WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, September 18, 2009

จอม เพชรประดับ : สมาคมวิชาชีพสื่อกับการแก้วิกฤตชาติ

ที่มา Thai E-News



แมลงวันตอมแมลงวัน-ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ คนชายคามติชน นายกสมาคมนักข่าวฯ(บน)และก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ คนเครือเนชั่น นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์(ล่าง)

โดย จอม เพชรประดับ
17 กันยายน 2552

เมื่อผมได้รายงานให้นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยทราบ คำพูดแรกที่ได้รับ คือการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผมว่า ยังทำการบ้านเพื่อซักถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ดีพอ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะต้อนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนไปกับข้อมูล ส่วนนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยพูดกับผมก็คือ “ไม่เห็นมีอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล อสมท. จะต้องเข้าไปตรวจสอบเมื่อมีการปฎิบัติขัดแย้งกับนโยบาย"


การสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2552 ทางวิทยุ 100.5 อสมท.ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้คำตอบที่ชัดเจนทั้งเรื่องความไม่เป็นธรรม ปัญหาสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ที่กำลังเป็นปัญหาหนักหนา และร้ายแรงไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ และกำลังทำให้บ้านเมืองไทยวิกฤตอยู่ในขณะนี้

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนคาดไม่ถึง นั่นก็คือ บทบาทองค์กรวีชาชีพสื่อทั้งสองสมาคมคือ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

แม้จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั่วไปอยู่บ้างว่า สมาคมวิชาชีพทั้งสองนี้ สองมาตรฐาน หรือมาตรฐานเดียวคือ มาตรฐานที่ตั้งอยู่บนอคติ ไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง และไม่เป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่คิดเพียงว่า เป็นเพราะสภาพสังคมไทยอยู่ในสภาพแตกเป็นขั้ว แตกเป็นฝ่ายอย่างรุนแรง ประชาชนจึงอาจตั้งความหวังกับสมาคมวิชาชีพไว้สูงเกินไป


แต่คำวิพากษ์วิจารณ์นี้กลับเป็นจริงอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากที่ผู้เขียนถูกแทรกแซงการทำงานที่วิทยุ 100.5 อสมท. จนนำไปสู่การต้องตัดสินใจยุติการทำรายการในเวลาต่อมา

เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผู้เขียนได้รายงานเรื่องนี้ (ทางโทรศัพท์) ให้กับนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย คำพูดแรกที่ได้รับ คือการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้เขียนว่า ยังทำการบ้านเพื่อซักถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ดีพอ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะต้อนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนไปกับข้อมูล

ผู้เขียนเองก็ยอมรับ และพยายามกับอธิบายกลับไปว่า เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า รวมทั้งผู้เขียนเป็นนักข่าว ไม่ใช่ทนายความ ที่จะคาดคั้น กดดัน โดยการตั้งคำถามกับแหล่งข่าว จนทำให้แหล่งข่าวต้องไปจนอยู่ในมุมใดมุมหนึ่ง และยืนยันไปด้วยว่า ได้ตั้งคำถามที่รัฐบาล และคนไทยส่วนใหญ่มีข้อสงสัยและมีคำถามต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างครอบคลุมเป็นส่วนใหญ่แล้ว (อ่านคำถาม และคำตอบ คำต่อคำ ในเว็บไซต์ประชาไท )

อย่างไรก็ตาม ยังได้รับความกรุณาจากนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยที่ให้เขียนบันทึกขึ้นไป และได้อ่านบทความของนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมาในหนังสือพิมพ์มติชนที่ท้วงติงการแทรกแซงสื่อของรัฐบาล

ด้าน สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสได้พบกับนายกสมาคมฯ โดยบังเอิญในอีก 2 วันต่อมา สิ่งที่นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยพูดกับผู้เขียนก็คือ “ไม่เห็นมีอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล อสมท. จะต้องเข้าไปตรวจสอบเมื่อมีการปฎิบัติขัดแย้งกับนโยบาย (ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญก็ระบุชัดว่า ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 46 และทั้งสองสมาคมวิชาชีพ ก็หยิบประเด็นนี้มาเคลื่อนไหว เรียกร้องต่อรัฐบาลทุกครั้งเมื่อมีการแทรกแซงสื่อ)


ผู้เขียนก็แสดงความคิดเห็นไปว่า นั่นหมายความว่า สมาคมฯ จะเห็นเป็นเรื่องผิดปกติ ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการโยกย้าย หรือสับเปลี่ยนตำแหน่ง หรือสอบสวนเอาผิดกับผู้บริหารใน อสมท.ก่อน ถึงจะเป็นเรื่องผิดปกติในสายตาของนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์กระนั้นหรือ

นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศไทย มีท่าทียอมรับ ข้าพเจ้าก็ย้อนถามกลับไปว่า ข้าพเจ้าเป็นใคร ก็เป็นคนที่ทำงานข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ มานานกว่า 20 ปี และถูกแทรกแซงการปฎิบัติหน้าที่มาโดยตลอด (เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก) แต่ทำไม นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างนี้นี่เองที่เรียกว่า การเลือกปฎิบัติ หรือสองมาตรฐาน (หากเทียบกับกรณีของอดีตผู้อำนวยการ อสมท. คนล่าสุด หรือกรณีนักข่าวคนอื่น ที่มีปัญหากับรัฐบาลที่ผ่านมา สมาคมฯ จะออกมาเคลื่อนไหว และออกแถลงการณ์เกือบทันทีที่เกิดปัญหาขึ้น )

นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยก็บ่ายเบี่ยงไปว่า นายกสมาคมฯ คนเดียวตัดสินใจเองไม่ได้ แม้จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ต้องนำเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ก่อนเพื่อจะสรุปออกมาเป็นมติ ซึ่งตอนนี้ คณะกรรมการแต่ละคนก็ติดธุระไปต่างจังหวัดบ้าง ติดภาระงานกันอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามก็เป็นการถกเถียงกันด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร เพราะพวกเราก็ยังคงเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้องในวิชาชีพเดียวกัน

ผู้เขียนเองพยายามวิเคราะห์ และพิจารณาตัวเองว่า ตั้งแต่ปี 2528 ที่เริ่มเข้าสู่วิชาชีพสื่อสารมวลชน ได้ปฎิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติตนอย่างไร จึงถูกมองเหมือนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมวิชาชีพสื่อ อาจจะเป็นเพราะหลังจากที่ออกจากหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อปี 2539 แล้วเข้าสู่วงการโทรทัศน์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ได้กลายเป็นสื่อมวลชนของรัฐ แม้จะพักอาชีพไปชั่วคราวเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นเจ้าของ ไอทีวี. แต่เมื่อกลับมา ก็มาทำข่าวโทรทัศน์ของรัฐบาลอยู่ดี ซึ่งก็แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

หากแต่สมาคมวิชาชีพฯ ได้ใช้หัวใจที่เป็นธรรม พิจารณาการทำงานของผู้เขียนในช่วงการทำข่าวโทรทัศน์กับฝากรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (1 ปีก่อนรัฐประหาร) ผู้เขียนก็พยายามให้ความเป็นธรรม กับฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เช่น ในรายการ “คนวงใน” ผู้เขียนได้เดินทางไปสัมภาษณ์ บุคคลที่ฝ่ายกองบรรณาธิการข่าวไอทีวี.ขณะนั้นมองว่าอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับ เจ้าของไอทีวี. ไม่ว่าจะเป็น กษิต ภิรมย์ สุริยะใส กตะสิลา วิชา มหาคุณ สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ สมาคมสิทธิเสรีภาพ ฯลฯ หรือแม้แต่คุณเสริมสุข (ไม่ทราบนามสกุล) นักข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ( บก.ข่าวการเมืองทีวีไทยปัจจุบัน) ที่โดน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เล่นงาน เพราะเปิดโปงการทุจริตที่สนามบินสุวรรณภูมิ

จนผู้เขียนได้รับการตักเตือนด้วยคำพูดจากผู้บริหารสถานี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งที่ถูกเชิญไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านพิษณุโลก ร่วมกับคณะผู้บริหารไอทีวี.โดย พ.ต.ท.ทักษิณ พูดขึ้นบนโต๊ะอาหารว่า “รายการของคุณจอม ผมเห็นเอาคนที่พูดแบบแผ่นเสียงตกร่องมาออกอยู่บ่อย ๆ ผมไม่สนใจฟังหรอกคนพวกนั้น” ซึ่งก็แค่นั้น ไม่มีการมาขู่เข็ญ บังคับตามมาอีก

หากสมาคมวิชาชีพ จะพิจารณาอย่างเป็นธรรมและอยู่บนหลักการที่ถูกต้องแห่งวิชาชีพ เมื่อครั้งเกิดรัฐประหาร ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ คุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ แท็กซี่ที่สละชีวิต ขับรถเข้าชนรถถัง ต่อมาก็ได้ตัดสินใจผูกคอตายที่สะพานลอยหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้เขียนก็ถูกสั่งห้ามจาก คมช.สมัยนั้น ไม่ให้นำเสนอข่าวนี้อย่างเด็ดขาด มีคำสั่งทั้งโทรศัพท์เข้ามาเตือน และส่งทหารพร้อมอาวุธเข้ามาประจำการอยู่หน้าสถานีโทรทัศน์ไอทีวี.ตลอดจนหมดยุค คมช.

