ทุกกติกาต้องมีการบังคับใช้และการบังคับใช้ต้องมีการทดลองของจริง เช่น...กฏเหล็กที่จะถอดถอนรัฐมนตรี กฏเหล็กข้อนี้มีเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่เคยเช็กบิลรัฐมนตรีตกเก้าอี้สำเร็จแม้แต่ รายเดียว ถ้ายังไม่ลองก็ยังไม่รู้ว่าถอดถอนได้ จริงๆ หรือเขียนไว้ดูเล่นแก้เซ็ง?? ล่าสุด ก็ได้เหยื่อรายแรกเป็นแขกรับเชิญ ทดลองกติกา เขาคือ “ไชยา สะสมทรัพย์” รมว. สาธารณสุข คนดัง!! โดยมีกลุ่มเอ็นจีโอรวบรวมรายชื่อประชาชน สองหมื่นคนยื่นถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ตามมาตรา 164 ของรัฐธรรมนูญ เหตุผลที่ยื่นถอดถอน เพราะรัฐมนตรีไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นผู้เสนอทบทวนการประกาศซีแอลยามะเร็ง ถือเป็นความขัดแย้งต่อนโยบายรัฐ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปสุขภาพประชาชน ฯลฯ จึงขอยื่นถอดถอน รมว.สาธารณสุข ออกจากตำแหน่งการเมือง!! แต่การจะถอดถอนรัฐมนตรี มันไม่ง่ายเหมือนถอนขนจั๊กกระแร้นะโยม การยื่นบัญชีหางว่าวประชาชนสองหมื่นคน เป็นแค่บันไดขั้นต้นของกระบวนการเช็กบิล เพราะผู้มีอำนาจถอดถอนนักการเมือง คือวุฒิสภา ขั้นต่อไปประธานวุฒิสภาคนใหม่ “ประสพสุข บุญเดช” จะต้องนำรายชื่อประชาชนสองหมื่นคนไปตรวจสอบคุณสมบัติอีกที คือตรวจสอบว่ามีตัวจริงเสียงจริงตรงตามบัตรประชาชน? เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง? และได้ไปใช้สิทธิ เลือกตั้งตามกติกา? สมมุติว่าตรวจสอบแล้วทั้งสองหมื่นรายชื่อถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ประธานวุฒิสภาก็จะเป็นบุรุษไปรษณีย์ส่งคำร้องขอถอดถอนรัฐมนตรีไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา ถึงขั้นนี้ก็ถือว่าลุ้นเสียวมาแล้วครึ่งทาง ป.ป.ช.ต้องรีบสอบสวนข้อกล่าวหาให้ได้ ข้อยุติโดยเร็ว ถ้าข้อกล่าวหามีมูล ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติ เกินกึ่งหนึ่งให้เช็กบิล รัฐมนตรีสาธารณสุข (ไชยา สะสมทรัพย์) จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ตรงนี้แหละ...ถึงจะได้ลุ้นเสียวกันน้ำลายเหนียวคอ เมื่อ ป.ป.ช.โยนลูกกลับมาที่วุฒิสภา ประธานวุฒิสภาจะต้องเรียกประชุมนัดพิเศษ เพื่อลงคะแนนลับว่าควรให้ถอดถอนรัฐมนตรีคนนี้ออกจากตำแหน่ง?? หรือจะต่อวีซ่าให้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป?? รัฐธรรมนูญกำหนดให้การถอดถอนจะต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา (ลากตั้งบวกเลือกตั้ง) 150 คน หรือต้องได้เสียง ส.ว. 91 เสียงขึ้นไป จึงจะเช็กบิลรัฐมนตรีตกเก้าอี้สมใจนึกบางลำพู!! ผู้ที่ถูกถอดถอนจากรัฐมนตรีจะต้องถูกแช่แข็งห้ามเล่นการเมือง 5 ปี เป็นของฝากของแถมอีกหนึ่งกระทง เรียกว่าโดน 2 เด้งซ้อน ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา ที่ “แม่ลูกจันทร์” กระชุ่นมาทั้งหมด คือกติกาถอดถอนรัฐมนตรีที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ซึ่งลอกมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 อีกที) สรุปว่า การทดลองกติกาด้วยการยื่นถอดถอน รมว.สาธารณสุข โดยประชาชนสองหมื่นคน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องผ่านหลายขั้นตอน และต้องใช้เวลาดำเนินการนานพอสมควร โปรดติดตามผลการเช็กบิลรัฐมนตรีคนแรก ฉลองเทศกาลเช็งเม้งจะลงเอยอย่างไร?? “แม่ลูกจันทร์” ขอย้ำเล็กๆว่า กติกานี้ไม่ใช่มีไว้ถอดถอนรัฐมนตรีอย่างเดียว ยังสามารถถอดถอน ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุด รวมทั้ง กกต. ถ้าเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งในการยุติธรรม บกพร่องทางจริยธรรม และจงใจใช้อำนาจขัดหลักรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ประชาชนสองหมื่นชื่อก็ยื่นถอดถอน ได้ตามกติกา แต่จะถอนสำเร็จหรือไม่...ค่อยว่ากัน อีกที. “แม่ลูกจันทร์”