วันนี้ (31 มี.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการศึกษาการ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ว่าที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไปยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพียงแต่ยกเลิกในประเด็นข้อความที่ว่า 'ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ' เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสต่อสู้ในชั้นศาล เพราะเห็นว่ามาตราดังกล่าว ไม่เป็นไปตามระบบนิติรัฐ สร้างความไม่เสมอภาค และเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ 'ผมเรียนว่า เบื้องหลังมาตรา 309 เป็นเทคนิคของคนเขียนกฎหมาย เอาประสบการณ์ จากสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ศาลฎีกายกฟ้องคำสั่งยึดทรัพย์ แล้วเอามาเขียนเป็นมาตรา 309 ซึ่งเรามองว่าการเขียนเช่นนี้ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เขาเรียกว่ามันปิดปาก เพราะหากไม่แก้ ศาลจะบอกว่าชอบด้วย รัฐธรรมนูญ นี่คือเหตุผลที่ต้องแก้ไข เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสู้คดีในชั้นศาลได้' นายชูศักดิ์ กล่าว นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติให้แก้ไขมาตรา 237 ในบางประเด็น คือ หลักการการยุบพรรค ที่มีการเขียนกฎหมายไว้ว่า ให้ถือว่าการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการ ให้ได้มาซึ่ง อำนาจการปกครองซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จะต้องตัดออกทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่บัญญัติ ิไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการเหมารวม ซึ่งไม่เป็นธรรม แต่ยังยืนยันหลักการยุบพรรคให้คงไว้ โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญเดิมใน 3 ประเด็น คือ กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย, กระทำการ เพื่อให้ได้ ้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตัดคำว่าให้ถือว่าพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำออกไป โดยให้ถือว่าเป็นเรื่องของบุคคล แต่หากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารที่มีส่วนร่วม หรือมีส่วนรู้เห็น และไม่ระงับยับยั้ง สามารถถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง มาตรา 190 คือ การทำสนธิสัญญาใดๆ กับต่างประเทศ หากมีผลในเรื่องสำคัญ ต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งกฎหมาย รัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องเปิดเผยหลักการและสาระบางประการของข้อตกลงเจรจา ส่วนนี้ที่ประชุมเห็นว่าจะทำให้รัฐ หรือประเทศทำข้อตกลงได้ลำบาก และอาจจะเสียเปรียบต่างประเทศ แต่ยังคงหลักการเดิมว่า หากการทำสัญญา ทำให้ประชาชนเสียหาย เสียเปรียบหรือได้รับความเดือดร้อน รัฐมีหน้าที่ดูเรื่องของการเปิดเผยสัญญา ไม่ให้กระทบ กับประชาชนได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 266 โดยให้ตัดข้อความบางประการ เพื่อให้ ส.ส.เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือสาธารณะ ก็ให้สามารถกระทำได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ราชการ นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ข้อสรุปในวันนี้จะเสนอให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยกร่างฯ ไปยกร่าง เพื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลจะนำไปเสนอในที่ประชุมของแต่ละพรรค โดยหากพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบด้วย จะนำมายกร่างฉบับสมบูรณ์ ก่อนที่ให้ ส.ส.เข้าชื่อเพื่อเสนอประธานรัฐสภาต่อไป ซึ่งคาดว่า จะยื่นร่างแก้ไข ได้ภายในสัปดาห์หน้า วันเดียวกัน ที่โรงแรมเดอะแกรนด์อยุธยา บางกอก ได้จัดเสวนา เวทีระดมความเห็นเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมี 30 องค์กรเข้าร่วม อาทิ สมาพันธ์ประชาธิปไตย กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นักวิชาการ นักการเมือง นิสิต นักศึกษา เข้าร่วม นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่แก้ไข ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งยาก เพราะจะมีอีกฝ่ายลุกขึ้นมาประท้วง และเกิดการต่อสู้ไม่มีวันจบ จึงเสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง โดยไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหว แต่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 237 วรรคสอง และมาตรา 68 วรรคสี่ เป็นหลักการที่ไม่เคยปรากฏหรือต่อยอด จากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ต่อยอดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 มาตรา 35 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจ กำจัด และสกัดกั้นไม่ให้คนบางกลุ่มมีอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 เกินกว่าที่จะเรียกว่า ตุลาการภิวัฒน์ แต่เป็นจตุรมาตประชาธิปไตย ส่วนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาแก้ไขเพิ่มเติมและบังคับใช้ให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้ หรือเดือน พ.ค.นี้ นพ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย เสนอให้ล่ารายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ และแก้ไขในบางประเด็น อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเตรียมเคลื่อนไหวด้วยการเปิดเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ โดยในเดือนเมษายนนี้ จะเปิดเวทีใหญ่ที่สวนลุมพินี เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าว และล่ารายชื่อไปด้วย พร้อมให้พรรคพลังประชาชนช่วยผลักดันในการแก้ไข ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหลังของการเสวนา ได้มีการโหวตลงมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก พร้อมตั้งกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้นายจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นประธานชั่วคราว และจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (1 เม.ย.) เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินการ ขณะที่ในวันที่ 4 เมษายน อาจมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