สมาคมวิชาชีพสื่อทั้งสองฯ ก็ยังคงมองเป็นเรื่องปกติ และดูเหมือนจะเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร โดยปล่อยให้มีการถูกแทรกแซง และยอมที่จะถูกลิดรอนเสรีภาพของสื่อเอง ทั้งๆ ที่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องในสิ่งเหล่านี้อย่างหนักหน่วง และเอาจริงเอาจังก่อนหน้านั้น

ไม่รวมเรื่องที่ผู้เขียนเดินทางไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีการปฎิวัติรัฐประหารไปอยู่เกาะฮ่องกง ทั้งๆ ที่ผลการเลือกตั้ง ( 23 ธันวาคม 2550 ) ออกมาแล้วว่า พรรคพลังประชาชนเป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล และเป็นที่รู้กันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือหัวหน้าพรรคตัวจริง ข้าพเจ้าจึงหวังจะทำหน้าที่ตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ นั่นคือ การสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีตัวจริง ที่ลี้ภัยอยู่ในเกาะฮ่องกง แต่สุดท้ายนอกจากการสัมภาษณ์ครั้งนั้นจะถูกระงับไม่ให้ออกอากาศแล้ว ผู้เขียนกลับได้รับคำประณามทั้งจากเพื่อนร่วมงาน และความไม่สนใจใยดีจากสมาคมวิชาชีพอีกเช่นกัน

และเมื่อพรรคพลังประชาชนขึ้นมาเป็นรัฐบาล คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี คุณสมัครก็ได้เชิญบรรดานักข่าว ไอทีวี. ที่ถูกลอยแพอย่างไร้ความปราณี ( เพราะถูกป้ายสีมาตลอดเวลาว่า เป็นนักข่าวไร้อุดมการณ์ รับใช้ระบอบทักษิณ ) มาทำงานข่าวที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ซึ่งได้เปลี่ยนเป็น เอ็นบีที. ผู้เขียนก็ได้ขอเข้าพบกับ คุณจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ว่า ขอทำหน้าที่อย่างมีอิสระและมีเสรีภาพ โดยไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เหมือนที่สังคมกำลังตั้งคำถาม ซึ่งก็ได้รับคำตอบเป็นที่พอใจว่า จะให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือจุดเด่นของคนไอทีวี. ที่ทำให้ ไอทีวี. เป็นที่ยอมรับของความเป็นสถานีข่าวจนถึงปัจจุบัน

แต่วันแรกของเปิดสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ผู้เขียนก็ถูกแทรกแซงการทำงานอย่างรุนแรงทั้งจากผู้บริหารสถานีฯ และจากบริษัทที่ว่าจ้างให้เข้าไปทำงาน โดยผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ “ถามจริงตอบตรง” ประสงค์ที่จะเชิญตัวแทนฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล มาพูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นปมปัญหาแห่งความขัดแย้งของฝ่ายการเมือง ( เดิมนั้น คุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นแขกในรายการ แต่ท่านป่วยไม่สามารถมาร่วมรายการได้)

แต่ผู้บริหารสถานีเห็นว่า ไม่เหมาะสม เพราะวันแรกของการเปิดสถานีที่เปลี่ยนโฉมใหม่ ควรให้รัฐบาลในฐานะผู้กำกับดูแลโทรทัศน์ช่องนี้มาออกอากาศ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ตลอดทั้งวันของการเปิดสถานี เอ็นบีที. รัฐบาลก็พูดฝ่ายเดียวมาตลอดทั้งวันแล้ว หลังจากถกเถียงกัน จนเกือบจะทำให้ผู้เขียนตัดสินใจยุติการทำหน้าที่อีกครั้ง แต่ก็มาลงเอยด้วยข้อต่อรองที่ว่า ให้ฝ่ายรัฐบาลมาออกรายการในวันแรกก่อน แล้ววันถัดไป ผู้เขียนขอเชิญ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน คือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นแขกในรายการ ซึ่งทางผู้บริหารสถานีก็ตกลงร่วมกันเช่นนั้น

