ที่มา ประชาไท
เพื่อไทย
Thursday, July 8, 2010
รายงาน: 1 ปี 10 เดือนในเรือนจำของ ‘บุญยืน’ อดีตนักโทษคดีหมิ่นเบื้องสูง
บุญยืน ประเสริฐยิ่ง อดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้อหาอันหนักหน่วงสำหรับสังคมไทย เพิ่งได้รับอภัยโทษ ออกจาก “คุก” พร้อมๆ กับเพื่อนนักโทษจำนวนหนึ่ง รวมถึง ‘สุวิชา ท่าค้อ’ ในโอกาสวันฉัตรมงคลที่ผ่านมา
เธอไม่เปลี่ยนไปมากนักเทียบกับครั้งยังอยู่ในเรือนจำ ดูเหมือนสุขภาพจะไม่ดีนักและยังเดินกระโผลกกระเผลกจากอุบัติเหตุถูกรถมอเตอร์ไซด์ชนเมื่อครั้งเก่าก่อน แต่แววตายังเต็มเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น เรานัดสัมภาษณ์เธอในวันหนึ่งของเดือนมิถุนายน เธอใส่เสื้อสีชมพูมีตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติเฉกเช่นเดียวกับคนอื่นในสังคม เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
เธอบอกเล่าว่า ด้วยแนวคิดที่ไม่ต้องการให้ใครแอบอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองนั่นเองที่ทำให้เธอโดนจับกุม เพราะเธอได้ปราศรัยโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อย่างรุนแรง และได้พาดพิงถึงสถาบันในบางแง่มุมโดยไม่ได้ตั้งใจ ท่ามกลางคนฟังไม่กี่สิบคนที่ท้องสนามหลวง ก่อนที่การเมืองไทยจะเป็นการเมืองกีฬาสีเสียอีก สำหรับโทษทัณฑ์ต่อกรณีดังกล่าวคือ จำคุก 12 ปี รับสารภาพลดกึ่งหนึ่งเหลือ 6 ปี
บุญยืน ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ในข้อหาหมิ่นรัชทายาท บรรยากาศสังคมตอนนั้นยังเต็มไปด้วยการต่อต้านการรัฐประหารจากผู้คนกลุ่มเล็กๆ หลากหลายกลุ่มโดยอาศัยพื้นที่ “สนามหลวง” ด้วยบุคลิกตรงไปตรงมา โผงผาง กล้าได้กล้าเสีย เธอจึงเป็นหนึ่งในดาวเด่นสนามหลวง โดยมีสมญานามว่า ‘นางพญาอินทรีย์’
ดีกรีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อ 2-3 ก่อน เป็นภาพที่บุญยืนถูกโจมตีในอินเตอร์เน็ต
เธอเล่าถึงประวัติความคิด และการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองว่าติดตามการเมืองในระดับเดียวกับคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปในสังคม ไม่เคยร่วมเหตุการณ์ทางการเมืองใดๆ แต่เมื่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เธอชื่นชอบในแนวทางการบริหารและนโยบายถูกรัฐประหารโดยคมช. เธอจึงได้ออกมาร่วมชุมนุมสนับสนุนอดีตนายกฯ และต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในขณะนั้น สรุปให้ง่ายได้ใจความ เธอเห็นว่า ยุคของทักษิณเป็นยุคที่คนจนลืมตาอ้าปากได้ และคนจนอีกเช่นกันได้ลงคะแนนเสียงของพวกเขาเลือกรัฐบาลนี้ไปแล้วตามกกติกา
ในเรื่องส่วนตัว แม้จะพยายามไถ่ถามหลายครั้ง แต่เราก็ไม่ได้ข้อมูลมากนัก เพราะเมื่อพูดเรื่องส่วนตัวได้ไม่นาน เธอก็จะวกมาพูดเรื่องคนอื่น หรือเรื่องเหตุบ้านการเมืองตลอดเวลา เท่าที่รับรู้ คือ เธอเติบโตในกรุงเทพฯ เป็นเด็กบ้านแตกที่ดิ้นรนปากกัดตีนถีบ และอาศัยเรียน กศน. จนจบม.3 ปัจจุบันมีลูก 2 คนซึ่งดูแลตัวเองได้แล้ว ช่วงหลายปีมานี้เธอมีอาชีพรับซื้อของเก่า อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่หัวเรือใหญ่ของครอบครัวอยู่ในเรือนจำ เราได้ข่าวมาว่าสถานะทางบ้านเธอง่อนแง่นลงไปถนัดตา หลายอย่างที่ผ่อนไว้ถูกยึด แต่เมื่อออกมาข้างนอกเธอกลับไม่ยอมบอกกล่าวถึงความยากลำบากส่วนตัวมากนัก หากเอาแต่ถามไถ่ถึงโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
บุญยืน เป็นนักโทษที่ปฏิบัติตัวอย่างดียิ่งในเรือนจำ ทุกครั้งที่ไปเยี่ยม เธอมักกล่าวถึงผู้คุมอย่างเคารพและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางสู้คดี เธอเลือกทางเดินที่แตกต่างจาก ‘ดา ตอร์ปิโด’ นักโทษหญิงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกคนหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่คนหนึ่งไม่ยอมรับข้อกล่าวหา ต่อสู้คดีและถูกตัดสินจำคุก 18 ปี และยังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน แต่บุญยืนรับสารภาพและยืนยันถึงความจงรักภักดี แม้ว่าในตอนนั้นจะมีผู้ให้กำลังใจจากภายนอกบางส่วนที่เอาใจช่วยให้เธอสู้คดีนี้ก็ตาม
เวลา 1 ปี 10 เดือน ในเรือนจำทำให้เธอได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ มากมายผ่านชีวิตของนักโทษคนอื่น ซึ่งล้วนเป็นเรื่องอัศจรรย์พันลึก ขณะเดียวกันก็ชวนรันทดหดหู่ จนเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเขียนหนังสือรวบรวมประสบการณ์เหล่านั้น กระทั่งถึงการวางแผนเดินสายเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมาย ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมบางอย่างที่กดทับ รังแก ประชาชนตัวเล็กๆ ไร้ทางสู้
เธอตั้งใจจะเขียนหนังสือถึง 2 เล่ม ว่าด้วยชีวิตความลำเค็ญของคนคุก ที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่างในสังคม ชีวิตพวกเขาพอจะเรียกได้ว่า “บัดซบ” ตั้งแต่อยู่นอกคุกจนกระทั่งถึงวันเข้าไปนอนในซังเต อีกเล่มหนึ่งคือ ปัญหาของข้อกฎหมายไทย และกระบวนการจับกุมตัวผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับยาเสพติด กลั่นจากประสบการณ์ตรงมาเป็นคำบอกเล่า ซึ่งพิสูจน์แล้ว (ด้วยเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง) ว่ามากมายและเร้าใจ ราวกับเธอเป็นนักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน หรือนักวิจัยที่เข้าไปเก็บข้อมูลแบบลึกถึงก้นบึ้ง
หากสนใจโปรดรอติดตามผลงานของเธอ แน่ล่ะ เธอยังคิดชื่อหนังสือไม่ออก และคงอยากให้คนอื่นๆ ช่วยคิดด้วย