ที่มา Thai E-News
ใครที่ชอบวิจารณ์ “ความรุนแรง” ควรจะวิจารณ์ความรุนแรงของทหารและอำมาตย์เป็นหลัก ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ถือว่าใช้สองมาตรฐาน และนอกจากนี้ควรจะตั้งคำถามและตอบคำถามว่าเมื่อคนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ เขามีทางเลือกอื่นหรือไม่?
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
14 กันยายน 2552
เวลาเราพิจารณาแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีเราจะต้องคำนึงถึงประเด็นปัญหา 3 อย่างคือ
1. แนวทางสันติวิธีมีประสิทธิภาพในการสร้างประชาธิปไตยและเสรีภาพแค่ไหน? และหลีกเลี่ยงเหตุการนองเลือดได้จริงหรือ?
2. คนในสังคม นักวิชาการ สื่อกระแสหลัก และคนทั่วไป นิยามสันติวิธีอย่างไรบ้าง?
3. คนกลุ่มไหนในสังคมเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงมาตลอดและอย่างเป็นระบบ?
ประสิทธิภาพของสันติวิธี
มหาตมะ คานธี ขึ้นชื่อว่าเป็นศาสดาแห่งสันติวิธี เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาจริงใจที่จะใช้แนวทางนี้ และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขามีบทบาทในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ
อย่างไรก็ตามแนวทางของ มหาตมะ คานธี ไม่ได้หลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะในการก่อตั้งประเทศอินเดียและปากีสถานเป็นประเทศอิสระจากอังกฤษ มีการฆ่าฟันกันทั่วทวีประหว่างคนมุสลิมและคนฮินดู มีคนล้มตายหลายหลายแสน และมีคนที่ต้องอพยพหนีความรุนแรงเป็นล้านๆ
ปัญหาสำคัญของแนวทาง มหาตมะ คานธี คือเขามักจะคัดค้านการต่อสู้ของมวลชน การนัดหยุดงาน และการกบฏของทหารต่ออังกฤษ
ดังนั้นเวลามีการต่อสู้ของมวลชน คานธี จะเรียกร้องให้มวลชนสงบนิ่งกลับบ้านเพื่อให้ตัวเขาเองเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ต่อไปด้วยการอดอาหาร
การต่อสู้ของมวลชนในอินเดียก่อนที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษมักจะเป็นการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมพร้อมๆ กับเสรีภาพ และที่สำคัญที่สุดมันเป็นการต่อสู้ที่จำเป็นต้องสามัคคีคนยากคนจนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดูหรือศาสนาอื่น
แต่เมื่อมวลชนถูกสลาย นิ่งเฉยอยู่บ้าน ฝ่ายนักการเมืองที่อยากจะปลุกระดมความเกลียดชังทางศาสนา ก็จะมีช่องทางเพื่อไปขยายความคิดที่นำไปสู่ความแตกแยกได้ เพราะคนที่นั่งเฉยอยู่บ้านอาจจะยอมเชื่อว่าความเลวร้ายต่างๆในชีวิตเขามาจากการกระทำของคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างจากตัวเอง
แต่คนที่ร่วมสู้กับเพื่อนหลากหลายศาสนาจะไม่มีวันเชื่อการเป่าหูแบบนี้ ความแตกแยกระหว่างคนฮินดูกับคนมุสลิม และการฆ่าฟันกัน เกิดขึ้นเป็นระยะๆจนถึงทุกวันนี้ แต่มันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่คนมุสลิม และคนฮินดูจะเกลียดชังกัน ในประวัติศาสตร์มีช่วงที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติมานาน ความแตกแยกที่เกิดขึ้นมาจากการปลุกระดมของนักการเมืองแนวศาสนาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สิ่งที่ค้านแนวความคิดนี้ได้เป็นแนวคิดที่สามัคคีคนจนเพื่อต่อสู้กับคนชั้นบนที่กดขี่ขูดรีดคนจนเสมอ
แต่ มหาตมะ คานธี มีความใกล้ชิดกับนายทุนใหญ่และชนชั้นสูงในอินเดีย เขาไม่อยากให้มีการต่อสู้ในเชิงชนชั้น มหาตมะ คานธี ไม่ได้ปลดแอกอินเดียคนเดียว การปลดแอกอินเดียมาจากการต่อสู้ของคนจำนวนมากทั้งในและนอกพรรคคองเกรส การอ้างว่า มหาตมะ คานธี สามารถปลดแอกอินเดียได้คนเดียวเป็นการพูดเกินเหตุ และไม่ได้เป็นการพิจารณาบริบทการเมืองระหว่างประเทศในยุคนั้นอีกด้วย
ประเทศปากีสถานเป็นประเทศที่ก่อตั้งในยุคเดียวกับที่อินเดียได้รับเอกราชคือในปี 1947 ประเทศนี้เป็นผลจากการปลุกระดมของนักการเมืองแนวศาสนา ปากีสถาน จึงประกาศตัวว่าเป็น “ประเทศมุสลิมบริสุทธิ์” ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามหาศาลกับครอบครัวชาวฮินดูจำนวนมากที่อาศัยในพื้นที่ประเทศใหม่นี้
ปากีสถานเองเป็นประเทศที่ตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันอยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมอเมริกา ประชาชนปากีสถานอาจจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ไม่เคยได้รับสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
อีกคนหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าต่อสู้แบบสันติวิธีคือ นางอองซาน ซูจี และเขาได้ใช้วิธีคล้ายๆ มหาตมะ คานธี คือ เมื่อมวลชนออกมาสู้เป็นจำนวนมาก เช่นในเหตุการณ์ 8-8-88 อองซาน ซูจี จะชักชวนให้ประชาชนกลับบ้านอย่างสงบ เพื่อให้ตัวเขาคนเดียวเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเพื่อให้ประชาชนตั้งความหวังกับการเลือกตั้ง และไว้ใจนายพลที่ปกครองประเทศอยู่ ทั้งๆที่นางอองซาน ซูจี เป็นคนที่กล้าหาญและจริงใจ แต่การต่อสู้ของเขายังไม่ประสบผลสำเร็จ และยังไม่สามารถทำให้มีการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นเป็นประจำได้
เราจะเห็นได้ว่าแนวทางสันติวิธีไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดได้ ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นการต่อสู้ในรูปแบบที่เชิดชูสัญลักษณ์ของบุคคลคนหนึ่งโดยหันหลังกับบทบาทมวลชนจำนวนมาก ซึ่งไม่แตกต่างจากการหันหลังให้กับบทบาทมวลชน โดยพวกที่เน้นการสร้างกองกำลังติดอาวุธ
นิยามของสันติวิธี
การนิยามว่าอะไรเป็นการต่อสู้แบบ “สันติ” และการต่อสู้แบบ “รุนแรง” มีการนิยามที่แตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับอคติและจุดยืน ตัวอย่างที่ดีคือ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่ขึ้นชื่อว่าศึกษาและเลื่อมใสในแนวทางสันติวิธี หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา นักวิชาการคนนี้ได้ประกาศว่ารัฐประหารดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่า “เป็นสันติวิธี” !!
เหมือนกับว่าการนำรถถังแ ละทหารติดปืนออกมาบนท้องถนนไม่ได้เป็นการข่มขู่ที่จะใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด คำพูดของ ชัยวัฒน์ ในกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าบ่อยครั้งนักสันติวิธีใช้สองมาตรฐาน และแม้แต่นักสันติวิธีที่ซื่อสัตย์และจริงใจก็มักจะมีเส้นแบ่งว่าจะใช้สันติวิธีในกรณีใดและพร้อมจะใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ คนที่นับถือพุทธอาจไม่อยากฆ่าคน แต่อาจเห็นด้วยกับโทษประหาร เป็นต้น
ถ้าเราพิจารณาสื่อกระแสหลัก เราจะเห็นว่าพวกนี้มักจะนิยมว่าคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือแค่พูดในแนวที่ตรงข้ามกับชนชั้นปกครอง จะถูกนิยามว่าเป็นพวก “หัวรุนแรง” ทั้งๆที่เขาไม่ได้จับอาวุธหรือก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด
ในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ที่มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่กบฏต่อรัฐไทยกับทหาร สื่อกระแสหลักมักจะมองว่าผู้ใช้ความรุนแรงมีฝ่ายเดียวคือฝ่ายกบฏ ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาการนิยมสันติวิธีอย่างละเอียด
เราทราบดีว่าพวกเสื้อเหลืองพันธมารฯ ก็มีการโกหกอ้างตัวว่าใช้วิธีแบบสันติ ทั้งๆที่มีกองกำลัง มีการใช้ระเบิดและมีการทำร้ายร่างกายของฝ่ายตรงข้าม จำลอง ศรีเมือง ผู้นำคนหนึ่งของพันธมารฯ ที่ประกาศตัวว่าใช้แนวสันติวิธีในการต่อสู้กับเผด็จการทหารในเหตุการพฤษภาคม 2535 อาจจะใช้แนวทางสันติในกรณีปี 2535 แต่ในช่วงที่เข้าร่วมกับพันธมารฯ หลายคนคาดว่ามีส่วนในการฝึกกองกำลังของอันธพาลพวกนี้
นอกจากนี้ จำลอง ศรีเมือง เป็นคนที่ก่อความรุนแรงต่อสตรีไทยในทางอ้อม เพราะคัดค้านสิทธิที่จะเลือกทำแท้งของผู้หญิงไทย ซึ่งบังคับให้สตรีจำนวนมากต้องไปเสี่ยงทำแท้งในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย นี่คืออีกตัวอย่างของสองมาตรฐาน
ใครใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างเป็นระบบ?
