ที่มา ประชาไท
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่อนหนังสือถึงนายกฯ ให้งดประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ควบคุมการชุมนุมก่อนที่จะมีเหตุบ่งชี้เกิดความรุนแรง ระบุละเมิดสิทธิทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป แถมการใช้กำลังทหารเข้ามาคุมสถานการณ์เป็นการใช้คนไม่ตรงกับงาน ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของตำรวจ เตือนหากไม่เชื่อคำแนะนำอาจถูกมองไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย "อภิสิทธิ์" ไม่สนให้นำเรื่องเข้า ครม. วันที่15 ก.ย. นี้ ประกาศใช้กฎหมายคุมม็อบเสื้อแดงวันที่ 19 ก.ย.นี้แน่นอน อ้างเป็นการป้องกันมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์และคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
14 ก.ย.52 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง เพื่อพิจารณาคำร้องของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่ขอให้ตรวจสอบการพิจารณาประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ว่าหลังจากฟังคำชี้แจงจากนายจิตติชัย แสงทองผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักงานรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกองทัพบก ได้ข้อสรุปว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต้องมีปรากฏการณ์ที่ชัดเจนว่าจะกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งครั้งนี้ตัวแทนรัฐบาลยังไม่สามารถให้เหตุผลที่ชัดเจนต่อกรรมการสิทธิฯได้ การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯของรัฐบาลเพื่อรองรับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมาจึงไม่มีเหตุผลเหมาะสมที่ประกาศใช้ก่อน เพราะข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การประกาศใช้ไม่เพียงพอ และก่อนประกาศใช้ยังไม่มีสถานการณ์ประจักษ์ชัดว่าจะเกิดความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
"การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯจึงไม่เหมาะสม เพราะยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ใช้ควบคุมดูแลผู้ชุมนุมได้ ซึ่งมีตั้งแต่เบาไปถึงหนัก ที่สำคัญใน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีข้อกำหนดชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีอีก 1 คนสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯได้ภายใน 1 ชั่วโมง หากเห็นว่าสถานการณ์มีแนวโน้มเกิดความรุนแรง ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้อำนาจไว้ รัฐบาลจึงควรให้สถานการณ์เป็นตัวกำหนดในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะการประกาศใช้ก่อน ไม่เพียงกระทบสิทธิผู้ชุมนุม ยังกระทบต่อสิทธิของคนทั่วไปด้วย
กรรมการสิทธิฯกล่าวอีกว่า การใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) โดยตำแหน่ง แต่รอง ผอ. คือผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รวมถึงเสนาธิการทหารบก เพราะต้องใช้ทหารเข้ามาปฏิบัติ ทั้งที่ทหารควรเข้ามาเมื่อมีเหตุกระทบต่อความมั่นคงเท่านั้น เรื่องนี้จึงเป็นการใช้คนไม่ถูกกับงาน การควบคุมการชุมนุมตำรวจสามารถทำหน้าที่นี้ได้ การจะสลายหรือจับกุมก็อยู่ในอำนาจตำรวจที่จะทำ
"การกระทำของรัฐบาลอาจถูกมองว่าไม่มีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยและส่งเสริมการชุมนุม ไม่สอดคล้องกับกฎหมายในเรื่องสิทธิการชุมนุม ดังนั้น ทางกรรมการสิทธิฯจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งในวันที่ 19 ก.ย. ที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการชุมนุม หากไม่มีเหตุเหมาะสมรัฐบาลก็ไม่ควรประกาศใช้ โดยรัฐบาลสามารถแจ้งล่วงหน้าว่าหากมีเหตุรุนแรงจึงจะประกาศใช้ และหากที่สุดแล้วไม่มีการประกาศใช้ ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด" กรรมการสิทธิฯกล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุม ครม. ในวันที่ 15 ก.ย. นี้จะพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะมีการดูเรื่องเวลาและพื้นที่และสรุปกันอีกครั้ง ทั้งนี้นายสุเทพจะทำหน้าที่ผู้อำนวยการดูแลเรื่องการชุมนุม
"ที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯก็มีประโยชน์กับผู้ชุมนุมเอง เพราะจะมีการตรวจค้นอาวุธ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน" นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลประกาศเป็นที่เข้าใจดีอยู่แล้วว่าเป็นข้อกฎหมายที่มีไว้ใช้สำหรับสถานการณ์ที่ปรกติ ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์แล้วถึงจะประกาศใช้ แต่ใช้เพื่อป้องกันและดูแลให้เข้มข้นมากขึ้น และการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลไม่ได้ประกาศใช้บ่อยครั้ง จะใช้เฉพาะเหตุการณ์ที่มีการประชุมสำคัญๆ เท่านั้น ที่สำคัญการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯจะทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจมากขึ้น เพราะเวลาใช้กฎหมายจะมีความคุ้มครองเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้น แนวทางการปฏิบัติงานของรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือเกิดความรุนแรง ถ้าทางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายก็จะได้รับความคุ้มครอง และอำนาจพิเศษตามกฎหมายก็จะได้รับความคุ้มครองชัดเจน
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯหรือไม่ เพราะต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อนว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่
"พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเป็นกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงและให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ แต่ตอนนี้ยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบจำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. นี้อย่างแน่ชัด ขณะนี้ทุกอย่างเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้ชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายระบุไว้ชัดแล้วว่า สามารถทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวและว่า ขณะนี้งานด้านการข่าวยังไม่พบสิ่งปรกติ และไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรง
...................................................................
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้