ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : ละครชีวิต
โดย ลวดหนาม
ผมเห็นด้วยกับ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุกรณีที่ทหารกลุ่มหนึ่งยังต้องการรักษาอำนาจตัวเองไว้ โดยไม่คำนึงถึงข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม
ผู้นำเหล่าทัพหลายท่านออกมาปรารภเสมอว่า “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง” แต่สิ่งที่ปรากฏเวลานี้คือทหารออกมาก้าวก่ายการเมือง
ขณะนี้ภาพลักษณ์ “ทหาร” ในสายตาของประชาชนถูกทำลายย่อยยับไปหมดแล้ว เหมือนกับที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กลัวนักกลัวหนา
เพราะอะไร ทำไมประชาชนจึงมองทหารไปใน “แง่ลบ” คำตอบก็เพราะว่าทหารเหล่านี้ กระทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะแทนที่จะเป็น “รั้วของชาติ” กลับมาวุ่นวายการบ้านการเมือง
วันก่อนผมนำบทวิเคราะห์ของ นายมรุต วันทนากร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยเอเชีย-แปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ มาลงเป็นรายงานพิเศษ ปรากฏว่าข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ประชาชนชอบอกชอบใจเป็นอย่างมาก
นายมรุต ตั้งคำถามว่า ...การเมืองไทยหลุดพ้นจากการเมืองที่ถูกกำหนดทิศทางการเมืองด้วยอิทธิพลของ “ทหาร” แล้วหรือไม่ประการใด?
นายมรุตตอบคำถามนี้ผ่านการมองในประเด็น “การศึกษากระบวนการทางการเมืองในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ”
สนามบินที่กล่าวกันว่ามีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุดในโลกนับตั้งแต่เริ่มมีแนวคิดในการก่อสร้าง พ.ศ.2503 และเปิดใช้จริงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา
ท่านผู้อ่านหลายคนสงสัยว่า ทำไมจึงต้องนำประเด็น การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ มาเปรียบเทียบ
หากท่านจำได้ตอนที่ปฏิวัติ 19 กันยายน จะพบว่ามีทหารอย่างน้อย 2 นาย เข้ามาวุ่นวาย สร้างราคา ออกข่าวว่า กำลังจัดการปัญหาทุจริตคอร์รั่ปชั่นในสนามบินแห่งนี้
หากท่านได้อ่านบทวิเคราะห์ของนายมรุต ฉบับเต็มๆ แล้วท่านคงพอที่จะต่อจิ๊กซอว์ได้ถูกว่า เพราะเหตุใดทหารจึงต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แรกเริ่มเดิมที แนวคิดในการจะก่อสร้างสนามบิน เริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทหารที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็ต้องมีอันหยุดชะงักไปเมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่กรรม และรัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2506 ให้ชะลอโครงการดังกล่าวนี้ไว้ก่อน
ทั้งนี้ก็เพราะหลายหน่วยงานท้วงติงเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในการลงทุนก่อสร้าง ซึ่งอาจจะมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอยู่เบื้องหลัง
ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่จะได้จากการเวนคืนที่ดิน และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากบริษัทเอกชนผู้ก่อสร้าง
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ถือกำเนิดขึ้นบนผลประโยชน์ของทหารในยุคอำนาจนิยมที่มีระบบราชการเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองนโยบายดังกล่าว
ตั้งแต่วันนั้น กระทั่ง ปี 2544 บทบาทของทหารต่อกระบวนการทางการเมืองในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิดูจะลดน้อยลงไปอย่างถนัดตา
เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้าสู่อำนาจการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 รัฐบาลเลือกตั้งโดยพรรคไทยรักไทยกลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแทนกองทัพ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย เดินหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิไปอย่างรวดเร็ว
ยังไม่ทันที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณจะได้เป็นผู้เปิดใช้สนามบินดังกล่าว กองทัพก็กลับเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองไทยอีกครั้ง
เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก่อนกำหนดการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการเพียง 9 วัน ถือเป็นการสิ้นสุดยุคที่ทหารถูกจำกัดบทบาทและอิทธิพลต่อการเมืองไทยมาเป็นระยะเวลา 6 ปี
ทั้งหมดนี้คือคำตอบว่า ทำไม ทหารจึงต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง!