้ตัวเองเข้ามาจัดการเอง ทั้งนี้เห็นว่าการที่รัฐมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นกระบอกเสียงก็น่าจะเพียงพอแล้ว โดยอาจจะมีวิทยุอีก 2-3 คลื่น ประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล นอกนั้นควรกระจายไปสู่สาธารณะ เอกชน ชุมชน หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อการกุศล
สนช.สายสื่อ เตือนรัฐบาลทวงไอทีวี ขัดกม.
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฎิบัติหน้าที่ส.ว. กล่าวถึงนโยบายการจัดระเบียบสื่อของรัฐบาล ว่า ไม่ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ที่รัฐบาลนี้จะเริ่มต้นด้วยการจัดการสื่อ เป็นไปตามที่เคยสันนิษฐานไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการทวงคืนไอทีวี ให้กลับไปเป็นของเจ้าของเดิม เป็นความตั้งใจของรัฐบาลนี้ แต่ขอเตือนว่าการจะดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้สถานีไอทีวี ไม่ใช่คู่สัมปทานของรัฐอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ไม่จ่ายค่าสัมปทาน และกฎหมายใหม่ที่ออกมาบังคับใช้ ก็ไม่ให้อำนาจการเมือง หรืออำนาจทุนเข้ามา
ครอบงำสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ คือรีบดำเนินการตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรี สรรหาคณะกรรมการถาวรของโทรทัศน์สาธารณะจำนวน 9 คน ขึ้นมาเพื่อดำเนินการโทรทัศน์สาธารณะ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
“นายสมัคร เคยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหากับสื่อ ดังนั้นลูกทีมทุกคนก็ควรจะมีท่าทีเดียวกันไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า มีพฤติกรรมปากว่าตาขยิบ ไม่มีความน่าเชื่อถือ”นายสมชายระบุ