คำตอบสั้นๆคือ “ทหาร” ทหารไม่ได้มีไว้เพื่อไถนา เพื่อเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หรือเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์งดงามในบ้านเมืองของเรา ทหารมีไว้เพื่อฆ่าคน และการฆ่าคนหรือการขู่ว่าจะฆ่าคนเป็นความรุนแรง หลายคนในสังคมต่างๆ อาจจะมองว่าการฆ่าคนต่างชาติในสงครามเป็นความรุนแรงที่ยอมรับได้ แต่ทหารไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการฆ่าประชาชนคนไทยเพื่อที่จะปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ
ใน 3 จังหวัดภาคใต้ทหารเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่การยึดพื้นที่ของอาณาจักรปัตตานีมาเป็นของกรุงเทพฯ ดังนั้นถ้าเราจะคัดค้านการใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างจริงจังและปราศจากสองมาตรฐานเราจำเป็นต้องเริ่มด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกกองทัพ ซึ่งคงจะมีประโยชน์ในเรื่องประชาธิปไตยอีกด้วย
การใช้ความรุนแรงของทหารและอำมาตย์เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมของคนกลุ่มน้อย มันเป็นการปกป้องระบบเผด็จการเพื่อไม่ให้เกิดประชาธิปไตย ดังนั้นความรุนแรงของทหารมีเป้าหมายอันไม่ชอบธรรมที่ขัดกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ในกรณีที่มีคนจับอาวุธสู้กับเผด็จการไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือในประเทศต่างๆ ของตะวันออกกลาง ความรุนแรงดังกล่าวเป็นไปเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เป้าหมายจึงมีความชอบธรรม แต่มันก็ยังเป็นความรุนแรงอยู่ดี
ใครที่ชอบวิจารณ์ “ความรุนแรง” ควรจะวิจารณ์ความรุนแรงของทหารและอำมาตย์เป็นหลัก ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ถือว่าใช้สองมาตรฐาน และนอกจากนี้ควรจะตั้งคำถามและตอบคำถามว่าเมื่อคนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ เขามีทางเลือกอื่นหรือไม่? และเรามีส่วนในการช่วยให้เขามีทางเลือกอื่นหรือไม่?
คนที่ถูกกดขี่ขูดรีดด้วยกำลังทหารที่ใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ย่อมมี “สิทธิ์” ที่จะจับอาวุธลุกขึ้นสู้และกบฏ แต่แนวทางนั้นจะเป็นแนวทางที่ฉลาดและนำไปสู่ประชาธิปไตยแท้จริงหรือไม่นั่นคือประเด็นใหญ่
ในความเห็นผมแนวทางจับอาวุธสู้กับอำมาตย์ไม่ใช่แนวทางที่ฉลาดของเสื้อแดง อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความอื่น แนวทางปฏิวัติสังคมโดยมวลชน เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจับอาวุธ
หรือการอ้างแบบลอยๆถึงแนวสันติวิธี
--
อ่านบทความเกี่ยวเนื่องของ ใจ อึ๊งภากรณ์ :การสร้างกองกำลังติดอาวุธไม่ใช่ทางออกของคนเสื้อแดง
http://siamrd.blog.co.uk/
http://redsiam.wordpress.com/
http://wdpress.blog.co.uk/