เมื่อถึงวันที่จะออกอากาศหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน กลับเป็นว่า ออกอากาศไม่ได้ เพราะไม่มีเวลา ทั้งๆ ที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังเดินทางมาเข้ารายการ ต้องยกเลิกการออกอากาศกลางคัน ข้าพเจ้าต้องทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการ และเดินทางไปขอโทษกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านด้วยตัวเองที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนอกจากจะได้รับการต่อว่าจากปากของคุณอภิสิทธิ์ว่า “นักการเมือง เมื่อมาเป็นรัฐบาล ทำอะไรไม่เกรงใจประชาชน พยายามใช้อำนาจของตัวเอง ใช้สื่อของรัฐซึ่งเป็นสื่อของประชาชนด้วยเช่นกันมาเป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการเมือง” ถึงตอนนั้น นักข่าวหลายสำนัก ให้ความสนใจ ติดตามสอบถามมายังผู้เขียน ถึงการแทรกแซงสื่อของพรรคพลังประชาชนอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ โดยเฉพาะสำนักข่าวเนชั่น

และเมื่อพรรคพลังประชาชน จัดให้มีรายการ “ความจริงวันนี้” ทางเอ็นบีที. ผู้เขียนก็แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระถึงความไม่เหมาะสมของการเป็นทีวีของรัฐ แต่ฝ่ายการเมืองกลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการเมือง ซึ่งก็มีหลายสำนักข่าวอีกเช่นกัน ได้ให้ความสนใจ จนนำไปสู่การถอดรายการ “ถามจริงตอบตรง” ออกจากผังรายการ แต่ด้วยความปราณีที่ยังคงให้ผู้เขียนจัดรายการต่อไป แต่เปลี่ยนชื่อรายการเป็น “ทางออกสังคมไทย” และเตือนไม่ให้เล่นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองอีก ผู้เขียนต้องยอมจำนน เพราะไม่อยากให้เพื่อนร่วมงานนับสิบคนต้องมาตกงานจากตัดสินใจของผู้เขียนเพียงคนเดียว

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท และคณะบุคคลที่มีคนข่าวจากหลายสำนักร่วมขบวนการปฎิวัติช่อง 11 ให้กลายเป็น ‘หอยม่วง’ อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน โดยที่ผู้เขียนก็ถูกปรับเปลี่ยนสถานะเป็นเพียงผู้จัดรายการอิสระชั่วคราว
(จะอ้างว่าหมดสัญญาจ้างก็ตามที) แต่ถูกว่าจ้างจาก ศอบต.ให้ทำรายการเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ซึ่งเป็นการวางแผนและพูดคุยกันมาตั้งแต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนแล้ว

ดังนั้นจะเห็นว่า ตลอดการทำงานของผู้เขียน ไม่ว่ารัฐบาลยุคใดสมัยใด จะเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองไปอย่างไร แต่ผู้เขียนก็ยังยืนยันอยู่บนหลักการที่ถูกต้องของวิชาชีพไม่เคยเป็นเครื่องทางการเมือง หรือรับใช้การเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พยายามอย่างเต็มที่ (แม้จะเจ็บปวดกับความพยายามที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ตาม) ดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม การให้โอกาส และที่สำคัญคือสิทธิเสรีภาพของคนสื่อ

เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้เขียน ในฐานะที่เป็นคนข่าวคนหนึ่ง และในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย อยากจะเรียกร้องให้ สมาคมวิชาชีพสื่อ เป็นที่พึ่ง เป็นความหวัง เป็นองค์กรวิชาชีพที่ไม่เลือกข้าง ไม่ตัดสินใจแทนประชาชน กับความเห็นต่างทางการเมือง จนถูกมองว่า สมาคมวิชาชีพสื่ออคติกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง และขอให้สมาคมวิชาชีพสื่อ ยืนหยัดอยู่บนหลักการแห่งความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ และเคารพสิทธิมนุษยชนไว้ให้ได้อย่างมั่นคง

ไม่เฉพาะกับผู้เขียน แต่สำหรับประชาชนทั้งประเทศ ต่างก็รอความหวังว่า เมื่อไหร่ ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน หรือองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนทั้งหลาย ซึ่งได้รับเกียรติจากสังคมมาโดยตลอด จะได้ทำหน้าที่แก้วิกฤตของชาติ สร้างความปรองดอง และสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในชาติของเราเสียที