ที่มา ประชาทรรศน์
ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ร่วมกันระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิก และการทำงานของ ฝ่ายนิติบัญญัติ ในรอบปี 2551 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เล็งเห็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่นี้มีความสำคัญ ต่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองของประเทศ จึงอาศัยเทศกาลปีใหม่นี้ ตั้งฉายาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตามผลงานที่ปรากฏออกมา ในมุมมองของสื่อมวลชน
สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ขอยืนยันว่า ในการตั้งฉายาทุกครั้งได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ และอารมณ์ขันโดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้อคติ ปราศจากการแทรกแซง หรือตกเป็นเครื่องมือของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะตระหนักดีว่า ผู้ที่ได้รับฉายา อาจมีทั้งที่ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ ทั้งนี้ฉายาที่ตั้งขึ้นได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้
1.เหตุการณ์เด่นแห่งปี ได้แก่ เหตุการณ์นองเลือด 7 ตุลาคม 2551
เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมรัฐสภาในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการรชุมนุม ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ขณะที่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา ต้องปืนกำแพงหนีตาย กันอย่างโกลาหล
นอกจากนี้ในรอบปี 2551 ยังมีเหตุการณ์ที่ต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติการเมืองไทย เมื่อเกิดกับความผันผวนอย่างหนักหน่วงทำให้นายกรัฐมนตรีต้องหลุดจากเก้าอี้ ด้วยคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ติดต่อกันถึง 2 คน ส่งผลให้ส.ส.ต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในปี เดียวกันถึง 3 คน เริ่มตั้งแต่ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ
2.วาทะแห่งปี คือ “ม๊อบมีเส้น”
เป็นวิวาทะอันดุเดือดว่าด้วยกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดทำเนียบรัฐบาล โดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านแทน นายกรัฐมนตรี ด้วยอารมณ์ว่า “ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น หากเป็นม็อบธรรมดาเรื่องจบไปนานแล้ว” ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมาคำว่า “ม็อบมีเส้น” กลายเป็นข้ออ้างที่ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนนำมาใช้ในการโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ
3.ฉายา “สภาผู้แทนราษฎร” คือ “ค่ายกลนอมินิ”
เป็นการสะท้อนภาพของสภาผู้แทนราษฎร ในยุคที่กลุ่มก๊วนการเมืองที่เคยมีอิทธิพลและครองอำนาจมาหลายปีถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จนต้องส่งคนใกล้ชิดและคนในครอบครัวมาเป็นทายาททางการเมือง และใช้ตัวแทนเหล่านี้เข้ามาต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ครอบครัวและพวกพ้อง รวมทั้งพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อคพันธนาการทางการเมืองของผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง เปรียบเสมือนค่ายกลของอดีตนักการเมืองที่เคยทรงอำนาจ ใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นสมรภูมิ แทนกลุ่มของตัวเองที่หมดสิทธิทางการเมือง
4.ฉายาวุฒิสภา คือ “2ก๊กพกมีดสั้น”
เป็นการฉายภาพให้เห็นถึงความไม่ลงตัวและความไม่เป็นเอกภาพของสภาสูง ที่มีที่มาแตกต่างกัน คือส่วนหนึ่งมาจากสรรหา และส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ถ่วงดุล ฝ่ายบริหารตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันมีการแบ่งขั้วและขัดขากันเองอย่างชัดเจนในหลายกรณีโดยเฉพาะความขัดแย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยทั้งฝ่ายส.ว.สรรหาและส.ว.เลือกตั้ง พยายามรื้อระบบที่มาการเข้าสู่อำนาจของอีกฝ่ายหนึ่ง และทำลายล้างซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง
5.ฉายาประธานวุฒิสภา คือ “ทั่นเปา...เป่าปี่”
เป็นฉายาฉันทามติที่มอบให้ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เนื่องจากภายใต้ความคาดหวังว่าอดีตผู้พิพากษาอาวุโสท่านนี้เข้าสู่สภาสูงแล้ว จะสามารถนำพาองค์กรลูกผสมแห่งนี้ให้ปฏิบัติภารกิจบรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งยังถูกคาดหมายจากสังคมว่าจะเป็นคนกลางในการคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่สุดท้ายทั่นเปาประสพสุข กลับสร้างความผิดหวัง เพราะนอกจากจะไม่สามารถเป็นเสาหลักได้แล้ว ยังมีท่าทีวางเฉยต่อวิกฤตการณ์ ประดุจดังอาการของคนนั่งเป่าปี่อย่างสบายอารมณ์
6.ฉายาประธานสภาฯ คือ “ประธานลูกอุ้ม”
เป็นฉายาของนาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา วัย 80 ปีที่เกือบจะหลุดจากวงโคจรของการเมืองไทย แต่กลับได้ดิบได้ดี เมื่อมีอภิชาตบุตร อย่างนายเนวิน ชิดชอบ แม้จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และได้ส่งผู้เป็นพ่อ เข้ามาเป็นทายาททางการเมือง เพื่อคุมกระบวนการทุกอย่างของฝ่ายนิติบัญญัติ
7.ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน คือ เทพประทาน
เป็นฉายาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเบื้องหลังของนายอภิสิทธิ์ นับตั้งแต่ก้าวย่างขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค พยายามผลักดันทุกวิถีทางทั้งเกมในสภาและการกดดันนอกสภาเพื่อให้นายอภิสิทธิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เด่นชัดที่สุดคือเมื่อนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ในระหว่างที่พรรคพลังประชาชนยังไม่เคลียร์ว่าจะส่งใครเป็นนายกฯแทนนายสมัคร และพรรคร่วมรัฐบาลบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมสภาวันเลือกนายกฯ ปรากฎว่านายสุเทพ ได้อาศัยความเก๋าเกมในสภา กลับลำพาส.ส.ฝ่ายค้านเดินเข้าห้องประชุมสภา เสนอนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ซึ่งแม้คราวนั้น เทพยังไม่ประทานโอกาสให้นายอภิสิทธิ์ แต่ในที่สุด เทพ ก็อาศัยความจัดเจนทางการเมืองและคอนเนคชั่นขั้นสุดยอด ดึงนายทุนนักธุรกิจและทหาร หนุนหลัง กดดันพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้เปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ระหว่างที่พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเสนอใครแทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในที่สุดฝันของนายอภิสิทธิ์ เป็นจริง ด้วยฝีมือชั้นเทพ ดังนั้นเส้นทางของอภิสิทธ์ จากผู้นำฝ่ายค้าน สู่ เก้าอี้นายก จึงเป็นเทพประทานแท้ ๆ
8.ดาวเด่น คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา
นับได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายเรืองไกร ที่อาศัยช่องทางของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร จนในที่สุดสามารถสร้างประวัติอีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย ด้วยการโค่นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นผลสำเร็จ จนได้รับการขนานนามว่า “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” จากกรณีรับจ็อบจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” จนเป็นที่ขยาดของนักการเมืองทั้งสภา
9.ดาวดับ คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช
ต้องยอมรับว่าหลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ชื่อชั้นของนายยงยุทธ ขึ้นมาผงาดเป็นแกนนำพรรคพลังประชาชน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นสายตรง ของนายใหญ่ ประกอบสามารถนำพรรคพลังประชาชนครองเสียงข้างมากในสภาหลังการยึดอำนาจของ คมช.จนได้รับการปูนบำเหน็จเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อควบคุมกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ แต่สุดท้ายต้องตกเก้าอี้กลางครัน จากคดีทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง เป็นเหตุให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
10.คนดีศรีสภา คือ นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา
ถือว่าเป็นส.ว.สรรหา ตัวแทนของผู้พิการทางทั้งประเทศ แม้จะมีความพิการทางสายตา แต่ก็ได้พยายามทำงานด้วยความมุ่งมั่น ผลักดันและเสนอกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เข้าร่วมประชุมสภาด้วยความสม่ำเสมอ ถือเป็นแบบอย่างที่นักการเมืองไทยยพึงปฏิบัติ ให้สมกับสถานะ การเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย