ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผ่าทางตันการเมือง ที่เผด็จการอำมาตยาธิปไตย รวมหัวกันสร้างหลุมดำเอาไว้ ดูจะเป็นเรื่องที่ร้อนแรงและกำลังจะกลายเป็นประเด็นหลักของสังคมไทยไปแล้ว...!!! และก็พอคาดเดาได้ว่า กลุ่มก๊กไหนจะออกมาคัดค้านกันบ้าง ซึ่งก็ไม่พ้น พวกที่ได้ประโยชน์จากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญโจรฉบับนี้ แต่ก็เชื่อขนมกินได้เลยเช่นกันว่า กระแส "แดง คว่ำรัฐธรรมนูญโจร" หรือตามนัยก็คือ ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ จะเริ่มดังกึกก้องมากกว่าช่วงรณรงค์ "แดง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโจร" เมื่อคราวลงประชามติ ที่ผ่านมา.... เพราะเหตุใดหรือ .... ตอบง่ายๆ ก็คือ การใช้อำนาจรัฐโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถือทั้งกฎหมายและอาวุธ เพื่อสกัดกั้นให้ความรู้กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา หมดไป หรือไม่สามารถทำได้เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หรืออย่างน้อย สิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้กรอบของกฎหมาย ได้กลับมางอกเงยขึ้นอีกครั้ง.... อย่างไรก็ตาม ในหมู่ของผู้ต้องการให้บ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ อย่างน้อยก็ย้อนไปเพียงก่อนเกิด 19 กันยายน 2549 ต่างก็ยังถกเถียงกันอยู่ในประเด็นของการแก้ไขกฎหมายโจรฉบับนี้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรใช้วิธีการแก้ไข ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรยกเลิกไปเลย แล้วนำรัฐธรรมนูญของประชาชน 2540 กลับมาใช้....??? จะว่าไปแล้ว ผมคิดว่า ทุกคนทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ประชาธิปไตยของสังคมไทย สนองตอบต่ออำนาจของประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบ ต่างปรารถนาเช่นเดียวกัน คือ ไม่ประสงค์จะใช้รัฐธรรมนูญโจรด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงผมด้วย.... แต่ในกระบวนการยกเลิกไปเลยนั้น ผมเองก็ยังไม่พบทางออกด้านกฎหมายสามารถกระทำได้หรือไม่ เพียงใด เพราะไม่ใช่นักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลเองก็คิดเช่นนี้ และดูจะเป็นการเพิ่มจุดโจมตีจากฝ่ายเผด็จการที่จ้องล้มล้างอยู่แล้ว มากขึ้นด้วย หากผลีผลามยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ในทันที เพราะเพียงแค่ เปิดยุทธการแก้ไขบางมาตราเท่านั้น เหล่ามารชั่วก็ออกมาตีโพยตีพายกันแล้ว สำหรับข้อกฎหมายที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 มีหมวดที่ 15 กำหนดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในมาตราที่ 291 (1) ระบุว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นั่นหมายถึง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1. ต้องมาจาก คณะรัฐมนตรีเสนอ 2. จาก ส.ส. 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนฯที่ปัจจุบันมีอยู่คือ 96 คน จาก 480 คน หรือ 3. จากสมาชิก ส.ส.และ ส.ว. 1 ใน 5 ของทั้ง 2 สภา เช่นกัน คือ 105 คน จาก ส.ส. 480 คน บวกกับ ส.ว. 150 คน คือ 630 คน เมื่อรวมทั้ง 2 สภา ดังนั้น การใช้เสียงของ ส.ส.เฉพาะพรรคพลังประชาชนที่มีอยู่ 233 เสียง จึงไม่มีปัญหา แต่ไหนขั้นให้ผ่านความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ กำหนดไว้ใน มาตรา 291 (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) คือใน (2) ให้พิจารณาเป็น 3 วาระ ขณะที่ (3) กำหนดให้การออกเสียงในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา นั่นคือ ต้องใช้เสียงทั้งหมดครึ่งหนึ่งของ 630 คือ 315 เสียง ขณะที่เฉพาะ ส.ส.ซีกพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค มีเสียงอยู่ในมือ 316 เสียง ซึ่งตามตรรกะแล้วไม่น่ามีปัญหา ส่วนในวาระที่ 2 คือ ใน (4) ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ยังกำหนดต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย และการออกเสียงในวาระที่ 2 ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ คือ เกินครึ่งที่ตัวเลข 315 ตามตรรกะ ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ผมยังสงสัยคำว่า "ต้อง"จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย จะหมายความว่า ต้องมีประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อเสนอแก้ไขไปพร้อมกันด้วยหรือไม่....??? ส่วน (5)ให้รอไว้ 15 วัน แล้วค่อยให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป ขณะที่ (6) กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนในขั้นสุดท้ายนี้ ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภารวมกัน และท้ายสุด (7) เมื่อเห็นชอบจาก 2 สภาแล้ว ให้นำร่างแก้ไขนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ต่อไป ตามบทบัญญัติในมาตรา 150 และ 151 ที่นำบทบัญญัติในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแจงแจงกัน ก็เพื่อหวังให้พวกเราในซีกประชาธิปไตยได้มองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งในช่องทางต่างๆ ทั้งเพื่อปิดช่องโหว่ และเตรียมการยื่นเสนอให้ถูกต้องต่อไป แต่ผมยังไม่เห็นช่องทางของกฎหมายที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ เพียงได้ยินมาว่า สามารถทำได้ โดยให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนดอะไรประเภทนั้น ซึ่งก็จะพยายามสอบถามผู้รู้ข้อกฎหมาย แล้วนำมาแจกแจงแถลงไขให้ทราบกันต่อไป แต่เมื่อนำบทบัญญัติที่ร่ายยาวมาตั้งแต่ต้นให้เห็นแล้ว ก็ยังคงเห็น "หลุมดำ" ที่เผด็จการวางไว้และกำลังกระทำอยู่ด้วย 1. คือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลยังมีใบเหลือง -ใบแดง ให้ต้องฝ่าฟันอีก 2-3 คน หากจำไม่ผิด ซึ่งอาจไม่ครบ 316 เสียง ของซีกพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด แต่ก็น่าจะมีในส่วนของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มหนึ่งเทสนับสนุนเข้ามาได้ ขณะที่ ปัญหาน่าห่วงและต้องดำเนินการอย่างแน่นอน คือ ในส่วนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อนั่นเอง ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญโจรฉบับนี้ของ ส.ส. ด้วย ก็อยากจะเรียกร้องให้คนไทยหัวใจประชาธิปไตยทั่วทั้งประเทศ ผนึกกำลังให้มากกว่า 50,000 คน เป็นกองทัพประชาชน เสริมทัพ ส.ส. เปิดยุทธการ "รื้อ รัฐธรรมนูญ โจร" เป็นวาระแห่งชาติภาคประชาชนเพื่อไปสู่ "การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ไม่เอาอำนาจนอกระบบ"