ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
โดยคณะที่เรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จากนั้น ก็มีการตั้งสมัครพรรคพวกตัวเองมากกว่าครึ่ง เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบ้าง และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบ้าง
มีการแต่งตั้งรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ซึ่งหัวหน้าคณะผู้ก่อการ การันตีว่าเป็นบุคคลที่ไหว้ได้อย่างสนิทใจ
แต่กลับเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวอย่างมากในการบริหารบ้านเมือง
การเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับคมช.ประกาศใช้ แม้ พรรคพลังประชาชนจะชนะเลือกตั้ง แต่ก็ถูกเตะตัดขาโดย กระบวนการที่สืบเนื่องจากการยึดอำนาจ
นายสมัคร สุนทรเวช ตกเก้าอี้ เพราะถูกชี้มูลความผิดกรณีรับจ้างทำกับข้าวออกทีวี
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลุดจากตำแหน่ง เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน
จากนั้น ก็มีอำนาจพิเศษทำคลอดรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยการดึงเสียงส.ส.จากพรรคพลังประชาชน บางส่วนให้มาจับขั้วกับประชาธิปัตย์
แม้จะสามารถบริหารประเทศได้ แต่ก็ต้องผจญกับการต่อต้าน เพราะยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ
นายกฯ และบรรดารัฐมนตรีลงพื้นที่ลำบาก เพราะถูกตีนตบตะโกนไล่ก็มี ถูกขว้างถุงปลาร้าใส่รถก็เคย
ไม่น่าเชื่อว่าความขัดแย้งจะลงรากลึกขนาดนี้
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประเมินค่า 3 ปีของการทำรัฐประหารไว้อย่างน่าสนใจว่า
ทำให้ระบบเศรษฐกิจพังพินาศ สังคมมีความแตก แยกสูง การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง และการเมืองอ่อนแอ
พร้อมกันนี้ ยังระบุวิกฤตที่เกิดจากรัฐประหาร 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก การบังคับใช้กฎหมายที่มีหลายมาตรฐาน การยึดสนามบิน ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงขั้นก่อการร้าย เวลาล่วงเลยมาจะครบ 300 วันแล้ว คดีความยังไม่ไปถึงไหน
ประการที่สอง ทุจริตคอร์รัปชั่น ล่าสุดก็คือการทุจริตชุมชนพอเพียง ทั้งโครงการหลักโครงการย่อย ที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินไปจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตเชิงอำนาจ เช่น เข้าไปแทรก แซงในการแต่งตั้งโยกย้าย เช่น การแต่งตั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และอีกบางกระทรวง
ประการสุดท้าย เป็นวิกฤตสะสมที่เกิดจากการทำรัฐประหาร โดยตรง
นั่นคือวิกฤตรัฐธรรมนูญ ที่คณะผู้ร่างเคยบอกว่าให้รับๆ ไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง
แต่พอจะแก้ถูกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกมาคัดค้านทันที
ราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้!!