“สมัคร” ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในหลวงโปรดเกล้าฯให้ พ.ต.อ.เสรีพิศุทธ์”พ้นตำแหน่งแล้ว ขณะที่ ผบ.ชน.รับช่วงตั้งคณะทำงานสอบสวนดำเนินคดีอาญา ม.112 ทันที ทั้งนี้ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถูกกล่าวหาหมิ่นเบื้องสูงแล้ว พร้อมเซ็นคำสั่ง บช.น.ที่ 191/2551 แต่งตั้งให้ พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น.เป็นหัวหน้า และมีพนักงานสืบสวนสอบสวนร่วมทำคดีด้วย 18 นาย แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสอบสวน เพียงจะต้องสอบผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เร็วที่สุด โดย พล.ต.ท.อัศวิน กล่าวว่า ไม่หนักใจอะไรที่จะต้องทำคดีนี้ เพราะทำไปตามข้อเท็จจริง ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ ซึ่งอะไรเป็นสิ่งถูกต้องต้องว่าไปตามนั้น ไม่มีการบิดพลิ้ว ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ซึ่งมีหลายอย่างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งรวมกันมา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าคำสั่งข้างต้น เป็นผลจากหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ที่ รล 0001.1/9773 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นตำแหน่ง เรียนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยอ้างถึง หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลับมากที่ นร.0508/2126 วันที่ 9 เมษายน 2551โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่แจ้งรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้นำความกราบบังคับทูลพระกรุณา เรื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อน ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2551 เนื่องจากถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และถูกตั้งกรรมการสอบสวน ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 11ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ความแจ้งอยู่แล้วนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าราชการตำรวจดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตามที่เสนอไป ลงชื่อ โดย นายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ นอกจากนี้ นายสมัคร สนุทรเวช นายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้วด้วย พร้อมออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 23 พฤษภาคม เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง โดยสาระสำคัญระบุว่า ด้วยสำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 73/2551 ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2551 ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2551 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบนำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง และได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2551 ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2551 สำหรับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ถูกนายสมัครมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง โดยให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นประธานสอบสวน กรณีถูกกล่าวหากรณีเช่ารถบรรทุกและรถตู้โดยสาร ซึ่งใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 9.8 พันล้านบาท ส่อไปในทางมิชอบ 2.กรณีถูกกล่าวหาใช้ถ้อยคำมิบังควร "ควายหรือเปล่า" ในการขอให้งดแข่งขันกีฬาภายใน ตร.และกรณีออกคำสั่งแต่งตั้งนายตำรวจระดับ พ.ต.อ.ตำแหน่ง ผกก.ฝ่ายปฏิบัติการที่ 1-10 ในสังกัดกองบัญชาการการตำรวจสอบสวนกลาง โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และล่าสุดกรณีถูกกล่าวหามีการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกอันไม่เหมาะสมและมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หลายเรื่อง นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังให้สำนักนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสอบสวนดำเนินการกล่าวหากรณีมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่ามีพฤติการณ์และการกระทำอันอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมายให้ บช.น.กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ในขณะนี้ โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"